posttoday

ปั่นเลียบปากบารา ถึงเขตข้ามกาลเวลา ‘สตูล’

02 กุมภาพันธ์ 2562

สตูลถูกประกาศให้เป็น “อุทยานธรณีระดับประเทศ” เมื่อปี 2559

โดย/ภาพ : กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย 

สตูลถูกประกาศให้เป็น “อุทยานธรณีระดับประเทศ” เมื่อปี 2559 ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ทุ่งหว้า มะนัง ละงู และเมือง รวมเรียกว่า “อุทยานธรณีสตูล” (Satun Geopark) โดยทั้ง 4 อำเภอมีความโดดเด่นทางธรณีวิทยาคือ เป็นบันทึกหลักฐานของโลกใต้ทะเลเมื่อ 500 ล้านปีก่อน

ด้วยการค้นพบสิ่งมีชีวิตยุคเก่าที่เป็นแหล่งสร้างออกซิเจนให้กับโลกในช่วงเวลานั้น ต่อมามีการยกตัวของเปลือกโลกก่อเกิดเป็นเทือกเขาและถ้ำ ซึ่งได้กลายเป็นบ้านหลังแรกของมนุษย์โบราณ กระทั่งปัจจุบันผู้คนก็ยังดำรงชีวิตโดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรบนแผ่นดินดึกดำบรรพ์นี้ ก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่มีเอกลักษณ์

ทั้งยังมีกิจกรรมการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น ล่องแก่ง ดำน้ำ เที่ยวถ้ำ เล่นน้ำตก และเส้นทางปั่นจักรยานเลียบชายหาดอย่างที่ “หาดปากบารา”

หาดปากบาราเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการความเป็นส่วนตัวและความสงบ เสน่ห์ของหาดแห่งนี้ไม่ได้อยู่ที่คลื่นหรือหาดทราย แต่อยู่ที่ความงดงามของทัศนียภาพที่มองเห็นเกาะตะรุเตาของฝั่งไทย และเกาะลังกาวีของฝั่งมาเลเซีย แถมยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของอุทยานธรณีสตูล

ปั่นเลียบปากบารา ถึงเขตข้ามกาลเวลา ‘สตูล’

ตลอดแนวชายหาดมีถนนคู่ขนานมีความสวยงามจนกล่าวได้ว่าเป็นเส้นทางชมวิว (Scenic Route) ที่เหมาะกับการปั่นจักรยาน ซึ่งแม้จะยังไม่มีไบค์เลนแยกต่างหาก แต่มีไหล่ทางให้หลบรถใหญ่ มีโค้งเว้าให้หยุดชมวิว ที่สำคัญคือ มีร้านอาหารซีฟู้ดและคาเฟ่ให้พักระหว่างทาง

ถนนเลียบหาดปากบาราจะไปสิ้นสุดที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา บริเวณนั้นมีชายหาดที่คนในพื้นที่ชอบพาครอบครัวไปปิกนิกใต้ต้นหูกวาง และปล่อยให้เด็กๆ เล่นน้ำได้อย่างปลอดภัย

ส่วนภูเขาที่ตั้งตระหง่านอยู่ด้านข้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เรียกมันว่า “เขาโต๊ะหงาย” เป็นภูเขาลูกโดดๆ มีสะพานเดินเท้าจากที่ทำการเลียบไปตามชายฝั่งด้านตะวันออก แล้วโค้งไปทางตะวันตกผ่านเขตรอยต่อระหว่างหินปูนสีเทากับหินทรายสีแดง ซึ่งเขตรอยต่อนี้เองที่ถูกขนานนามว่า “เขตข้ามกาลเวลา”

นักปั่นต้องเปลี่ยนจากสองล้อเป็นสองขา จอดจักรยานไว้ที่ที่ทำการจ่ายค่าเข้าคนละ 20 บาท แล้วเริ่มเดินไปตามถนนที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่ มองดูทะเลที่เงียบสงบก่อนจะขยับเข้าใกล้จนถึงทางลงสะพาน ตัวสะพานโค้งเว้าไปตามรูปร่างของเขาโต๊ะหงาย ด้านหนึ่งชิดเขาอีกด้านชิดทะเล

ที่นี่คนปากบารามักมาเดินออกกำลังกายพร้อมชมพระอาทิตย์ตก และมีคนอีกจำนวนไม่น้อยมาเพื่อชมเขตข้ามกาลเวลา

เขตข้ามกาลเวลามีความสำคัญทางธรณีวิทยาคือ เป็นบริเวณที่พบรอยสัมผัสของหินที่มีอายุแตกต่างกัน 2 ยุค คือ หินทรายสีแดงยุคแคมเบรียนอายุประมาณ 541-485 ล้านปี และหินปูนยุคออร์โดวิเชียนอายุประมาณ 485-444 ล้านปี

รอยสัมผัสเกิดจากการเลื่อนตัวของเปลือกโลก โดยสามารถมองเห็นได้ชัดด้วยตาเปล่า เพราะสีที่แตกต่างกันระหว่าง 2 ยุค นับเป็นปรากฏการณ์ที่หาดูได้ยาก และเสมือนว่าสามารถก้าวย่างข้ามกาลเวลาจากยุคแคมเบรียนไปสู่ยุค
ออร์โดวิเชียนได้เพียงก้าวเดียว

ปั่นเลียบปากบารา ถึงเขตข้ามกาลเวลา ‘สตูล’

เขาโต๊ะหงายมียอดเขาสูง 138 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ส่วนใหญ่เป็นหินปูน มีโพรงถ้ำ และมียอดเขาตะปุ่มตะป่ำ บริเวณใกล้เคียงกันยังพบซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลของสัตว์ทะเล เช่น หมึกทะเลโบราณ (นอติลอยด์) พบที่เขาอ่าวนุ่นใกล้กับเขาโต๊ะหงาย ลำต้นของพลับพลึงทะเล (ไครนอยด์) และหอยตะเกียง (แบรคิโอพอดส์) ในสภาพแตกหัก เนื่องจากถูกกัดเซาะจากคลื่น เป็นต้น

ข้อมูลจากสำนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี อธิบายการเกิดเขตข้ามกาลเวลาว่า เมื่อย้อนอดีตไปในยุคแคมเบรียนภูมิประเทศของไทยมีสภาพเป็นทะเลน้ำตื้น เต็มไปด้วยสัตว์ที่หากินตามพื้นท้องทะเล ประกอบไปด้วยสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่มีเปลือกแข็งหุ้มลำตัว เช่น แมงดาทะเล หอยตะเกียง ปะการัง พลับพลึงทะเล หมึกทะเลโบราณ และสัตว์ที่ไม่มีเปลือกแข็งหุ้มลำตัว เช่น หนอน และแมงกะพรุน โดยในยุคนี้จะมีการสะสมตะกอนทรายขนาดต่างๆ อย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนได้ชั้นหินทรายหนาสีเทา สีขาว และสีแดง

เมื่อสิ้นสุดยุคแคมเบรียนระดับน้ำทะเลและอุณหภูมิได้สูงขึ้น ทำให้น้ำทะเลรุกเข้าท่วมประเทศไทย จนมีสภาพเป็นไหล่ทวีปใต้ทะเลเกือบทั้งหมด ทำให้ตะกอนที่สะสมตัวมีขนาดละเอียดขึ้น เปลี่ยนจากตะกอนทรายเป็นตะกอนทรายแป้งและดิน จนในที่สุดก็เกิดการสะสมตะกอนพวกคาร์บอเนตจนได้เป็นชั้นหินปูนหนา

ช่วงเวลาที่มีการสะสมตัวของหินปูนนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 485 ล้านปีก่อน เรียกว่า ยุคออร์โดวิเชียนสิ่งมีชีวิตที่โดดเด่นมากในช่วงเวลานั้นคือ หมึกทะเลโบราณและปลายุคแรกก็เริ่มถือกำเนิดขึ้นแต่ยังไม่มีครีบและขากรรไกร

ปั่นเลียบปากบารา ถึงเขตข้ามกาลเวลา ‘สตูล’

นอกจากนี้ ท้องทะเลบางแห่งยังมีสาหร่ายสโตรมาโตไลต์จำนวนมาก ทำให้ได้หินปูนลักษณะพิเศษเรียกว่า หินปูนสโตรมาโตไลต์ ซึ่งหากสังเกตหินปูนบริเวณเขาโต๊ะหงายและเขตข้ามกาลเวลาให้ดี จะพบลักษณะเส้นชั้นบางๆ สีน้ำตาลและสีเทาแทรกอยู่ในเนื้อหินปูน ซึ่งนั่นก็คือสาหร่ายสโตรมาโตไลต์นั่นเอง

จากนั้นเปลือกโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง จนทำให้เกิดรอยเลื่อนตัดผ่านชั้นหินทั้งสองยุค หินทรายและหินปูนถูกยกตัวขึ้นมาบนผิวโลกกลายเป็นภูเขาสูง และเห็นเป็นรอยเลื่อนที่ชัดเจนอย่างในปัจจุบัน

ใกล้กับเขตข้ามกาลเวลามีแลนด์มาร์คของเขาโต๊ะหงาย เรียกว่า หินเรือใบ เป็นหินปลายแหลม 2 ยอดซ้อนกัน รูปร่างแปลกจนเป็นเอกลักษณ์ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ในช่วงโพล้เพล้จะเห็นช่างภาพมักมาจับจองมุมเพื่อถ่ายภาพพระอาทิตย์ตกกับแลนด์มาร์คที่ไม่เหมือนที่ใด

บรรยากาศพระอาทิตย์ตกที่เขาโต๊ะหงายช่างงดงาม โดยเฉพาะช่วงปลายหนาวจะมีโอกาสเห็นฟ้าระเบิดเป็นสีส้ม สีชมพู และสีม่วงมากกว่าฤดูอื่น เช่นเดียวกับบริเวณปากบารา วิวพอยต์ที่จะเห็นคนมาเซลฟี่กับแสงสุดท้าย โดยมีรูปปั้นปลากระโทงร่มตัวเขื่องเป็นฉากหลัง

ปั่นเลียบปากบารา ถึงเขตข้ามกาลเวลา ‘สตูล’

เส้นทางปั่นจักรยานเลียบหาดปากบาราถึงเขตข้ามกาลเวลาเขาโต๊ะหงาย เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเส้นทางท่องเที่ยวในอุทยานธรณีสตูลเฉพาะใน อ.ละงู เท่านั้น

ละงูยังมีจุดชมฟอสซิลบริเวณเขาน้อยที่มีการค้นพบฟอสซิลหินสาหร่ายสโตรมาโตไลต์ หรือสถานที่ผลิตก๊าซออกซิเจนให้สิ่งมีชีวิตบนโลก มีถ้ำอุไรทองให้สัมผัสแหล่งโบราณคดีของมนุษย์โบราณ และมีการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านบ่อเจ็ดลูก ให้นั่งเรือหัวโทงไปเที่ยวปราสาทหินพันยอด และชมฟอสซิลหมึกทะเลโบราณอายุ 470 ล้านปี

ส่วนในภาพใหญ่ของอุทยานธรณีสตูลยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีก 3 อำเภอ นักท่องเที่ยวสามารถชมรายละเอียดของสถานที่ทั้งหมดได้ทางเว็บไซต์ www.satun-geopark.com