posttoday

ทายาทของคอนสแตนติน ฟอลคอน

29 มีนาคม 2561

เผยประวัติศาสตร์ทายาทสายตรงของฟอลคอล และ มารี กีมาร์

เผยประวัติศาสตร์ทายาทสายตรงของฟอลคอล และ มารี กีมาร์

จากกระแสนิยมของละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ทำให้สาธารณชนหันมาสนใจประวัติศาสตร์กันอย่างกว้างขวาง และมีประเด็นหนึ่งที่อยู่ในความสนใจไม่น้อย คือ ชะตากรรมของคอนสแตนติน ฟอลคอน หรือเจ้าพระยาวิชเยนทร์

ล่าสุด เพจกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา โดยหนุ่มรัตนะและอชิรวิชญ์ ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับทายาทของคอนสแตนติน ฟอลคอน ซึ่งปรากฏใน Journal of the Siam Society Vol. 11.2 1914-15 เรื่อง An Early British Merchant in Bangkok (พ่อค้าอังกฤษคนแรกในกรุงรัตนโกสินทร์) โดย Adey R. Moore และเผยแพร่โดยกรมศิลปากร เนื้อหามีดังนี้

คอนสแตนติน ฟอลคอน แต่งงานกับ ท้าวทองกีบม้า ทั้งคู่มีบุตรชายด้วยกัน ๑ คน ซึ่งเมื่อบุตรชายท่านนี้ได้เติบโตได้รับราชการในแผ่นดินสยามในตำแหน่งทูต และถูกส่งไปยังเมืองท่าของฝรั่งเศส คือเมืองปอนดิเชอรี เป็นเมืองอยู่แถวชายฝั่งโคโรแมนเดล ประเทศอินเดีย บุตรชายท่านนี้ได้แต่งงานกับสตรีเชื้อสายโปรตุเกส และมีทายาทเป็นหญิงหลายคนและหนึ่งในนั้นเป็นชาย ชื่อ จอห์น

จอห์น (รุ่นหลานของฟอลคอน) ได้สืบพบว่าได้ถูกจับตัวกวาดต้อนเป็นเชลยไปยังพม่าด้วยเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ แต่ว่าจอห์นได้หลบหนีกลับมาสยามได้อีกหลังจากนั้นใน ๒-๓ ปีต่อมา จอห์นได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่แถวย่านวัดซางตาครูส ซึ่งเป็นเชื้อสายของแม่จอห์นนั่นเอง

หลานสาวคนหนึ่งของฟอลคอนตกเป็นเชลยพม่าเช่นเดียวกัน แต่ถูกนำตัวไปเมืองมะริด และได้พบรักกับ ฌอง ชี มีตำแหน่งยศร้อยเอกชาวโปรตุเกสรับราชการที่พม่า เป็นชาวคาทอลิกที่อพยพมาจากมาเก๊า และได้แต่งงานกันที่มะริดใน พ.ศ. ๒๓๑๑ และมีทายาทเป็นบุตรสาวชื่อ “ฟิลิปปา” (ยังมีชีวิตอยู่จนถึง พ.ศ. ๒๔๐๔) และแต่งงานกับ ตาเวียน และได้อพยพมาอยู่ย่านซางตาครูสในกรุงสยาม

ฟิลิปปาและตาเวียน ให้กำเนิดทายาท คือ แองเจลินา ทรัพย์ (เกิด พ.ศ. ๒๓๔๘) แต่งงานกับ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ (นายหันแตร) ใน พ.ศ. ๒๓๖๘ มีทายาท คือ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ที่ ๒

ว่ากันว่านางแองเจลินา ทรัพย์นั้นมีผิวขาวสวย มีดวงตาเหมือนควีนวิคตอเรีย มีมารยาทงดงามเพราะได้รับการอบรมมาอย่างดีด้วย เพราะว่าในช่วงวัยเด็กได้ใช้ชีวิตอยู่วังหลัง ซึ่งยังปรากฏภาพของนางทรัพย์ในหนังสือของบาทหลวงปาเลอกัวซ์

โรเบิร์ต ฮันเตอร์ที่ ๒ ชื่อเดียวกับบิดาเกิดใน พ.ศ. ๒๓๗๐ ถูกส่งไปเรียนต่อที่สกอตแลนด์และได้กลับมาทำงานในเมืองไทย โดยบิดาได้สร้างอาคารให้เขาริมคลองย่านซางตาครูส ซึ่งอยู่เหนือโรงสินค้าหน้าบ้านนางทรัพย์นั่นเอง โรเบิร์ต ฮันเตอร์ที่ ๒ได้แต่งงานกับนางสาวโรซา รีไบโร เดอ อัลแวร์การีอัส น้อย (เป็นบุตรสาวของพระยาวิเศษสงคราม เป็นคาทอลิก) เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๒ ในบันทึกของจอห์น คอรเฟิต บรรยายว่า “ในตอนบ่ายได้พบกับพระยาวิเศษสงคราม (ปาสกัลป์ รีไบโร เดอ อัลแวร์การีอัส) เป็นลูกหลานชาวคริสเตียนชาวโปรตุเกสในกัมพูชา ความสามารถของเขาโดดเด่น เนื่องจากไม่เพียงเขียนภาษาไทย เขมร และโปรตุเกสได้คล่องแล้ว ยังสามารถพูดและเขียนภาษาละตินได้อย่างถูกต้อง เขาได้แต่งงานกับลูกหลานที่สืบเชื้อสายจากชาวอังกฤษที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานในกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. ๒๒๔๔ พระยาวิเศษสงครามเป็นลูกหลานของชาวเขมร จึงมีบ้านช่องอยู่ที่บ้านเขมรสามเสน”

โรเบิร์ต ฮันเตอร์ที่ ๒ เข้ารับราชการในสยามจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงสุรสาคร” ซึ่งรับผิดชอบหน่วยงานด้านกรมท่า ในคราวท่านเซอร์ จอห์น บาวริ่ง นำเรือแรตเลอร์ เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงสยาม ในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น โรเบิร์ต ฮันเตอร์ที่ ๒ ได้ขึ้นไปบนเรือนี้ด้วย โดยท่านเซอร์บรรยายว่า “เท่าที่เห็น มิสเตอร์ฮันเตอร์ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ดูแลในการต้อนรับข้าพเจ้า”

โรเบิร์ต ฮันเตอร์ที่ ๒ จดทะเบียนเป็นคนบังคับในสัญชาติอังกฤษเมื่อ ๒๐ มิถุนายน ๒๓๙๙ และถึงแก่กรรมโดยกะทันหันด้วยวัยเพียง ๓๘ เมื่อ ๑๙ เมษายน ๒๔๐๘ ที่บ้านซางตาครูสใกล้บ้านมารดาของเขา โรเบิร์ต ฮันเตอร์ที่ ๒ มีทายาท ๒ คน คือ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ที่ ๓ (๒๓๙๔-๒๔๓๒) และจอห์น (๒๓๙๖-๒๔๓๔) ทั้งคู่ไม่มีทายาท

น้องสาวต่างมารดาของ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ที่ ๓ ชื่อ โนรี เป็นสาวงามอีกคนหนึ่งได้สมรสกับ เบนจามิน บิง มีลูกหลานสืบต่อกันมาและรับราชการในกองทัพบกด้วย โดยเบนจามิน บิงนั้นเป็นพี่น้องกับหลวงอัคนีนฤมิตร (ฟรานซิส จิตร) ผู้โดดเด่นเรื่องการถ่ายรูปยุคแรกของสยาม

หากถึงปัจจุบันนี้ ชุมชมย่านวัดซางตาครูสยังคงอยู่ ก็คาดว่าจะมีทายาทของคอนสแตนติน ฟอลคอน สืบสายอยู่แน่นอน

ภาพ : ภาพลายเส้นคอนสแตนติน ฟอลคอน และนางแองเจลินา ทรัพย์