posttoday

‘ตาเนาะแมเราะ’ แกะรอยแหล่งกำเนิดอาหารเบตง

16 มีนาคม 2562

ทะเบียนรถระบุชื่ออำเภอเบตงแทนชื่อจังหวัด

ทะเบียนรถระบุชื่ออำเภอเบตงแทนชื่อจังหวัด เป็นการวัดถึงความไกลปืนเที่ยงในห้วงเวลาอดีตที่ผ่านมา แตกต่างไปจากปัจจุบันที่ อ.เบตง มีเส้นทางคมนาคมสะดวกจากตัวเมืองยะลา แม้จะไกลและคดเคี้ยวจนนึกถึงเส้นเชียงใหม่-ปายอยู่บ้าง แต่คนเฒ่าคนแก่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เบตงเจริญแล้ว”

เบตงกลายเป็นเมืองเศรษฐกิจ เพราะมีพื้นที่พรมแดนติดประเทศมาเลเซีย ทำให้ดีต่อการค้าระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวจะสังเกตเห็นป้ายทะเบียนรถมาเลย์บ่อยกว่ารถจังหวัดอื่นในไทย ซึ่งเบตงเป็นเมืองที่มีความหลากหลายด้านการท่องเที่ยวดังที่บรรจุอยู่ในคำขวัญอำเภอว่า
“เมืองในหมอก ดอกไม้งาม ใต้สุดแดนสยาม เมืองงามชายแดน” แต่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศกลับรู้จักเบตงเพียงเล็กน้อยและจำกัดแคบอยู่แค่ในตัวเมือง ทั้งที่รอบเขตเมืองก็มีสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

ดังนั้น การจะผลักดันให้เบตงไปสู่เมืองท่องเที่ยวเต็มรูปแบบต้องค้นหาศักยภาพด้านการท่องเที่ยว และสร้างความพร้อมให้คนในชุมชน จึงเกิดเป็นโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาเมืองเบตงให้เป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” โดยการสนับสนุนของหน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

“การจะทำให้ชาวบ้านรู้ว่าเขาสามารถมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวได้มากกว่าการขายของกิน ของที่ระลึก หรือของฝาก สิ่งสำคัญคือข้อมูล ที่เขาต้องรู้ก่อนว่าบ้านของเขามีแหล่งท่องเที่ยวอะไรบ้าง หรือไปกับการทำความเข้าใจเรื่องการจัดการท่องเที่ยว หรือกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับชุมชน” ผศ.ดร.ชัยรัตน์ จุสปาโล หัวหน้าโครงการวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา กล่าว

งานวิจัยดังกล่าวเป็นการทำงานร่วมกับผู้นำชุมชนใน 5 ตำบล ได้แก่ เบตง ยะรมอัยเยอร์เวง ตาเนาะแมเราะ และธารน้ำทิพย์เพื่อศึกษาหาแหล่งท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ ค้นพบว่าอำเภอแห่งนี้มีแหล่งท่องเที่ยวถึง 85 แห่ง โดยได้ค้นพบสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มีศักยภาพในตาเนาะแมเราะและธารน้ำทิพย์

ตาเนาะแมเราะแกะรอยอาหารเบตง

‘ตาเนาะแมเราะ’ แกะรอยแหล่งกำเนิดอาหารเบตง

แต่เดิม ต.ตาเนาะแมเราะ มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอย่างบ่อน้ำร้อนเบตง สวนดอกไม้เมืองหนาว และอุโมงค์ปิยะมิตรแต่เมื่อค้นหาจึงค้นพบว่าภายในพื้นที่มีวิถีชีวิตหรืออาชีพที่ชาวบ้านมองเป็นเรื่องธรรมดา แต่มีศักยภาพพอที่จะพัฒนาให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวแกะรอยเมนูดังของเบตง

ศรัญวิชญ์ นวลเจริญ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2ต.ตาเนาะแมเราะ กล่าวว่า ชุมชนมีเส้นทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทั้งแบบวันเดย์ทริปและแบบ2 วัน 1 คืน โดยได้ยกสิ่งที่ชาวบ้านทำอยู่แล้วขึ้นมาจัดทำเป็นเส้นทางให้น่าสนใจ เช่น สวนส้มโชกุน ฟาร์มไก่เบตง แปลงผักน้ำบ่อเลี้ยงปลานิล ทั้งหมดเป็นอาชีพของชาวบ้าน
ที่สามารถประยุกต์เป็นกิจกรรมท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้พวกเขาอีกทางหนึ่งได้

เส้นทางอาจเริ่มต้นที่จุดไหนก็ได้ และทุกจุดสามารถสลับสับเปลี่ยนกันได้ตามวิถีของชาวบ้าน อย่างวันนั้นสวนส้มโชกุนเป็นแห่งแรกที่ไป สวนส้มโชกุน “ช้างบ่อน้ำร้อนเบตง” ตั้งอยู่ในหมู่บ้านบ่อน้ำร้อน เป็นสวนส้มขนาดใหญ่กินพื้นที่มากกว่า 200 ไร่ เมื่อไปถึงต้องเปลี่ยนเป็นรถโฟร์วีลไต่เนินเขาขึ้นไป ฟังบรรยาย และชมทิวทัศน์ขุนเขาแห่งส้มโชกุน

ส้มโชกุนเป็นส้มเขียวหวานที่เกิดจากสายพันธุ์ส้มบางมดผสมส้มจีนบิทก้า มีคุณลักษณะต่างจากส้มเขียวหวานทั่วไปที่ผลจะใหญ่กว่า แต่ยังคงรสชาติหวานนำเปรี้ยวตาม โดยแต่เดิมมีแหล่งกำเนิดอยู่ในยะลา แต่เมื่อได้นำมาปลูกในเบตงแล้วกลับพบว่ามีคุณภาพดีกว่า เนื่องจากที่นี่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง ดินมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20-27 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,000 มล./ปีและบริเวณบ้านบ่อน้ำร้อนมีน้ำที่มีส่วนผสมของแร่ธาตุจากธรรมชาติ ซึ่งน่าจะทำให้ส้มโชกุนเบตงมีรสชาติดีกว่าแหล่งอื่น

‘ตาเนาะแมเราะ’ แกะรอยแหล่งกำเนิดอาหารเบตง

จากนั้นไปต่อกับอีกเมนูที่เป็นเอกลักษณ์ของอำเภออย่าง “ไก่เบตง” ในบ้านบ่อน้ำร้อนมีฟาร์มไก่เบตงแบบบ้านๆ หลายแห่งจนขึ้นชื่อว่าเป็นหมู่บ้านไก่เบตง ไก่สายพันธุ์นี้มีลักษณะเฉพาะคือ ทั้งตัวจะมีขนน้อย ขนมีสีเหลืองทอง หางสั้น ปีกสั้น เมื่อนำไปต้มเนื้อจะนุ่มฉ่ำ หนังหนึบหนับ และมีกลิ่นหอม
ทำให้ไก่เบตงเป็นที่ต้องการของตลาด

เนื่องจากต้องใช้เวลาเลี้ยงนานกว่าไก่ทั่วไปทำให้มีต้นทุนการเลี้ยงสูง ไก่เบตงจึงมีราคาสูงขึ้นตามไป โดยปัจจุบันไก่เบตงสดขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท เมนูไก่เบตงสับบนโต๊ะอาหารจึงกลายเป็นเมนูเหลา เป็นของแพง แต่นักท่องเที่ยวก็ยินดีจ่ายเพื่อจะได้ชิมไก่เบตงแท้ที่เบตง

อีกเมนูที่เห็นอยู่ในลิสต์เมนูแนะนำคือ “ผัดผักน้ำ” จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลทำให้ได้ทราบว่า ผักน้ำมีถิ่นกำเนิดจากฝรั่งเศสแล้วนำมาปลูกที่จีน ต่อมาได้แพร่หลายที่มาเลเซีย และเข้ามาที่ยะลา ในอดีตจะปลูกกันในหมู่ชาวจีนยังไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป กระทั่งเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ทางเกษตรจังหวัดยะลาได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกเพื่อขาย เนื่องจากแหล่งปลูกผักน้ำมีน้อยลงเรื่อยๆ เพราะการขยายตัวของเมืองทำให้ไม่มีแหล่งน้ำสะอาดในการเพาะปลูก

การปลูกผักน้ำต้องอาศัยแหล่งน้ำสะอาดจากธรรมชาติ อย่างในพื้นที่บ้านบ่อน้ำร้อนมีสภาพเป็นเนินเขาจึงต้องปลูกแบบขั้นบันได คือ รับน้ำจากแหล่งต้นน้ำบนภูเขา สร้างบ่อน้ำลดหลั่นกันไป และปล่อยให้น้ำไหลลงมาเป็นขั้นบันได เพราะผักน้ำจะเติบโตได้ดีในที่ที่มีน้ำไหลผ่านตลอดเวลาและต้องเป็น
น้ำใสเย็นจากภูเขาหรือน้ำฝนด้วย

‘ตาเนาะแมเราะ’ แกะรอยแหล่งกำเนิดอาหารเบตง

นอกจากนี้ เมนูปลานิลนึ่งก็เป็นเมนูขายดีปลาบนจานนั้นก็เป็นปลานิลเนื้อดีจากบ้านบ่อน้ำร้อน จากเดิมทีที่ชาวบ้านจะทำสวนยางพาราเป็นอาชีพหลักเพียงอย่างเดียว แต่หลังจากยางราคาตกต่ำทำให้ชาวบ้านมองหาลู่ทางอื่นนั่นคือ การเลี้ยงปลาเริ่มแรกได้ทดลองเลี้ยงปลาจีนและปลานิลแต่ปรากฏว่าปลานิลมีความต้องการทางตลาดสูงกว่า สามารถส่งขายได้ทุกวัน

ชาวบ้านจึงมีการรวมกลุ่มกันเลี้ยง“ปลานิลในสายน้ำไหล” ซึ่งต้องเลี้ยงในน้ำที่มีการไหลผ่อนตลอด 24 ชั่วโมง และเนื่องจากน้ำที่ไหลมาจากภูเขานั้นมีอุณหภูมิเฉลี่ยไม่เกิน 24 องศาเซลเซียสตลอดปี ทำให้เนื้อปลามีความแน่น ไม่มีกลิ่นคาว ไม่เหม็นดินโคลน ทำให้ขายได้ราคาและเป็นที่ต้องการของตลาดสูง เมื่อนักท่องเที่ยวไปชมสามารถให้อาหารปลาและเรียนรู้ภูมิปัญญาการทำเกษตรร่วมกับธรรมชาติ

นอกจากเส้นทางแกะรอยของดีเมืองเบตง ตาเนาะแมเราะยังมีของดีที่ขึ้นชื่ออยู่แล้วอย่างอุโมงค์ปิยะมิตร อดีตฐานปฏิบัติการใต้ดินของกองกำลังคอมมิวนิสต์มลายา โดยปัจจุบันอุโมงค์ถูกรักษาไว้เป็นอนุสรณ์สถานและเปิดเส้นทางบางส่วนให้นักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้น
จริงในอดีต

แวะเล่นน้ำตกอินทสรที่มีน้ำไหลตลอดปีชมเหมืองแร่โบราณที่มีลักษณะเป็นสระน้ำนับร้อยไร่ นมัสการหลวงปู่ทวด ณ วัดบ่อน้ำร้อนเป็นหลวงปู่ทวดองค์ใหญ่ที่สุดในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และปิดท้ายที่บ่อน้ำร้อนเบตงต้มไข่ออนเซนได้ในเวลา 7 นาที ทั้งยังมีบ่อน้ำแร่ให้แช่เท้าผ่อนคลาย

จากนั้นติดกับบ่อน้ำร้อนยังมีศูนย์จำหน่ายสินค้าโอท็อปและกิจกรรมสกรีนเสื้อยืดลายโอเคเบตง โดยจะให้ดีไซน์แบบเองสกรีนเอง และนำกลับไปเป็นที่ระลึก

โปรแกรมท่องเที่ยวตาเนาะแมเราะแบบ 1 วัน ราคาคนละ 1,200 บาท รวมค่ารถพาเที่ยว อาหารกลางวัน และการสกรีนเสื้อ สอบถามโทร. 08-3397-5828

ธารน้ำทิพย์ :ม่านหมอกสองแผ่นดิน

‘ตาเนาะแมเราะ’ แกะรอยแหล่งกำเนิดอาหารเบตง

จากการทำงานวิจัยคนในชุมชนต.ธารน้ำทิพย์ ได้ค้นพบแหล่งท่องเที่ยวใหม่บนเนินเขาที่ชาวบ้านใช้ปลูกยางพาราชื่อ จุดชมวิวสองแผ่นดิน “ไต้ต๋ง” ยอดเขาที่สามารถมองเห็นตัวเมืองเบตงทอดยาวไปถึงมาเลเซีย แต่หากวันไหนโชคดีมีฝนตกลงมาหรือในช่วงฤดูหนาว จากจุดชมวิวภูเขาธรรมดาจะเปลี่ยนเป็นจุดชมทะเลหมอกสุดอลังการ

จากจุดชมวิวไต้ต๋งจะมองเห็นเทือกเขาสันกาลาคีรีซึ่งเป็นเส้นแบ่งพรมแดนไทย-มาเลเซีย และสันเขานับร้อยลูกที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 300-800 เมตร ความสมบูรณ์ของธรรมชาตินี้เป็นแหล่งผลิตหมอกชั้นดี

นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเมื่อฝนตกเพียงไม่นาน ก็สามารถกระตุ้นให้ป่าสร้างสายหมอกขนาดมหึมาไหลผ่านสันเขาใหญ่น้อยได้ตั้งแต่เช้าถึงยามสาย ก่อนสลายหายไปพร้อมกับความร้อน

ที่นี่อยู่ห่างจากตัวเมืองเบตงราว 9 กม.ต้องใช้เวลาโดยสารบนรถขับเคลื่อนสี่ล้อนานถึง 1 ชั่วโมง เนื่องจากสภาพถนนที่ไม่ได้ลาดยาง ลัดเลาะผ่านป่า และสวนยางพารา ทำให้ต้องใช้ความชำนาญทางและความเชี่ยวชาญในการขับรถ จึงควรสตาร์ทออกจากที่พักตั้งแต่ตี 5 เพื่อขึ้นมาให้ทันชมแสงอุ่นยามเช้า โดยรถจะเข้าถึงจุดชมวิวจึงเหมาะสำหรับทุกคน

นอกจากนี้ ในธารน้ำทิพย์ยังมีจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งที่ชุมชนซาโห่ เป็นหมู่บ้านชาวจีนอายุมากกว่า 100 ปี อาศัยอยู่ใต้สุดแดนสยาม ซึ่งปัจจุบันทีมวิจัยกำลังทำงานกับคนในชุมชน หากชาวบ้านพร้อมและเข้าใจก็สามารถเปิดเป็นอีกจุดหมายปลายทางใหม่ของตำบลนี้

ยิ่งค้นหาก็ยิ่งค้นพบเสน่ห์อันหลากหลายของ อ.เบตง ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติและวิถีเกษตรที่เป็นเรื่องธรรมดา แต่กลับเป็นเรื่องพิเศษในสายตาผู้มาเยือน สมกับวรรคสุดท้ายของคำขวัญ “เมืองงามชายแดน”