posttoday

สีสัน'สามบ้าน สามเผ่า'แห่งแม่ฮ่องสอน

02 กุมภาพันธ์ 2562

แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดเล็กๆ

โดย/ภาพ : จำลอง บุญสอง

แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดเล็กๆ ในหุบเขาสูงที่สลับซับซ้อน ตัวอำเภอทุกอำเภออยู่บนที่ราบในหุบเขา ประชากรของจังหวัดจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นไทยใหญ่ ปะเกอกะเญอ ลาหู่ (ทั้งดำและแดง) เย้า ม้ง ลีซู ชาติพันธุ์เหล่านี้ยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมของตัวเองไว้ผ่านวิถีการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการดำรงชีพ อาหารประจำถิ่น จารีต การแต่งกาย และภาษา

จากอัตลักษณ์ชุมชนที่หลากหลายดังกล่าว จึงกลายเป็นมูลเหตุให้นักท่องเที่ยวชาวไทยตลอดจนนักท่องเที่ยวจากอีกซีกหนึ่งของโลกเดินทางมาเยือนแม่ฮ่องสอน เพื่อเรียนรู้และศึกษาวัฒนธรรมที่แตกต่าง โดยเฉพาะในหน้าหนาวที่มีอากาศหนาวเย็นท่ามกลางธรรมชาติของหุบเขาและทะเลหมอก

ปะเกอกะเญอ บ้านห้วยห้อม

สีสัน'สามบ้าน สามเผ่า'แห่งแม่ฮ่องสอน

เราเริ่มต้นจากการเดินทางไปที่ “บ้านห้วยห้อม” อ.แม่ลาน้อย อยู่ห่างจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนราว 3 ชั่วโมง ที่นี่เป็นหมู่บ้านชนเผ่าปะเกอกะเญอที่ปลูกกาแฟคุณภาพดีของจังหวัด ชาวบ้านนอกจากจะมีรายได้จากการผลิตเมล็ดกาแฟอราบิกาที่มีคุณภาพ เพราะตั้งอยู่บนพื้นที่สูงมากกว่า 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล ขายเป็นกาแฟคั่วบดให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนภายใต้แบรนด์ “ห้วยห้อม” แล้ว หมู่บ้านนี้ยังเลี้ยงแกะที่เริ่มส่งเสริมโดยบาทหลวงคริสเตียนชาวออสเตรเลียที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาเมื่อหลายทศวรรษก่อน

คนในหมู่บ้านได้รับการฝึกฝนทักษะความรู้การเลี้ยงแกะบนดอย เรียนรู้วิธีการตัดขนแกะ การฟอกทำความสะอาด การปั่นเป็นเส้นใยก่อนนำไปทอเป็นผืน ผลิตภัณฑ์ผ้าขนแกะจะมีลวดลายตามแบบภูมิปัญญาของบรรพบุรุษปะเกอกะเญอเช่นเดียวกับผ้าฝ้ายลายชุมชน ซึ่งช่วยสร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับหมู่บ้านไปพร้อมๆ กับอุตสาหกรรมกาแฟ และที่นี่ยังมีโฮมสเตย์ไว้บริการนักท่องเที่ยวที่ต้องการศึกษาเรียนรู้วิถีและวัฒนธรรมของชุมชนอีกด้วย

ลัวะ บ้านละอูบ

สีสัน'สามบ้าน สามเผ่า'แห่งแม่ฮ่องสอน

ไม่ไกลจากบ้านห้วยห้อมก็ไปถึง “บ้านละอูบ” ที่นี่เป็นชุมชนชาวละเวือะ หรือชาวลัวะที่ยังหลงเหลืออัตลักษณ์ไว้ได้ไม่กี่แห่งของประเทศไทย

ลัวะ หรือละว้า หรือละเวือะนี้ เป็นชนพื้นเมืองเก่าแก่เผ่าหนึ่งของดินแดนล้านนาที่มีมาก่อนเมืองเชียงใหม่เสียอีก อาชีพของชาวลัวะบ้านละอูบปลูกกาแฟและปลูกข้าวไร่แบบเดียวกับปะเกอกะเญอเพราะอยู่ใกล้กัน เพียงแต่ละอูบไม่ได้เลี้ยงแกะเพราะนับถือผีและพุทธจึงไม่มีบาทหลวงเข้ามาช่วยเหลือ

การแต่งกายของผู้หญิงชาวลัวะจะใส่เสื้อแบบเดียวกับชาวปะเกอกะเญอ แต่เป็นสีขาวล้วนไม่มีการปล่อยชายด้ายยาว แต่จะมีการปักลวดลายเรียบๆ ซึ่งละเอียด จนหลายคนบอกว่า “ถึงลวดลายน้อยแต่ละเอียดมาก”

ชนเผ่านี้สวมสร้อยลูกปัดสีเหลืองและส้มที่ร้อยเรียงกันหลายเส้นและโยงเข้าด้วยกันใส่ต่างหูเงินขนาดใหญ่ที่ผลิตใช้เองในหมู่บ้าน สาวบ้านไหนที่ฐานะดีก็จะมีสร้อยเงินแท้สวมคละกับสร้อยลูกปัด สร้อยเงินที่สวมจะมีการขึ้นรูปคล้ายเงินพดด้วง และเหรียญเงินจำนวนมาก ส่วนลวดลายของเครื่องเงินจะมีทั้งที่เป็นลวดลายแบบโบราณและแบบสมัยใหม่ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ ผู้หญิงชาวลัวะยังสวมปลอกแขนสีน้ำเงินเข้ม นุ่งผ้าถุงลายน้ำไหลสีดำสลับแดงเข้ม และมีปลอกขา สีน้ำเงินเหมือนกับปลอกแขน นิยมไว้ผมยาวรวบเป็นมวยหรือปล่อยไว้ด้านหลัง และสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ ปล้องยาสูบในปากที่มีลวดลายสวยงามแตกต่างกันไป

สำหรับผู้ชายชาวลัวะดั้งเดิมก็เท่ไม่เบา ใส่เสื้อขาวแขนยาวไม่ติดกระดุม และกางเกงขายาวสีขาว มีผ้าสีชมพูเข้มหรือแดงคาดบนหัว สวมสร้อยคอ ลูกปัดปักมือที่ห้อยชายสายสร้อยพาดบ่าไปทิ้งตัวทางด้านหลัง เอวคาดด้วยสายคาดเอวและมีดสั้นที่เก็บอยู่ในฝัก ซึ่งสมัยก่อนผู้ชายชาวลัวะจะล่าสัตว์ด้วยการยิงหน้าไม้ที่ทำขึ้นเอง แต่ปัจจุบันไม่มีการล่าสัตว์แบบนั้นแล้ว

สาวชาวละอูบเล่าให้ฟังด้วยว่า สร้อยเงินที่พวกเธอสวมเป็นเงินแท้ที่ใช้เป็นของหมั้นหรือสู่ขอในการแต่งงาน ถ้าบ้านไหนฐานะดี สร้อยเงินที่เป็นของหมั้นก็จะหลากหลายและมีน้ำหนักมากด้วย การแต่งกายแบบเต็มรูปแบบนี้มักนุ่งในวันสำคัญของหมู่บ้าน เช่น วันเลี้ยงผี เป็นต้น

ส่วนการทอผ้าของชาวลัวะนอกจากจะเป็นการทอเสื้อผ้าและผ้านุ่งแล้ว ยังมีการทอย่ามและของใช้ที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน บ้านละอูบปัจจุบันเริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว เนื่องจากมีเส้นทางการท่องเที่ยวที่สามารถเชื่อมโยงกับบ้านห้วยห้อมและโครงการหลวงบ้านดงได้ ดังนั้นจึงมีการจัดที่พักแบบโฮมสเตย์ไว้คอยบริการแก่นักท่องเที่ยวและผู้สนใจเข้าพัก เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของชาวลัวะด้วย

ลาหู่ บ้านจ่าโบ่

สีสัน'สามบ้าน สามเผ่า'แห่งแม่ฮ่องสอน

“บ้านจ่าโบ่” ตั้งอยู่ใน อ.ปางมะผ้า เป็นอำเภอที่อยู่ห่างจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนประมาณชั่วโมงครึ่ง เป็นอำเภอที่ประกอบด้วยชาติพันธุ์ไทยใหญ่ ลาหู่แดง ลาหู่ดำ และลีซู

จ่าโบ่เป็นหมู่บ้านลาหู่ดำที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องการกินก๋วยเตี๋ยวห้อยขาท่ามกลางวิวทะเลหมอกแบบพาโนรามา180 องศา ซึ่งทะเลหมอกหน้าหนาวบ้านจ่าโบ่นี้หากใครเดินทางไปเที่ยวแม่ฮ่องสอน แล้วไม่ได้แวะเข้าไปบ้านจ่าโบ่ถือว่าไปไม่ถึงเลยทีเดียว

ดังนั้น ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวหน้าหนาวเราจึงเห็นขบวนรถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ส่วนบุคคล รถตู้ เรียงรายบริเวณร้านก๋วยเตี๋ยวห้อยขาบ้านจ่าโบ่ พร้อมกับนักท่องเที่ยวแอ็กชั่นถ่ายรูปคู่กับชามก๋วยเตี๋ยวบ้าง แก้วกาแฟบ้าง โดยมีทะเลหมอกอ้อยอิ่งไปจนสุดลูกหูลูกตา และเป็นอีกหมู่บ้านชาติพันธุ์หนึ่งของแม่ฮ่องสอนที่ร่วมเป็น “เครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน” (CBT-Community Based Tourism)

เครือข่ายท่องเที่ยวโดยชุมชนนี้เป็นการท่องเที่ยวชนิดที่ต้องรักษาอัตลักษณ์ของชุมชนเอาไว้ให้ได้ท่ามกลางการไหลบ่าถาโถมของการท่องเที่ยวแบบเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ที่กำลังระบาดอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวใหญ่ๆ ในประเทศไทย และกว่าจะมาหมู่บ้านท่องเที่ยวแบบ “จ่าโบ่ๆ” ได้ในวันนี้ พวกเขาก็ต้องต่อสู้ทางความคิด และผลประโยชน์ระหว่างคนในชุมชนด้วยกันเองกับความคิดและผลประโยชน์จากภายนอกอย่างมากมาย

วันนี้สมาชิกโดยส่วนใหญ่ของบ้านจ่าโบ่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ทั้งด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรมความเชื่อ ประเพณีต่างๆ ของชุมชนเอาไว้ได้ดีพอสมควร โดยเฉพาะอัตลักษณ์ด้านการแต่งกายโดยเฉพาะของผู้หญิง ซึ่งมีรายละเอียดมากกว่าการแต่งกายของผู้ชายที่มีเพียงเสื้อผ้ากำมะหยี่สีดำล้วน ผ้าหน้าไม่ติดกระดุมและกางเกงสีดำล้วน

สีสัน'สามบ้าน สามเผ่า'แห่งแม่ฮ่องสอน

แน่ล่ะ มันต่างจากเสื้อผ้าของหญิง ซึ่งเป็นเสื้อแขนยาวสีดำ (ทั้งชนิดตัวสั้นและตัวยาว) ตกแต่งด้วยผ้าที่เย็บแบบด้นถอยหลังเป็นแถบยาวสีขาวถี่ยิบ ส่วนช่วงลำตัวและแขนอาจมีการเย็บด้วยแถบผ้าสี โดยสีดำแทนหมูดำ หมูที่ชาวลาหู่เลี้ยงไว้เพื่อประกอบพิธีกรรมสำคัญ สีขาวแทนข้าวปุก ข้าวปุกจะทำด้วยข้าวเหนียวนึ่งสุกแล้วนำไปตำจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน ใช้ในพิธีกรรมเช่นกัน สีแดงแทนเลือดหมูหรือเนื้อหมูสีเหลืองแทนขี้ผึ้งหรือน้ำชา สีน้ำเงินและสีเขียวหมายถึงพืชผักที่ชาวลาหู่ดำปลูกเพื่อดำรงชีวิต สีจากความหมายดังกล่าวเป็นความยึดโยงความเชื่อที่เข้ากับวิถีการดำเนินชีวิตตั้งแต่โบราณมาจนถึงปัจจุบัน

ความละเอียดของแถบผ้าที่ปรากฏอยู่บนเสื้อของหญิงสาวชาวลาหู่ดำบ่งบอกถึงความละเอียด ความขยันอดทน และความเป็นแม่บ้านแม่เรือนของเจ้าของเสื้อแต่ละคนได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันบ้านจ่าโบ่กลายเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเมืองสามหมอกแห่งนี้ เพราะจะได้เสพทั้งวิวหลักล้านและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมการแต่งกายที่มีคุณค่า ความเป็นอยู่ ตลอดจนการบริหารจัดการด้านระบบการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่น่าสนใจ

ที่นี่มีบริการพักค้างแรมให้แก่นักท่องเที่ยวเพื่อดื่มด่ำความหนาวเย็น ทะเลหมอกทั้งยามค่ำคืนไปจนถึงช่วงสาย พร้อมอาหารพื้นบ้านแบบลาหู่ที่อร่อยอีกด้วย ซึ่งนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชนเผ่าที่น่าสนใจ ในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน ยังมีไทยใหญ่ลีซู ม้ง และอื่นๆ ให้ไปเยี่ยมชมอีก

สอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวได้ที่โทร.1672 หรือ ททท.แม่ฮ่องสอน โทร.053-612-982-3