posttoday

โปรดขานรับ เสียงเพรียกของฮาลาบาลา

22 กันยายน 2561

ประชากร 230 คนในบ้าน “จุฬาภรณ์พัฒนา 9” ต.แม่หวาด อ.ธารโต จ.ยะลา

โดย /ภาพ : กาญจน์ อายุ
 
ประชากร 230 คนในบ้าน “จุฬาภรณ์พัฒนา 9” ต.แม่หวาด อ.ธารโต จ.ยะลา ใช้ชีวิตอยู่ใกล้ชิดป่าฮาลาบาลา มันคือสนามเด็กเล่น คือสวนหลังบ้าน คือเครื่องฟอกอากาศ คือเพื่อนยากที่อยู่ด้วยกันมานานตั้งแต่รุ่นอาม่าอากง กระทั่งตอนนี้ป่าฮาลาบาลาคือ ต้นทุนของชุมชนที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามา
 
วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวจุฬาภรณ์พัฒนา 9 เริ่มตั้งมาตั้งแต่ปี 2533 ปัจจุบันมีสมาชิก 15 คน เป็นคนกลุ่มเล็กๆ ที่เชื่อว่า การท่องเที่ยวโดยชุมชนจะช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ และเชื่อว่าในบ้านเขามีของดีให้คนต่างถิ่นเข้ามาเรียนรู้ โดยเฉพาะเพื่อนบ้านอย่าง “ป่าฮาลาบาลา” ที่สามารถสร้างเป็นเส้นทางแบบไม่เหนื่อยนัก 2 วัน 1 คืน
 
เริ่มวันแรกกับการล่องเรือกลางเขื่อนบางลาง ตัวเขื่อนอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่วนพื้นที่ป่าอยู่ในการดูแลของอุทยานแห่งชาติฮาลาบาลาและกรมป่าไม้ ชาวบ้านจะขับเรือไปตกปลามาทำเป็นอาหาร ส่วนนักท่องเที่ยวก็จะโดยสารเรือนั้นไปกับชาวบ้าน ลำละ 4-5 คน เพื่อไปชมความสวยงามของผืนป่าและผืนน้ำ
 
เขื่อนบางลางสร้างมาแล้ว 37 ปี เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกของภาคใต้ อ่างเก็บน้ำมีความจุ 1,420 ล้าน ลบ.ม. อำนวยประโยชน์ในด้านการชลประทานแก่พื้นที่เพาะปลูก 3.8 แสนไร่ ใน จ.ยะลาและปัตตานี น้ำที่ปล่อยออกมาสามารถผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ยปีละประมาณ 289 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง และยังเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่ช่วยเสริมอาชีพและรายได้แก่ราษฎรที่อาศัยอยู่ใกล้เขื่อน
 
ข้อมูลจาก กฟผ. ระบุด้วยว่า เนื่องจากการก่อสร้างเขื่อนบางลางทำให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณท้องที่ อ.บันนังสตา และ อ.ธารโต ประมาณ 1,100 ครอบครัว ต้องถูกน้ำท่วม จึงให้ความช่วยเหลือโดยจ่ายเงินค่าชดเชยที่ดินและทรัพย์สิน รวมทั้งจัดสรรที่ทำกินและที่อยู่อาศัยให้แก่ราษฎรครอบครัวละ 20 ไร่ โดยแบ่งเป็นที่อยู่อาศัย 2 ไร่ และที่เพาะปลูก 18 ไร่
 
ระหว่างล่องเรือจึงเห็นตอไม้เต็มไปหมด นั่นคือ พื้นที่ป่าเดิมที่ถูกน้ำท่วม ส่วนเกาะแก่งที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ก็คือ ยอดภูเขา การขับเรือในเขื่อนจึงต้องรู้ร่องน้ำ รู้เส้นทาง ส่วนผืนป่าฮาลาบาลาที่เห็นอยู่รอบเขื่อน หากสังเกตดีๆ อาจเจอเพื่อนอย่างฝูงลิงหางยาวตัวน้ำตาล เจ้านกอินทรีตาคมผู้โดดเดี่ยว และถ้าโชคดี
อาจเจอนกเงือกบินกลับรัง
 

โปรดขานรับ เสียงเพรียกของฮาลาบาลา

 
“เอ” จรรยวรรธ สุธรรมา นักวิจัยอิสระด้านการจัดการท่องเที่ยวชุมชน และเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก Localism Thailand เล่าให้ฟังว่า นกเงือกในประเทศไทยมีทั้งหมด 13 ชนิด เฉพาะในป่าใต้เขตบูโดและฮาลาบาลาพบ 8 ชนิด ชนิดที่พบบ่อย ได้แก่ กรามช้างปากเรียบ หัวแรด นกกก (นกกาฮัง) กาเขา และหัวหงอก
 
“เย็นนี้เราอาจเจอกรามช้างปากเรียบกับหัวแรดบินกลับรัง” เขาพูดถึงกิจกรรมสุดท้ายที่จะให้ไปนั่งรอดูนกเงือก
 
“สำหรับผมแล้วนกเงือกเป็นสัตว์พิเศษของผืนป่า เขาเป็นนักกระจายพันธุ์พืชจากการกินผลไม้และขี้ออกมา ส่วนการทำรังของนกเงือกจะเลือกโพรงไม้สูงๆ เพราะจะทำให้เขารู้สึกปลอดภัย หากตัวเมียมีลูกเขาจะอยู่ในโพรงตลอดเวลา แล้วให้ตัวผู้ออกไปหาอาหาร โดยตัวเมียจะสลัดขนทิ้งเพราะขนจะให้ความอบอุ่นแก่ลูก และยังเป็นการระบายความร้อนให้ตัวเขาเอง เพราะภายในโพรงอากาศจะอบอ้าว แต่แม้ว่าแม่นกเงือกจะเฝ้าลูกตลอดเวลาและเลือกโพรงไม้ที่อยู่สูงมากๆ ก็ยังไม่วายถูกมนุษย์ “ล้วงลูก” ไปขาย โดยเฉพาะในเขตป่าบูโดถือเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์นกเงือกมากที่สุด”
 
แต่ก่อนที่จะไปนั่งทอดน่องดูนกเงือก เรือได้ไปจอดเทียบท่าอยู่ใต้ผืนป่าซึ่งเป็นประตูทางเข้าสู่ “ต้นไม้ใหญ่” ต้องเดินเท้าเข้าป่าข้ามลำธารประมาณ 15 นาที โดยมีไกด์ท้องถิ่น “หลิงปิง” ชนะ แซ่อู๋ เป็นผู้นำเดิน ป่าฮาลาบาลาเป็นป่าดงดิบชื้นผืนสุดท้ายที่ใหญ่ที่สุดที่ยังเหลือในแผ่นดินขวานทอง ครอบคลุม 2 จังหวัดคือ 4 อำเภอในนราธิวาส และ 3 อำเภอในยะลา
 
ดังนั้น ป่าที่เห็นอยู่รอบเขื่อนบางลางเป็นเพียงแค่ชายขอบ ลองคิดถึงใจกลางป่าที่ไม่มีรอยเท้ามนุษย์คงมีแต่ความอุดมสมบูรณ์
 
แน่นอนว่าเส้นทางเดินป่าดิบชื้นจะร้อนเหนอะหนะ ดินแฉะชุ่ม และเป็นที่อยู่ของทาก เส้นทางไปโอบต้นไม้ใหญ่ก็เป็นประมาณนั้น แต่เพราะระหว่างทางสวยงามจนลืมคิดว่า ตัวเองรู้สึกอย่างไร? กระทั่งไปถึงจุดที่เรียกว่า ต้นไม้ใหญ่ (จริงๆ ระหว่างทางก็ผ่านต้นไม้ใหญ่มาหลายต้น) มันคือสมญานามของ “ต้นสมพง”
 

โปรดขานรับ เสียงเพรียกของฮาลาบาลา

 
ทว่าสมพงต้นนี้ยิ่งใหญ่หลายคนโอบแต่ไม่งดงาม เพราะตัวหนังสือที่ถูกจารึกบนลำต้นจากคนมือบอนที่เขียนชื่อประจานความมักง่าย ทำลายความงาม ทำร้ายธรรมชาติ จนรู้สึกผิดหวังกับมนุษย์ และรู้สึกผิดต่อต้นสมพง สิ่งที่ทำได้คือ เข้าไปโอบกอดและขอโทษแทนทุกลายมือที่กรีดกินเนื้อ และภาวนาอย่าให้เจอคนใจร้ายและไร้วิจารณญาณเข้ามาเพิ่มบาดแผลอีกเลย
 
ความรู้สึกตอนเดินกลับกลับตาลปัตรจากขามา ความคิดทั้งหมดยังอยู่หน้าต้นไม้ เหมือนได้ยินเสียงร้องไห้แว่วออกมา
 
จากนั้นเสียงสตาร์ทเครื่องดังอีกครั้ง คราวนี้หัวเรือมุ่งหน้าสู่ฐาน ตชด. บนเนินเขาฝั่งตรงข้าม ไปเกยหาดทรายกว้างซึ่งเป็นจุดรอดูนกเงือก หลิงปิงบอกว่า คนที่มาที่นี่ 80 เปอร์เซ็นต์ได้เห็นนกเงือก แต่วันนั้นโชคไม่ดีกลายเป็นอีก 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่รู้สึกเสียเที่ยว เพราะการได้นั่งนิ่งๆ มองหมอก ฟังเสียงลม สูดกลิ่นป่า นั่นก็เพียงพอแล้ว
 
 เรือแล่นกลับหมู่บ้าน คืนนี้นักท่องเที่ยวจะได้กินอาหารฝีมือชาวบ้านและนอนในรีสอร์ทชุมชน อาคารที่พักมี 3 หลัง รับได้ทั้งหมด 32 คน หรือสามารถเลือกนอนโฮมสเตย์อีก 2 หลังก็เป็นตัวเลือกที่จะได้ใกล้ชิดกับชาวบ้านมากกว่าเดิม
 
 ระหว่างมื้ออาหารได้พูดคุยกับ “เจ๊หงส์” โชติกา โศจิศิริกุล หรือ เสี่ยวหงส์ แซ่เหว่ย ประธานกลุ่มการท่องเที่ยวชุมชน บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 9 ถึงอดีตของผืนป่าฮาลาบาลาที่เคยถูกปกคลุมด้วยกลิ่นอายของการต่อสู้ระหว่างทหารไทยกับแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ซึ่งเจ๊หงส์เคยเป็นแนวร่วมมาก่อน
 
“พ่อแม่ของดิฉันเป็นคนจีนมาเลเซีย แต่ดิฉันเกิดอินโดนีเซีย จากนั้น 15 ปีต่อมาได้ไปอยู่เมืองจีน และอีก 10 ปีหลังจากนั้นก็ย้ายมาอยู่เมืองไทย ชีวิตของดิฉันไม่ค่อยหยุดอยู่กับที่เท่าไร ไม่ค่อยอยู่บนแผ่นดินไหนนานๆ แต่สุดท้ายได้มาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย ได้สัญชาติไทย มีชีวิตเหมือนคนทั่วไป จนรู้สึกว่าเวลานี้ดิฉันเป็นคนไทยแล้ว”
 

โปรดขานรับ เสียงเพรียกของฮาลาบาลา

 
เมื่อย้อนกลับไปเมื่อ 29 ปีที่แล้ว เจ๊หงส์และสหายในค่ายอีกหลายคนตัดสินใจตั้งรกรากอยู่ในไทย จัดตั้งเป็นหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 9 โดยปีแรกที่ออกจากป่าเธอไม่มีเงินติดตัวสักบาท แต่โชคดีที่รัฐบาลไทยจัดสรรที่ดินให้ครอบครัวละ 15 ไร่พร้อมบ้าน 1 หลัง และให้สัญชาติไทยแก่ทุกคน
 
“ในสมัยก่อนไม่ว่าคอมมิวนิสต์ไปอยู่ที่ไหน ยกเว้นประเทศจีนที่เป็นคอมมิวนิสต์ ก็มักจะเป็นศัตรูกับประเทศนั้น อย่างเราไปอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ หรือสิงคโปร์ ถ้าเขารู้ว่าเราเป็นคอมมิวนิสต์ก็จะถูกจับและถูกกำจัด ในไทยก็เช่นกัน เราเคยต่อสู้กับทหารไทย เพราะต่างคนต่างมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกัน แต่สุดท้ายเราก็กลายเป็นมิตรกัน และได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ในเมืองไทย”
 
ถามเจ๊หงส์ถึงประสบการณ์ภายในค่ายว่าเป็นอย่างไร “สำหรับดิฉันแล้วมันเป็นประสบการณ์ที่ดี” เจ๊หงส์ตอบ
 
“เพราะความเป็นอยู่ภายในค่ายปลูกฝังให้ดิฉันมีจิตอาสา เพราะทุกคนในค่ายต้องใช้ชีวิตอย่างเอื้อเฟื้อ พอมีอะไรต้องแบ่งปัน หรือเมื่อใครมีปัญหาก็ต้องเข้ามาช่วยเหลือ และเป็นการช่วยเหลือโดยที่ไม่หวังผลตอบแทน”
 
เธอกล่าวด้วยว่า “ในตอนแรกที่รัฐบาลไทยให้อดีตคอมมิวนิสต์มลายาสร้างบ้านอยู่ที่นี่ ความคิดแรกของดิฉันคือ เขาอยากให้เราอยู่ที่นี่จริงๆ หรือ หรือแค่อยากคุมตัวเราไว้ เพราะดิฉันผ่านสงครามมา ดิฉันเคยเห็นคนที่ถูกหลอกให้อยู่เพื่อที่จะควบคุมเหมือนอยู่ในคุกที่ไม่มีอิสรเสรี แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจ ดิฉันก็ตัดสินใจอยู่ที่นี่ และในตอนนี้ดิฉันคิดว่าได้ตัดสินใจถูกแล้ว ไม่ผิดจริงๆ ซึ่งทุกคนในหมู่บ้านก็พยายามที่จะเรียนภาษาไทยให้มากที่สุด จนถึงตอนนี้ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไทยแล้ว”
 
ถามต่อว่า ตอนนี้มีการท่องเที่ยวเข้ามาในหมู่บ้านแล้ว เจ๊หงส์รู้สึกอย่างไร เธอตอบทันทีเลยว่า “ดีใจ” เพราะจะได้ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ของชุมชนผ่านการท่องเที่ยว
 

โปรดขานรับ เสียงเพรียกของฮาลาบาลา

 
“นอกจากธรรมชาติรอบหมู่บ้าน สิ่งที่สำคัญกว่าคือประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยวก็สามารถเข้ามาสืบทอดประวัติศาสตร์ของเรา คนในชุมชนเองได้เล่าสืบต่อ และคนนอกชุมชนก็ได้รับรู้ ต่อไปนี้เราก็ต้องพัฒนาให้เด็กรุ่นใหม่รู้ว่าเราเป็นใคร เราผ่านอะไรมา เด็กยุคปัจจุบันที่ไม่เคยใช้ชีวิตในป่าก็จะเข้าใจรากเหง้าและประวัติศาสตร์ของตัวเอง และการท่องเที่ยวชุมชนยังเป็นรายได้เสริมของชุมชน เพราะการท่องเที่ยวต้องใช้คนจัดการเยอะ ทั้งดูแลอาหาร ที่พัก ที่เที่ยว รถยนต์ ล่องเรือ ดังนั้นทำให้ชาวบ้านได้ประโยชน์มาก เป็นรายได้เพิ่มเติมจากการทำสวนยางพารา ซึ่งเวลานี้ราคาไม่ดีเลย”
 
เจ๊หงส์กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้คือ ต้องสร้างเด็กรุ่นใหม่ให้มีจิตอาสา และต้องเป็นจิตอาสาที่ดี เธอพยายามทำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนี้ให้ใหญ่ขึ้น โดยการชักชวนเด็กรุ่นใหม่ให้เข้ามา เพราะอย่างน้อยพวกเขาก็จะอยู่ในสายตา และมีคนคอยชี้นำแนวทางที่ดีให้โตมาเป็นคนดีของสังคม
 
ส่วนการเดินทาง 2 วัน 1 คืน ยังไม่จบเพียงเท่านี้ และการเดินป่าก็ยังไม่จบอยู่แค่ 15 นาที เพราะรุ่งเช้าวันต่อมา หลิงปิงจะพาขึ้นไปชมทะเลหมอกบน “ผาหินโยก”
 
ทางขึ้นอยู่ริมถนนเข้าหมู่บ้าน ต้องให้คนท้องถิ่นชี้เป้าเท่านั้นถึงจะเห็น โดยเส้นทางเคยเป็นสวนยางพาราเก่า ปัจจุบันก็ยังเห็นมีถุงพลาสติกรองน้ำยางอยู่ แต่โดยรอบรกไปด้วยหญ้าและพื้นเขะขะไปด้วยถุงพลาสติก ยิ่งเสริมพลังความลื่นจากดินที่นุ่มลื่นอยู่แล้วให้ไถลง่ายกว่าเดิม โดยเป็นเส้นทางชันขึ้นอย่างเดียว ใช้เวลาเดินประมาณ 20 นาทีถึงผาหินโยก
 
หลิงปิงเล่าว่า ทะเลหมอกมีทุกวันในตอนเช้า ถ้าคืนไหนฝนตกจะยิ่งอลังการและยิ่งลื่นกว่าเดิม ที่มาของชื่อผาหินโยกก็กล่าวตามหินก้อนใหญ่ที่อยู่บนหน้าผา เพราะมันสามารถโยกไหวได้หากถูกดันด้วยแรงที่มากพอ และหากยังมีแรงเดินไหวก็สามารถไต่หินไปยังจุดชมวิวอีกชั้น บนนั้นจะเห็นวิวกว้างกว่าเพราะเป็นยอดสูงสุด นั่งพักขา หายใจเข้าลึกๆ เก็บเกี่ยวอากาศบริสุทธิ์ ทอดหุ่ยมองทะเลหมอกบนยอดป่าฮาลาบาลา ทิ้งเวลาให้เดินไปอย่างช้าๆ จนได้ยินเสียงท้องร้องหาอาหารเช้าก็ค่อยเดินลง
 
ไกด์หนุ่มเล่าว่า เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยว 138 คน “ดูจำนวนอาจไม่เยอะ แต่เรารับเท่าที่เรารับไหว” เขากล่าว โดยร้อยละ 80 คือ คนกรุงเทพฯ และคนส่วนใหญ่มาเที่ยวแค่ 1 คืน ทางกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนจึงมีราคาสำหรับ 2 วัน 1 คืน แต่ในเร็วๆ นี้ จะขยายเส้นทางให้เป็น 3 วัน 2 คืน เพื่อให้นักท่องเที่ยวสัมผัสวิถีชีวิตบ้าน 9 อย่างเต็มที่ และถ้าใครชอบเดินป่าก็จะได้รู้จักป่าฮาลาบาลามากกว่าเดิม
 
ยะลาเป็นจังหวัดเดียวในภาคใต้ที่ไม่มีอาณาเขตติดกับทะเล แต่ยะลามีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอย่างป่าฮาลาบาลา และชุมชนท่องเที่ยวที่เข้มแข็งอย่าง บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 9 ซึ่งนอกจากจะมีผืนป่า ยังมีชาวบ้านที่สร้างความอบอุ่นจนไม่นึกว่าที่นี่เป็นที่อื่น นอกจากบ้านตัวเอง