posttoday

เที่ยวเขาชะงุ้ม อิ่มถึงบางแพ

05 มกราคม 2562

เรื่อง/ภาพ : กาญจน์ อายุ

เรื่อง/ภาพ : กาญจน์ อายุ


หลังพาไปทัวร์เมืองโอ่ง เมืองอาร์ต สองนิยามของจังหวัดเล็กๆ อย่าง “ราชบุรี” วันนี้ยังมีอีกนิยามให้เป็น “เมืองดิน” แต่แทนที่จะเป็นดินดี กลับเป็นดินมีปัญหาที่ได้รับการแก้ไขจนดี จึงน่าสนใจว่าราชบุรีเผชิญกับอะไร และแก้ปัญหาอย่างไร จนสามารถพัฒนากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อย่าง 2 แห่งนี้

เขาชะงุ้ม เขียวชอุ่ม

ไม่ต้องไปไกลถึงเขาใหญ่ ก็มาชมสวนดอกไม้ได้ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ที่ ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.เขาชะงุ้ม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ศูนย์ศึกษาฯ” ที่นอกจากจะเป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยด้านการเกษตร และเป็นแหล่งให้ความรู้แก่เกษตรกรรอบพื้นที่ ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาถ่ายรูปกลางทุ่งทานตะวัน

เที่ยวเขาชะงุ้ม อิ่มถึงบางแพ

อนุรักษ์ คลี่คลาย ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาฯ เขาชะงุ้ม กล่าวว่า ภารกิจหลักของศูนย์ศึกษาฯ คือการบำรุงฟื้นฟูที่ดินที่เสื่อมโทรม และถ่ายทอดความรู้ผ่านพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ศูนย์ศึกษาฯ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2529 เดิมทีเป็นพื้นที่ของราษฎรที่มาซื้อที่ทำฟาร์มปศุสัตว์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพ

เนื่องจากความแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วงยาวนาน 4-5 เดือน ทำให้มีปริมาณฝนน้อยและยังประสบปัญหาคนตัดไม้ทำลายป่า เนื่องจากเมื่อ 30 ปีก่อน คนเข้ามาตัดไม้ทำฟืนในพื้นที่ป่าสาธารณะแล้วนำไปขายให้อุตสาหกรรมโอ่ง ทั้งยังมีปัญหาดินเสื่อมโทรมในลักษณะของดินตื้น ดินลูกรัง บางพื้นที่ชาวบ้านเข้ามาตักลูกรังขาย ทำให้พื้นที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ซึ่งปัจจุบันได้แก้ปัญหาเปลี่ยนบ่อลูกรังเป็นบ่อน้ำ

“เมื่อขาดป่าก็ขาดน้ำ ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้ผืนดินแห้งแล้ง มีลักษณะเป็นดินตื้นที่ชั้นล่างแข็ง เมื่อฝนตกทำให้หน้าดินถูกชะล้าง ทำให้ยากต่อการเพาะปลูก นอกจากนั้นหน้าดินยังถูกตักลูกรังไปขายทำให้ผืนดินทรุดโทรม”

ผอ.อนุรักษ์ กล่าวต่อว่า ในหลวง รัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯ มาที่นี่ 3 ครั้ง ครั้งแรกคือปีที่เริ่มโครงการในปี 2529 ทรงมีแนวพระราชดำริให้ลองทำเป็นศูนย์ศึกษาขนาดย่อม ให้ลองหาวิธีการทำพื้นดินที่เสื่อมโทรมให้กลับมาทำเกษตรได้

เที่ยวเขาชะงุ้ม อิ่มถึงบางแพ

ครั้งที่สอง เสด็จฯ มาในปี 2535 ทรงมีแนวพระราชดำริเรื่องหญ้าแฝก ให้ลองใช้หญ้าแฝกในการป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและครั้งที่สาม เสด็จฯ มาในปี 2539 ทรงมีแนวพระราชดำริเรื่องป่าไม้ ที่นี่เป็นต้นแบบของการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก พระองค์มีพระราชดำรัสว่า ถ้าเราไม่ไปรังแกป่า ปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ ป่าก็จะฟื้นคืนตัวเองได้

“พระองค์ทรงแนะนำให้ใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ให้ปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวแทนคันดิน และให้ปลูกเป็นแนวครึ่งวงกลมรอบไม้ยืนต้นเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดิน นั่นเพราะหญ้าแฝกมีระบบรากที่หยั่งลึกลงไปใต้ดิน รากของพืชอื่นไม่สามารถชอนไชเข้าไปในดินที่แข็งได้ แต่รากของหญ้าแฝกได้ทำหน้าที่เบิกนำลงไปก่อนทำให้ดินเกิดช่องว่าง เวลาฝนตกลงมารากหญ้าแฝกก็สามารถดูดซับความชื้นไว้ในดินได้

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าพื้นที่ที่เกิดการชะล้างคือพื้นที่ลาดชัน เวลาฝนตกลงมาจะชะล้างตะกอนและอินทรียวัตถุไป แต่หากมีหญ้าแฝกมันจะคอยกักเก็บตะกอนไว้ และทำให้บริเวณแนวหญ้าแฝกมีความชุ่มชื้น และพระองค์ยังทรงให้รักษาป่า ถ้าปล่อยป่าทิ้งไว้เป็นระยะเวลา 30-40 ปี ป่าจะฟื้นคืนสภาพจากป่าเต็งรังเป็นป่าเบญจพรรณ นับเป็นการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก แต่ได้ปลูกต้นไม้ในใจคนแทน”

เที่ยวเขาชะงุ้ม อิ่มถึงบางแพ

พื้นที่ทั้งหมดของศูนย์ศึกษาฯ ประกอบด้วย 4 ผืน ได้แก่ พื้นที่ของราษฎร 3 ผืน ที่น้อมเกล้าฯ ถวายให้เป็นที่ของโครงการในพระราชดำริ และอีกผืนหนึ่งเป็นของมูลนิธิชัยพัฒนาจัดซื้อ รวมทั้งสิ้น 869 ไร่

สำหรับเส้นทางศึกษาดูงานหรือที่ทางศูนย์ศึกษาฯ เรียกว่า พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต มีระยะทาง 5.1 กม. นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อใช้บริการรถรางโดยมีเจ้าหน้าที่บรรยายให้ข้อมูล รถรางจะเคลื่อนผ่านป่าอันอุดมสมบูรณ์ จนคิดไม่ถึงว่าพื้นที่แห่งนี้เคยแห้งแล้ง

เจ้าหน้าที่บนรถราง กล่าวว่า นักท่องเที่ยวร้อยละ 80 เข้ามาที่ศูนย์ศึกษาฯ เพื่อมาถ่ายรูปกับทุ่งทานตะวันในช่วงปีใหม่ และมาเช็กอินอีกครั้งกับทุ่งปอเทืองในช่วงวันแม่แห่งชาติ โดยที่ไม่ทราบว่ายังมีเส้นทางพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตให้เที่ยวชมตลอดปี

“พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นพื้นที่ที่โล่งเตียน” เจ้าหน้าที่ชี้ให้ดูข้างทางที่เป็นป่ารก

เที่ยวเขาชะงุ้ม อิ่มถึงบางแพ

“เราเคยปรับแต่งพื้นที่ ทำคันดิน และปลูกต้นมะม่วงหิมพานต์ แต่ปรากฏว่าไม่สำเร็จ เพราะใต้ดินมีสภาพเป็นแม่รัง แม่รังก็คือลูกรังที่เกาะตัวแน่นจนแข็งเหมือนก้อนหินขวางการเจริญเติบโตของต้นมะม่วงหิมพานต์อยู่ ทำให้หลังปลูกไปได้ 2-3 ปี ก็ทำให้ล้มตาย เราจึงปล่อยให้ป่าคืนสภาพด้วยตัวมันเอง”

จากนั้นรถรางได้แล่นผ่านบ่อเก็บน้ำ มีที่มาที่ไปว่า บ่อแห่งนี้เป็นบ่อลูกรังขนาด 20 ไร่ เพราะการจะพัฒนาฟื้นฟูบ่อลูกรังที่ถูกขุดหน้าดินไปแล้วให้กลับมาปลูกพืชมันทำได้ยากมาก จึงต้องแก้ปัญหาตามสภาพของพื้นที่ โดยการปรับแต่งให้เป็นบ่อน้ำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นของพื้นที่โดยรวม

นอกจากนี้ ยังมีอ่างเก็บน้ำเขาชะงุ้มบริเวณตีนเขาเขียว ซึ่งเขาเขียวที่เห็นเขียวชอุ่มในอดีตเคยเป็นเขาหัวโล้น แต่ปัจจุบันได้ฟื้นคืนเป็นป่าจากตอเดิมที่เคยถูกตัดไป และยังมีสัตว์ป่าขนาดเล็กหวนคืนกลับมาอยู่อาศัยด้วย

อย่างไรก็ตาม แนวทางการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ไม่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกพื้นที่ เพราะต้องเป็นพื้นที่ที่มีโคนต้นไม้เก่าให้แตกยอด หากเป็นแปลงหญ้าโล่งเตียนก็จะไม่มีต้นตอให้เกิดใหม่ได้

ใกล้กับอ่างเก็บน้ำเขาชะงุ้มยังเป็นพื้นที่ปลูกต้นไม้ของพ่อ คือ ต้นประดู่ ที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงปลูกเมื่อปี 2539 ปัจจุบันต้นประดู่ได้โตสูงใหญ่กลายเป็นสัญลักษณ์ของป่าเบญจพรรณ และข้างๆ กันเป็นแปลงปลูกหญ้าแฝกที่พระองค์ทรงปลูกเมื่อปี 2535

เที่ยวเขาชะงุ้ม อิ่มถึงบางแพ

รถรางเคลื่อนที่ไปผ่านอุโมงค์ต้นไม้และไปจอดที่แปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งพื้นที่แห่งนี้เป็นแปลงทดลองทำเกษตรในเขตอับฝน โดยได้แบ่งสัดส่วนเป็นพื้นที่แหล่งน้ำ 30% นาข้าว 30% พืชไร่และไม้ผล 30% และที่อยู่อาศัยกับโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อีก 10%

ด้านการส่งเสริมการเกษตรยังมีแปลงทดลองปลูกไม้ผล เช่น มะม่วง กระท้อน มะเฟือง ขนุน ส้มโอ ซึ่งดินตื้นไม่เหมาะกับการปลูกไม้ผลอยู่แล้ว จึงต้องใช้วิธีเติมอินทรียวัตถุหรือดินคุณภาพดีลงในหลุมปลูกขนาด 1 ตร.ม. แปลงทดลองนี้จึงเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรในพื้นที่ว่า หากต้องการปลูกไม้ผลในดินตื้นต้องใช้ต้นทุนสูงกว่าการปลูกพืชชนิดอื่นนั่นเอง

จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ให้ข้อมูลต่อว่า แปลงตรงหน้าคือแปลงปลูกหญ้าแฝกสร้างดิน ด้วยพื้นที่บริเวณนั้นถูกขุดหน้าดินไปขายหายไปประมาณ 1 เมตร พบว่า หลังจากปลูกหญ้าแฝกทิ้งไว้ 9 ปี มีหน้าดินเพิ่มขึ้น 2.3 ซม. แสดงให้เห็นว่า การฟื้นฟูหน้าดินให้กลับคืนมาต้องใช้เวลายาวนานและทำได้ยากมาก ดังนั้นทุกคนควรรักษาสิ่งที่มีอยู่ไว้ให้ดี

รถรางจะไปจอดสถานีสุดท้ายตรงทางเข้า คือจุดเขาวงกตที่เป็นเหมือนสนามเล่นซ่อนแอบ ถ่ายรูปกลางสวนหย่อมดอกไม้ที่เพิ่งปรับใหม่บริเวณด้านหน้าทุ่งทานตะวัน เดินลอดอุโมงค์ไม้เลื้อย และถ่ายรูปแข่งกับความบานของดอกทานตะวันที่น่าจะบานเต็มที่ไปถึงวันเด็กพอดี

ทุกอย่างที่กล่าวมาเปิดให้เที่ยวชมฟรี โดยศูนย์ศึกษาฯ หวังให้นักท่องเที่ยวมาชมความสวยงามของธรรมชาติ ซึ่งในขณะเดียวกัน
อาจได้รับความรู้เรื่องวิถีเกษตรและการฟื้นฟูดินกลับไปไม่มากก็น้อย

กินกุ้งบางแพ

เที่ยวเขาชะงุ้ม อิ่มถึงบางแพ

ของดีราชบุรี (อีกอย่าง) ต้องยกให้กับ กุ้งก้ามกรามบางแพ ซึ่งแม้ว่าบ่อกุ้งจะไม่มีอะไรน่าเที่ยว แต่อยากให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการทำบ่อกุ้งที่น่าสนใจ เพราะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมประกอบ ทรัพย์ยอดแก้ว เจ้าของบ่อกุ้งคุณประกอบที่เลี้ยงกุ้งมานาน 20 ปี เล่าถึงกระบวนการทำบ่อกุ้งว่า การเลี้ยงกุ้งที่ไม่ทำให้ดินเสียคือ ต้องเลี้ยงแบบระบบสายพาน หมายความว่าคนที่มีบ่อเดียวให้ตัดสินใจไปเลยว่าจะเลี้ยงกุ้งใหญ่หรือเลี้ยงกุ้งอนุบาล

“หากเลี้ยงกุ้งอนุบาลเมื่อถึง 70 วัน ให้จับขายไปให้คนที่เลี้ยงกุ้งใหญ่ คนที่เลี้ยงกุ้งใหญ่ก็จะไม่ต้องอนุบาลใหม่ ทำให้ไม่ต้องใช้เวลาเลี้ยงนาน ของเสียในบ่อก็น้อยลง และทำให้บ่อไม่หมักหมม จากนั้นให้ล้างบ่อและตากบ่อไว้ แล้วค่อยเริ่มเลี้ยงใหม่ ซึ่งวิธีนี้จะไม่ทำให้ดินใต้บ่อเสียและยังทำให้กุ้งโตเร็วขึ้น

ส่วนคนที่มีหลายบ่อก็ให้ใช้วิธีนี้เช่นกัน เพื่อให้บ่อได้พักและป้องกันไม่ให้ของเสียสะสมที่ก้นบ่อมากเกินไป และยังเพิ่มอัตรารอดของกุ้ง จากแต่เดิมรอดเพียง 35% แต่วิธีการนี้ทำให้รอดเกือบทั้งหมด”

ปัจจุบันกุ้งบางแพเป็นของดีเมืองราชบุรี จนจังหวัดจัดงานเทศกาล “กินกุ้ง ของดีบางแพ” ช่วงกลางเดือน ธ.ค.ของทุกปี เพื่อประชาสัมพันธ์ว่า บางแพเป็นพื้นที่ผลิตกุ้งก้ามกรามที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย

เที่ยวเขาชะงุ้ม อิ่มถึงบางแพ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะไปบางแพเวลาไหนก็สามารถหาซื้อกุ้งเผา กุ้งอบ และอีกสารพัดเมนูกุ้งได้ตลอดปี เพราะที่นี่มีกุ้งก้ามกรามและกุ้งขาวไหลเวียนในตลาดตลอดเวลา ตกแต่ละเดือนบางแพสามารถผลิตกุ้งได้ถึง 145 ตัน

แม้ราชบุรีจะเคยมีปัญหาดิน ทั้งสภาพดินตื้นที่เขาชะงุ้ม และปัญหาดินเสียจากการทำบ่อกุ้งที่บางแพ แต่ตอนนี้พื้นดินถูกฟื้นฟูให้กลับมาปลูกพืช และวิธีการเลี้ยงกุ้งก็ถูกเปลี่ยนให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พลอยทำให้เห็นแต่ข้อดีของการมีดินดี ในแง่หนึ่งก็คือ ด้านการท่องเที่ยว เพราะทำให้ราชบุรีมีแหล่งท่องเที่ยวอุดมด้วยธรรมชาติ และแหล่งอาหารการกินสมบูรณ์