posttoday

ฮันจุงโนก...บันทึก'ลับ' ในความเงียบ

10 กุมภาพันธ์ 2562

บันทึกลับในอดีตที่ชื่อว่า “ฮันจุงโนก” (한중록: The Memoirs of Lady Hyegyeong) ในสมัยโชซอน มีความหมายว่า “บันทึกในความเงียบ”

โดย เพียงออ วิไลย [email protected]

บันทึกลับในอดีตที่ชื่อว่า “ฮันจุงโนก” (한중록: The Memoirs of Lady Hyegyeong) ในสมัยโชซอน มีความหมายว่า “บันทึกในความเงียบ” เป็นบันทึกความทรงจำของ “พระชายาฮเย-กยอง” ใน “องค์ชายรัชทายาทซาโด” ที่มีความสำคัญต่อการเปิดเผยความลับทางประวัติศาสตร์เกาหลีในช่วงปี ค.ศ. 1700-1800 ซึ่งมีความคลุมเครือสับสนในเหตุการณ์สำคัญยิ่งของราชวงศ์โชซอน...ในเวลานั้น ไพร่ฟ้าสามัญชนไม่เคยรับรู้ว่า ทำไมจู่ๆ องค์ชายรัชทายาทจึงสิ้นพระชนม์ และเงื่อนงำการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ก็หายไปจากประวัติศาสตร์ จนกระทั่งได้มีเปิดเผยเนื้อหาของบันทึกลับนี้หลังเหตุการณ์ดังกล่าวเกือบ 200 ปี

ฮันจุงโนก...เป็นการบันทึกอัตชีวประวัติส่วนพระองค์ สมัยนี้คงเทียบได้กับการเขียนไดอารี่ประจำวัน หากแต่ “พระชายาฮเย-กยอง” อาจมีพระประสงค์ลึกๆ ในการที่จะส่งต่อเรื่องราวของพระองค์ ราชวงศ์ และการเมืองในยุคนั้นให้ชนรุ่นหลังได้รับรู้... “พระชายาฮเย-กยอง” (ซึ่งต่อมา ได้เฉลิมพระยศเป็น ”พระราชินีฮอนกยอง” หลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์ไปแล้ว) แรกถือกำเนิดในครอบครัวขุนนางตระกูลฮง จากเมืองพุงซาน ในปี 1735 และสิ้นพระชนม์ในปี 1816 (พระชันษา 80) แต่พระองค์เริ่มบันทึกเรื่องราวจากความทรงจำเมื่อเจริญพระชนมายุได้ 60 พรรษา ดังนั้น จึงเป็นข้อสงสัยอันหนึ่งว่า ความทรงจำของพระองค์จะยังคงแม่นยำอยู่หรือไม่ และจะมีบันทึกบางส่วนเขียนด้วยอคติที่เกิดขึ้นระหว่างปีแห่งความทุกข์ของชีวิตในราชวงศ์ที่มีผลบิดเบือนข้อเท็จจริงไป บ้างหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาส่วนใหญ่ของบันทึกนี้สามารถเป็นหลักฐานอ้างอิงการมีอยู่ของเหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์... แม้ว่าลายมือต้นฉบับนั้นได้สูญหายไป แต่มีการคัดลอกบันทึกลงบนกระดาษไว้หลายชุด (ช่างเป็นข้อดีของการค้นพบการทำกระดาษและหมึกจีน) เท่าที่ค้นพบ “พระชายาฮเย-กยอง” ได้ทรงเขียนบันทึกไว้ 4 ช่วงเวลา ภายในระยะเวลาสิบปี คือ ค.ศ. 1795, 1801, 1802, และ 1805

ก่อนหน้าที่ “บันทึกในความเงียบ” ได้ถูกเปิดเผยต่อสายตาสาธารณชน บันทึกนี้ได้ถูกส่งต่อเฉพาะในผู้สืบสายราชวงศ์ “อี” ของโชซอนเท่านั้น ภายหลังได้มีการคัดลอกออกไปถึง 14 สาย บางชุดคัดลอกมาเป็นอักษรเกาหลีและอักษรจีนปนกัน ทว่า ชุดที่มีความสำคัญและใช้ในการอ้างอิงมี 3 ชุด คือ ชุดที่ชื่อว่า คารัม อิลซา และ อาซามี...ในปี 1939 ข้อความในชุด คารัม ได้ถูกนำมาตีพิมพ์เปิดเผยเป็นครั้งแรกในวารสารรายเดือน ชื่อว่า “มุนจาง” พิมพ์ติดต่อกันถึง 1 ปี ทำให้ชาวเกาหลีได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในราชวงศ์โชซอน และปริศนาการสิ้นพระชนม์ของ องค์ชายรัชทายาทซาโด ก็ได้รับคำตอบที่ชัดเจนในเวลานั้น

“บันทึกในความเงียบ” เริ่มต้นตั้งแต่เรื่องราวของชีวิตของพระชายา ในวัยเด็กจนกระทั่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นพระชายา ในวัยเด็กท่านอธิบายถึงความรักและความผูกพันที่ท่านมีต่อท่านบิดามารดา และครอบครัว ซึ่งตั้งแต่เกิดท่านนอนในห้องเดียวกับบิดามารดา ได้ช่วยดูแลมารดาขณะที่ให้กำเนิดน้องๆ และได้เลี้ยงน้องๆ ที่เกิดตามมา จนกระทั่งต้องจากไปเป็นพระชายาในวัย 9 ขวบ เป็นความทุกข์ทรมานใจอย่างมากที่ต้องจากบ้านเข้าไปอยู่ในพระราชวังที่มีความเป็นระเบียบและเย็นชา ความเป็นอยู่ในราชสำนักที่มิอาจทำสิ่งใดตามใจได้ และมิอาจออกมาพบท่านบิดามารดาได้ตามที่ต้องการ ในบันทึกยังได้อธิบายถึงพิธีการคัดเลือกพระชายาให้แก่องค์รัชทายาท ธรรมเนียมปฏิบัติ และกล่าวถึงพระเจ้ายองโจกับพระราชินีว่าถูกใจพระองค์ตั้งแต่การคัดตัวรอบที่ 2 จนเอ่ยปากว่า พระองค์เป็น “ลูกสะใภ้ที่สวยงาม”

... ทว่า บันทึกยังแฝงไว้ด้วยการอธิบายถึงความจงรักภักดีของตระกูลฮงที่มีต่อราชวงศ์ ทั้งนี้เพราะในช่วงหลายปี แม้ว่า ตระกูลฮงจะเป็นต้นตระกูลของพระองค์ซึ่งมีฐานะเป็นพระชายาและพระพันปีของพระเจ้าจองโจ กษัตริย์องค์ต่อไป แต่ทั้งท่านบิดา พี่น้อง ก็ถูกลงพระราชอาญาไปหลายคน สร้างความทุกข์ใจให้แก่พระนางมาก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายอย่างทำให้ชีวิตในพระราชวัง “ชาง-คยอง” เป็นความทุกข์ของพระองค์ตั้งแต่เล็กจนสิ้นพระชนม์

เมื่อรวบรวมเนื้อหาของบันทึกทั้ง 4 ตอนนี้ เรียงตามลำดับเวลา พบว่า หลังจากที่พระชายาฮเย-กยอง เข้าไปอยู่ในพระราชวังได้ 1 ปี ตอนที่ทั้งพระองค์และองค์ชายรัชทายาทซาโด อายุ 10 ขวบ องค์ชายซาโดก็เริ่มมีอาการแปลกๆ และเกรี้ยวกราดขาดสติแล้ว ยิ่งโตขึ้นก็ยิ่งมีอาการหนักมากขึ้น เช่น กลัวเสียงฟ้าร้องฟ้าผ่าเพราะเกิดภาพหลอนว่าเห็นเทพเจ้าสายฟ้ามาลงโทษหลังจากอ่านหนังสือเต๋าชื่อว่า “อ๊กชู-กยอง” ในบันทึกได้บอกว่า พระเจ้ายองโจซึ่งเป็นพระราชบิดา ทรงเข้มงวดกับองค์ชายซาโดมาก มักจะไม่พอพระทัยกับสิ่งต่างๆ ที่องค์ชายรัชทายาททรงกระทำเสมอๆ และบ่อยครั้งที่ลงโทษพระองค์ให้อับอายต่อหน้าขันทีและนางกำนัล... นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้องค์ชายเกรงกลัวพระราชบิดาอย่างมาก ไม่สามารถพูดออกเสียงได้ต่อหน้าพระเจ้ายองโจ และเกิดความอับอายจนถึงขั้นรู้สึกอยากฆ่าตัวตายหลายครั้งก็ได้

ตอนที่องค์ชายมีพระชันษา 21 ได้มีปากเสียงกับพระราชบิดา แล้วกลับมาอาละวาดกับข้าราชบริพารจนเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้พระตำหนักเสียหายไปหลายหลัง พระชายาทรงพระครรภ์ที่สี่ ยังต้องวิ่งหนีไปช่วยพระโอรสอีซาน และพระธิดาอีกองค์ให้พ้นจากไฟไหม้เลย นี่ยังไม่นับถึงพระอาการกลัวเสื้อผ้า เมื่ออาการกำเริบกว่าจะเลือกฉลองพระองค์ได้แต่ละครั้ง ต้องเผาเสื้อผ้าทิ้งไปหลายชุด

นอกจากนี้ บุคคลที่พระองค์สนิทสนมรักใคร่ด้วย เช่น เจ้าหญิงฮวา-ฮยอบ พระพันปีอินวอน กับพระราชินีจองซอน ได้เสียชีวิตตามกันในไม่กี่ปี ทำให้พระองค์โศกเศร้ามาก ในที่สุดความเครียดจึงทำให้พระองค์มีความผิดปกติทางจิตใจ ในเดือนเดียวกับที่มีพระราชพิธีฝังพระศพพระราชินีจองซอน พระองค์ถึงกับตัดศีรษะขันทีหิ้วไปมาในพระตำหนักและบังคับให้ทุกคนดูศีรษะนั้น...

(อ่านต่อฉบับหน้า)