posttoday

มณีพฤกษ์ นึกถึงเกอิชา

25 พฤศจิกายน 2560

ยามแรกที่ได้ยินว่าที่นี่มี "เกอิชา" ในใจไม่คิดว่าจะเจอสาวญี่ปุ่นสวมชุดกิโมโน แต่มโนถึงหญิงงามเมืองน่านหน้าตาสะสวยรวยเสน่ห์

 โดย/ภาพ : กาญจน์ อายุ

ยามแรกที่ได้ยินว่าที่นี่มี "เกอิชา" ในใจไม่คิดว่าจะเจอสาวญี่ปุ่นสวมชุดกิโมโน แต่มโนถึงหญิงงามเมืองน่านหน้าตาสะสวยรวยเสน่ห์ ซึ่งเมื่อได้ไปเหล่ด้วยตาถึงรู้ว่า เธอยังหอมและน่าลิ้มลอง

 เรื่องเล่ามีอยู่ว่า ก่อนที่ "บ้านมณีพฤกษ์" ต.งอบ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน จะอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

 เดิมทีเคยเป็นหมู่บ้านของชาวเมี่ยนนาม ฉงไผ่ จากนั้นเมื่อชาวม้งเริ่มอพยพเข้ามา พวกเขาต้องจ่ายภาษีเป็นฝิ่นให้แก่เมี่ยน มีอยู่ปีหนึ่งม้งไม่มีฝิ่นส่งจึงขอให้ชาวจีนที่มาค้าขายช่วยเขียนจดหมายไปขอผลัด แต่คนจีนคนนั้นกลับเขียนว่า "ห้ามมาเก็บภาษีที่นี่อีก" จึงจุดชนวนความขัดแย้งระหว่างม้งกับเมี่ยน ต่อมาในปี 2527 ม้งเริ่มกลับมาตั้งถิ่นฐาน ทำมาหากิน และเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น มณีพฤกษ์

มณีพฤกษ์ นึกถึงเกอิชา 01 ยอดดอยผาผึ้ง

 

 จากนั้นปี 2532 ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสกับแม่ทัพภาคที่ 3 (พล.ท.ศิริ ทิวะพันธ์ุ) ให้พัฒนาชาวไทยภูเขาและผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในพื้นที่ จ.น่าน โดยคณะเจ้าหน้าที่ได้เดินทางไปสำรวจสภาพปัญหาต่างๆ ของหมู่บ้าน และกำหนดให้มีการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นอันดับแรก ส่งเสริมการทำเกษตรแบบผสมผสาน การเลี้ยงสัตว์ไว้บริโภคแทนการล่าจากป่า การทำนาขั้นบันได และปลูกจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

 ปัจจุบันชาวบ้านมณีพฤกษ์มีการจัดตั้งกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชน และกลุ่มกาแฟบ้านมณีพฤกษ์ เพื่อพัฒนาให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ โดยมี กล้วย-วิชัย กำเนิดมงคล เป็นประธานกลุ่ม

"เรามาคิดกันว่าพื้นที่ของเรามีอะไรเด่นที่ตอบโจทย์สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม สุดท้ายจึงมาลงเอยที่การท่องเที่ยว และการปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ เพราะพื้นที่บ้านเรามีความสูง 1,400-1,600 เมตร เป็นดินภูเขาไฟซึ่งเหมาะแก่การปลูกกาแฟที่มีคุณภาพ ให้ปริมาณผลมาก และทำให้กาแฟหอมกว่าที่อื่น" เขากล่าว

 ชาวบ้านได้ต้นกล้ากาแฟมาจากในหลวง รัชกาลที่ 9 แต่พวกเขาไม่รู้จักกาแฟ และไม่มีใครดื่มกาแฟ เลยปลูกไปแบบตามมีตามเกิด

จากนั้น ในปี 2547 มีฝรั่งชื่อ เคเลบ จอร์แดน หรืออาจารย์เค มาเป็นมิชชันนารีในหมู่บ้าน เขาเห็นว่าสภาพดินน้ำที่นี่เหมาะแก่การปลูกกาแฟมาก จึงได้นำกาแฟสายพันธุ์เกอิชามาลองปลูกเป็นคนแรกในภาคเหนือ ซึ่งตอนนี้กลายเป็นกาแฟเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้ชาวมณีพฤกษ์มากที่สุด

 นอกจากนี้ กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2546 แต่เพิ่งมาจริงจังเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลังจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดทําโครงการส่งเสริมพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism District) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตอย่างยั่งยืนจากการท่องเที่ยว

มณีพฤกษ์ นึกถึงเกอิชา 02 นั่งรอพระอาทิตย์ตกดินเหนือไร่กาแฟ

 

 ปัจจุบันวิถีชีวิตของชาวม้งตอบโจทย์แนวคิด "คนอยู่ ป่ายั่งยืน" เพราะคนในชุมชนช่วยกันดูแลและเฝ้าระวังไม่ให้เกิดปัญหาตัดไม้ทำลายป่า และดำรงชีวิตอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน

 ส่วนเรื่องท่องเที่ยว สามารถแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม ซึ่งถึงแม้ว่าตอนนี้การท่องเที่ยวยังไม่ตอบโจทย์เรื่องรายได้ แต่กล้วยหวังว่าในอนาคตมันจะเติบโตเป็นรายได้ให้ชาวบ้านได้ตลอดปี

คิดถึงธรรมชาติ

ผู้มาเยือนจะถูกเชื้อเชิญให้ไปเยี่ยมเยือนบ้านพี่กล้วยเพื่อดื่มกาแฟ แน่นอนว่าต้องเป็นกาแฟเกอิชาด้วยเทคนิคดริปร้อน วิธีคลาสสิกเพื่อได้กาแฟหอมนวลถึงรสกาแฟแท้ ในบ้านไม้กลางธรรมชาติอวลด้วยกลิ่นควันไม้ที่ลอยออกมาจากห้องครัว

 บ้านชาวม้งสร้างเรียบง่าย ส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ชั้นเดียว ภายในแบ่งเป็นห้องนอน ห้องครัว และระเบียงกินข้าว ไม่จำเป็นต้องมีแอร์หรือพัดลม แต่จำเป็นต้องมีมุ้งและผ้าห่ม เพราะที่นี่เย็นตลอดปีและจะหนาวสุดขีดช่วงปลายปีโดยอุณหภูมิอาจแตะเลขตัวเดียวในเดือน ธ.ค.

เมื่อจิบกาแฟรสละมุนทำให้ตาตื่นแล้ว กล้วยจะพาไปตื่นตาต่อที่ไร่กาแฟ อยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 10 นาทีโดยรถยนต์ ซึ่งต้องเดินเท้าขึ้นเนินเล็กน้อยก่อนจะพบสาวงาม ต้นเกอิชามีความแตกต่างจากสายพันธุ์อื่นตรงที่มีลำต้นสูง กิ่งก้านยาว การเก็บจึงยากกว่าเพราะต้องสู้กับความสูงของมัน

 กล้วยเลือกปลูกกาแฟในสวนกล้วยป่า เนื่องจากดินจะชุ่มน้ำตลอดเวลา แม้ว่าเวลาเดินจะเสี่ยงต่อการลื่นหัวคะมำก็ตาม โดยจะปลูกแซมไปกับต้นกล้วย ใต้ร่มเงาใบตองใหญ่ ไล่ระดับความสูงขึ้นไป โดยชาวบ้านจะไม่รุกที่ป่าชุมชนที่มีกว่า 1.8 หมื่นไร่ ตามกฎเกณฑ์ที่ตกลงกันไว้

มณีพฤกษ์ นึกถึงเกอิชา 03 ดริปกาแฟเกอิชา

 

 นอกจากนี้ ด้านบนของไร่กาแฟ กล้วยได้สร้างบ้านพักเล็กๆ ไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว ซึ่งตรงนั้นเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตก มองเห็นทิวเขาสลับซับซ้อนและไร่กาแฟอยู่เบื้องล่าง อธิบายความเป็นมณีพฤกษ์ได้ครบจบความ

 "ตอนนี้ทุกพื้นที่ในภาคเหนือมีกาแฟเกอิชาปลูก แต่ที่นี่เป็นที่หนึ่ง เพราะเราปลูกใต้ต้นกล้วย ลูกท้อ อโวคาโด และแมคคาเดเมีย รวมถึงความสูงที่พอดีทำให้ได้เกอิชารสชาติดี ในพื้นที่บ้านมณีพฤกษ์มีการปลูกกาแฟแล้วประมาณ 500 ไร่เกือบทั้งหมู่บ้าน แต่ยังไม่ได้ผลผลิต เพราะชาวบ้านเพิ่งปลูกหลังรู้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่ขายได้ราคา สำหรับผมคิดว่า กาแฟที่ใช้แรงงานน้อยแต่ขายได้ราคาดี คือกาแฟที่ดีที่สุดแล้ว" กล้วยกล่าวเพิ่มเติม

 มณีพฤกษ์ยังมีจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอกน่าตื่นใจที่การเดินทางไปอาจจะยาก แต่ไม่ยากเกินไปถ้ามีความตั้งใจพอ เพราะถนนสู่ "ดอยผาผึ้ง" เป็นถนนลูกรังและพร้อมจะเปลี่ยนเป็นโคลนทันทีเมื่อฝนเทลงมา โดยถนนหนทางอนุญาตเฉพาะรถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น ซึ่งจะใช้เวลาจากหมู่บ้านถึงตีนดอยผาผึ้งประมาณ 2 ชั่วโมงกว่า ค่อยๆ ไต่ระดับความสูงผ่านทิวสนและต้นไม้ใหญ่จนถึงยอด

 จากตีนถึงยอดดอยผาผึ้งต้องเดินต่ออีกเล็กน้อย ทางไม่ชัน ไม่ลื่น เหมือนเดินอยู่กลางทุ่งหญ้าและทุ่งดอกไม้ ซึ่งบนยอดดอยจะมองเห็นป่าอุดมสมบูรณ์กว้างใหญ่ หากฟ้าใสจะมองเห็นถึงดอยภูแว สถานที่ที่ชาวม้งพำนักเป็นที่แรกก่อนย้ายมาอยู่ที่มณีพฤกษ์ และหากคืนก่อนหน้าฝนตก จะเห็นทะเลหมอกในตอนเช้าตรู่ยกตัวสูงเกือบแตะยอดดอย

 กล้วยเล่าว่า ที่มาของชื่อดอยผาผึ้ง มาจากสมัยก่อนที่มีผึ้งมาทำรังบนหน้าผาจำนวนมาก และชาวบ้านมักจะปีนขึ้นมาตีผึ้งมากมาย จนปัจจุบันไม่มีรังผึ้งเหลืออยู่แล้ว แต่เปลี่ยนเป็นจุดชมวิวยอดฮิตของหมู่บ้านแทน คำว่า ผาผึ้ง ยังเป็นชื่อของถ้ำขนาดใหญ่ที่ตอนนี้ยังมีรังผึ้งอยู่บ้างบนผาสูง ซึ่งตัวถ้ำยังสำรวจไม่เสร็จสิ้นจึงไม่อนุญาตให้เดินเข้าไป แต่การชื่นชมความสวยงามอยู่แค่ปากถ้ำก็ถือว่าอลังการ และคุ้มค่ากับการเดินป่าระยะสั้นเข้ามาแล้ว

วัฒนธรรมรำลึก

นอกจากธรรมชาติยิ่งใหญ่ บ้านมณีพฤกษ์ยังมีวัฒนธรรมแปลกใหม่ที่ไม่เคยเจอที่ไหนมาก่อน กล้วยคนเดิมจะพานักท่องเที่ยวออกเดินไปรอบหมู่บ้านและแวะตามจุดต่างๆ ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเรียนรู้

มณีพฤกษ์ นึกถึงเกอิชา 04 บ้านตีมีดพ่อฉั่วต้ง

 

 จุดแรกกล้วยหยุดที่ ผ้าปักม้งแม่สมหมาย คุณยายแต่งชุดม้งเต็มยศนั่งบนเก้าอี้ทรงเตี้ย เธอปักด้ายลงผ้าฝ้ายอย่างเชื่องช้าแต่ประณีต แย้มยิ้มให้คนแปลกหน้าพร้อมมิตรไมตรี ซึ่งนี่คือวิถีธรรมดาของแม่สมหมายไม่ใช่การแสดง

จากนั้นหลังร่ำลาแม่ก็เดินต่อไปที่ บ้านพ่อฉั่วต้ง หนึ่งในไม่กี่บ้านที่ยังยึดอาชีพตีมีดอยู่ถึงปัจจุบัน โดยกระบวนการทั้งหมดมาจากแรงของกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ ของคุณตาฉั่วต้ง วัย 80 ปี ที่เป็นช่างตีมีดมาตลอด 50 ปีตั้งแต่สมัยยังเป็นวัยรุ่น

 เมื่อมีดร้อนๆ ตีจนเข้าที่เสียงแคนม้งก็ดังเอื่อยมาพอดีจากบ้านข้างๆ ภาพนั้นคือ คุณลุงฉ่วนต้งกำลังเป่าแคนม้งอย่างโดดเดี่ยวแต่ไม่เดียวดาย เพราะมีคนฟังมากมายกำลังให้ความสนใจกับเสียงไม่คุ้น แต่กลับเป็นเสียงลื่นหูและไพเราะแม้จะฟังเป็นครั้งแรก ซึ่งเสียงแคนม้งจะดังขึ้นใน 2 วันสำคัญ คือ งานศพ และวันขึ้นปีใหม่ โดยในปีนี้ตรงกับวันที่ 19-24 ธ.ค. จะเป็นช่วงที่ชาวม้งหยุดงานและออกมาเต้นรำเฉลิมฉลองกันตลอดวันตลอดคืน

 กล้วยเล่าก่อนจะโบกมือลากันว่า ปัจจุบันฝิ่นหมดไปจากพื้นที่ เพราะชาวบ้านหันมาปลูกขิง กะหล่ำปลี ข้าวไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกาแฟ

 โดยบ้านมณีพฤกษ์มีประชากรม้ง 270 หลังคาเรือน รองลงมาเป็นชาวลั๊วะราวๆ 100 หลังคาเรือน ซึ่ง ต.งอบ ประกอบด้วย 3 หย่อมบ้านแบ่งเป็น 11 หมู่บ้าน รวมทั้งหมดมีประชากรมากกว่า 2,000 คน เขาหวังว่าการท่องเที่ยวและกาแฟจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวม้งและชาวเผ่าอื่นๆ ให้ดียิ่งขึ้น

 ทั้งนี้ ททท.ยังได้วางแผนจัดกิจกรรม Business Matching and Showcase ที่ ซี-อาเซียน กรุงเทพฯ ในวันที่ 29 พ.ย. 2560 เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มธุรกิจด้านการท่องเที่ยวสามารถเข้ามาพูดคุยกับกลุ่มชุมชน และให้โอกาสชุมชนได้นําเสนอเรื่องราวความน่าสนใจของพื้นที่ด้วยตัวเอง รวมทั้งยังให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาซื้อโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ได้เป็นกลุ่มแรกในราคาพิเศษด้วย ติดตามข่าวสารได้ทางเพจเฟซบุ๊ก Creative District Thailand