posttoday

เตือนหนี้ท่วมอาเซียน "ลาว"กู้สูงสุดเหตุโครงการสร้างรถไฟจีน

17 กรกฎาคม 2561

6 ชาติอาเซียนเสี่ยงเจอปัญหาหนี้ท่วม กูรูชี้สงครามการค้าเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจร่วงซ้ำ

6 ชาติอาเซียนเสี่ยงเจอปัญหาหนี้ท่วม กูรูชี้สงครามการค้าเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจร่วงซ้ำ

ไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานว่า 6 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงลาว มาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย มียอดหนี้สูงมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมียอดหนี้เฉลี่ย 26% ของรายได้มวลรวมประเทศ โดยเฉพาะลาวมียอดหนี้สูงกว่ารายได้มวลรวมถึง 93.1% สูงสุดในภูมิภาค ตามมาด้วยมาเลเซีย กัมพูชา และเวียดนาม

รายงานระบุว่า หนี้ของลาวเพิ่มขึ้นเพราะโครงการโครงสร้างพื้นฐานภายใต้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของรัฐบาลจีน เช่น โครงการรถไฟเชื่อมเมืองคุนหมิง ทางตอนใต้ของจีน กับกรุงเวียงจันทน์ ซึ่งคาดว่ามีค่าใช้จ่ายราว 5,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.93 ล้านล้านบาท) หรือเกือบ 40% ของจีดีพี

ขณะที่มาเลเซียมียอดหนี้สูงกว่ารายได้มวลรวม 69.6% ทำให้นายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด ต้องทบทวนโครงการรถไฟหลายโครงการที่ได้รับการอนุมัติในรัฐบาลของ นาจิบ ราซัค

นอกจากนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) รายงานว่า 6 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนมียอดกู้จากต่างชาติเพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกัมพูชากู้เงินต่างชาติเพิ่มถึง 142% ส่งผลให้ยอดหนี้สูงกว่ารายได้มวลรวม 54.4%

อย่างไรก็ดี รายงานระบุว่า สถานการณ์หนี้ของไทยและเวียดนามยังไม่น่าวิตกเท่ากับชาติอื่น เนื่องจากมีเงินทุนสำรองต่างชาติสูงกว่าหนี้ระยะสั้นจากต่างชาติ 6.1 เท่า

ด้าน ทามารา เฮนเดอร์สัน นักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ คาดการณ์ว่าหากสงครามการค้ารุนแรงขึ้น เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมนอกเหนือจากปัญหาหนี้สิน โดยล่าสุดนั้นความเสี่ยงจากสงครามการค้าคาดว่าจะกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของประเทศอาเซียน

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน เปิดเผยว่า จีดีพีของจีนในไตรมาส 2 ปีนี้ เติบโต 6.7% นับว่าเป็นการเติบโตช้าที่สุดตั้งแต่ปี 2016 ถือเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าสงครามการค้ากำลังฉุดเศรษฐกิจภูมิภาคนี้

ล่าสุด โดนัลด์ ทุสค์ ประธานคณะกรรมาธิการสภายุโรป (อีซี) เตือนว่า สหรัฐ จีน และรัสเซีย ควรเลี่ยงสงครามการค้า พร้อมเรียกร้องให้ร่วมกันปฏิรูปองค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) แทนการทำสงครามการค้าใส่กัน

ภาพ เอเอฟพี