posttoday

อากาศดี อารมณ์ดี ‘สกาดดี’

30 มิถุนายน 2561

คนน่านรู้จัก “ตำบลสกาด” จากใบเมี่ยง แต่สำหรับคนกรุงเทพฯ แค่ชื่อก็ไม่เคยได้ยิน

เรื่อง/ภาพ : กาญจน์ อายุ

คนน่านรู้จัก “ตำบลสกาด” จากใบเมี่ยง แต่สำหรับคนกรุงเทพฯ แค่ชื่อก็ไม่เคยได้ยิน

ต.สกาด อยู่ใน อ.ปัว จ.น่าน เป็นดินแดนบนยอดเขา ถิ่นชาวลั๊วะ ผู้มีอาชีพขายใบเมี่ยงมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่ปัจจุบันเริ่มมีคนรุ่นใหม่กลับไปพัฒนาบ้านเกิดทั้งในแง่เกษตร อาชีพ และการท่องเที่ยว

คนที่เป็นตัวตั้งตัวตีคือ ชัยยินดิ์ สุมทุม เจ้าของ สกาดดี โฮมสเตย์ วัย 33 ปี ที่ได้ลาออกจากอาชีพครูโรงเรียนเอกชนกลับบ้านมาเปิดโฮมสเตย์ และจัดสรรกิจกรรมท่องเที่ยวโดยไม่เปลี่ยนแปลงชุมชน เมื่อเดือน ต.ค.ปีที่ผ่านมา

“โฮมสเตย์ตรงนี้ไม่ได้ตั้งใจทำเป็นธุรกิจ แต่ผมเป็นคนที่ชอบประดิษฐ์ ชอบออกแบบ เลยเล่นใหญ่ไปถึงการสร้างบ้าน ปรากฏว่ามีเพื่อนมาพักเยอะ เวลาใครมาก็จะกดเช็กอินที่สกาดดี โฮมสเตย์ ซึ่งเป็นชื่อที่ผมตั้งมาตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว โดยลักษณะคนที่มาพักจะเป็นลูกบ้านมากกว่าลูกค้า และมีผมเป็นเจ้าบ้านพาไปเดินป่า ขึ้นเขา

ประกอบกับน้องชาย “จักษ์” ปลูกกาแฟและมีชื่อเสียงในวงการกาแฟน่านอยู่แล้ว เราเลยเปิดเป็นเส้นทางกาแฟให้คอกาแฟเดินป่าตามหาต้นกาแฟและดริปกาแฟกลางป่า ซึ่งคนที่เข้ามาจะเป็นคนลุยๆ อยู่กับธรรมชาติได้อยู่แล้ว พวกเขาจึงไม่ต้องการโรงแรม แต่ต้องการแค่ที่พักที่สะอาดและปลอดภัย”

บ้านของชัยยินดิ์รับนักท่องเที่ยวได้ 3 ห้อง และเขาได้ต่อเติมห้องพักเล็กๆ อีก 1 ห้อง ด้วยน้ำพักน้ำแรงและเงินทุนหลักหมื่นของตัวเอง

“ผมจะเน้นเรื่องการท่องเที่ยวมากกว่า” เขากล่าวต่อ

อากาศดี อารมณ์ดี ‘สกาดดี’

“เพราะผมเองเป็นคนชอบเดินป่า ตื่นเช้ามาผมจะพาเดินไปตามถนนเส้นเล็กๆ ในหมู่บ้านประมาณ 2 กิโลครึ่ง ซึ่งเป็นเส้นทางที่ผมและชาวบ้านทุกคนใช้เป็นปกติ แต่สำหรับนักท่องเที่ยวเขาชอบเรียกว่าที่นี่ยังดิบอยู่ เพราะสองข้างทางเป็นจุดชมวิวได้หมด

เห็นต้นไม้ใบหญ้าตลอด และไม่ต้องกลัวว่าจะหลงทาง เพราะคนที่นี่น่ารักมาก เขาจะเห็นเราเป็นญาติเป็นลูกเหมือนอย่างที่ผมรู้สึก แต่สำหรับใครที่ไม่อยากทำอะไรก็สามารถอยู่บ้านเฉยๆ ได้เพราะบ้านสกาดของเราอากาศดีตลอดปี เวลาใครมาก็ชอบอยู่นิ่งดื่มด่ำบรรยากาศไปเรื่อยๆ”

สำหรับเส้นทางท่องเที่ยวแบ่งเป็น3 เส้นทาง เส้นทางแรกคือ ทริปกาแฟ โดยเขายกให้เป็นความรับผิดชอบของน้องชายที่ปลูกและทำกาแฟขาย เขาเล่าว่า เป็นทริปที่น่าสนใจมาก เพราะเมื่อพูดถึงทริปกาแฟบางคนอาจนึกถึงแค่การขึ้นไปจิบกาแฟบนดอย แต่ที่สกาดมันมากกว่าจินตนาการ เพราะบนไร่กาแฟเป็นจุดที่สวยงามมาก สามารถมองเห็นดอยภูคาฝั่งตรงข้าม และรอบตัวจะถูกล้อมด้วยไร่กาแฟและภูเขา ทุกอย่างจะผสมปนกันเป็นอีกโลกหนึ่งที่คอกาแฟหลงรัก

ไร่กาแฟจักษ์กะพัฒน์ อยู่ห่างจากสกาดดี โฮมสเตย์ ประมาณ 4 กม. ต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อขับขึ้นไป โดยจะใช้เวลาบนไร่กาแฟ 2-3 ชั่วโมง ในการศึกษากระบวนการต่างๆ ของกาแฟ ดริปกาแฟ และจิบกาแฟ

อากาศดี อารมณ์ดี ‘สกาดดี’

“ถ้าไปในช่วงฤดูเก็บผลแดงหรือเชอร์รี่ประมาณเดือน ธ.ค.-ก.พ. จะเป็นช่วงที่น่าเที่ยวมาก โดยเฉพาะหลังปีใหม่เป็นต้นไป เพราะไม่ต้องไปแย่งกับใครและอากาศจะหนาวแบบไม่มีฝน”

อีก 2 เส้นทางคือ ทริปขึ้นเขาลงห้วย นักท่องเที่ยวสามารถเลือกได้ว่าจะขึ้นเขาหรือลงห้วย หากขึ้นเขา ชัยยินดิ์ จะพาไปเดินป่าพิชิตยอดดอยภูหวดที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,427 เมตร

“ดอยภูหวดเป็นดอยที่สวยมาก มียอดแหลมเหมือนหวดข้าว สมัยก่อนตอนที่ผมเป็นเด็กๆ ยอดดอยจะโล้นเตียนหมดเพราะชาวบ้านปลูกข้าวไร่และข้าวโพดกันมานานหลายชั่วอายุคน แต่ช่วงหลังๆ เริ่มเปลี่ยนเป็นสีเขียวเพราะมีการปลูกต้นสน และเมื่อไม่มีการทำไร่ทำให้ต้นไม้กลับมาปกคลุม

ตอนนี้เส้นทางเดินป่าจึงกลายเป็นป่าทึบหนา คนที่เดินก็จะเจอกับทาก กับแมลง เป็นเรื่องปกติ ด้านบนจะมีพืชท้องถิ่นให้เห็นอย่างต้นเกาลัดไทย หรือที่ท้องถิ่นเรียกว่า มะก่อ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่รักษาน้ำใต้ดินไว้ และคอยรักษาต้นน้ำด้านบนไว้ด้วย มันเลยเป็นเส้นทางที่ไม่ร้อนแต่เหนื่อยแน่ ใช้เวลาไปและกลับประมาณ 5 ชั่วโมง เหมาะแก่การเดินขึ้นไปกินข้าวเที่ยงข้างบนและดริปกาแฟดื่มยามบ่าย ก่อนจะเดินลงกลับมาพักที่บ้าน”

สำหรับทริปลงห้วยจะเดินป่าไปเจอน้ำตก แม่น้ำปัว (แม่น้ำที่หล่อเลี้ยงชาว อ.ปัว) และแม่น้ำกอน (แม่น้ำที่เลี้ยงชาวเชียงกลาง) และจะได้เรียนรู้ป่า กินอาหารกลางวันกลางป่า ดูการจับปลาด้วยแหติดปลายไม้ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า มอง จากฝีมือนายพรานตัวจริง

อากาศดี อารมณ์ดี ‘สกาดดี’

ต.สกาด มีประชากรร้อยละ 70 เป็นชาวลั๊วะ อีกส่วนหนึ่งเป็นคนพื้นเมือง ส่วนชัยยินดิ์เป็นลูกครึ่ง เพราะคุณตาเป็นคนลั๊วะ ส่วนคุณยายเป็นคนเมือง ซึ่งแม้ว่าเขาจะไปทำงานที่อื่นนาน 7 ปี แต่ทั้งชีวิตของหนุ่มวัย 33 ปี ก็รู้จักสกาดเป็นอย่างดี โดยทุกครั้งที่มีนักท่องเที่ยวมา เขาจะเล่าถึงประวัติศาสตร์ของใบเมี่ยง ซึ่งเป็นสินค้าการเกษตรที่คนน่านรู้จัก แต่ไม่ใช่กับนักท่องเที่ยว

“ประวัติศาสตร์ของใบเมี่ยงถูกบันทึกไว้ในจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ ข้างๆ ภาพกระซิบรักจะมีภาพบรรพบุรุษของคนลั๊วะอยู่ เป็นภาพที่วาดขึ้นเมื่อ 200 กว่าปีที่แล้ว แสดงให้เห็นว่า วัฒนธรรมการเคี้ยวเมี่ยงของคนภาคเหนือมีมาเป็นร้อยๆ ปี” เขาชี้ให้ดูลายสกรีนบนเสื้อยืดที่คัดลอกลายมาจากวัดภูมินทร์

ใน ต.สกาด มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1.5 แสนไร่ โดยมีประมาณ 1 แสนไร่ เป็นพื้นที่เขาหัวโล้นที่ชาวบ้านใช้ทำไร่ข้าวโพด แต่พื้นที่ที่เหลือนั้นเป็นป่าและปลูกเมี่ยง

“ถามว่าทราบได้อย่างไรว่าคนในภาพเป็นคนลั๊วะ เป็นเพราะว่าในน่านมีชาติพันธุ์อยู่ 14 ชาติพันธุ์ ทุกชาติพันธุ์มีวัฒนธรรมการทอผ้า ยกเว้นคนลั๊วะ แต่คนลั๊วะจะใช้การแลกเปลี่ยนด้วยเมี่ยงเพื่อได้เสื้อผ้ามา นอกจากนี้ชาติพันธุ์อื่นๆ จะมีที่มาว่าอพยพมาจากดินแดนอื่นใด แต่คนลั๊วะนั้นเรียกได้ว่าเป็นคนป่าซึ่งก็ไม่น่าน้อยใจ เพราะนั่นหมายความว่าเราเป็นคนที่นี่หรือคนถิ่นนั่นเอง”

อากาศดี อารมณ์ดี ‘สกาดดี’

ชัยยินดิ์ กล่าวด้วยว่า ต.สกาด ปลูกเมี่ยงกว่า 2 หมื่นไร่ เขาชี้ให้ดูป่ารอบบ้านที่เห็นเป็นเพียงผืนป่าใหญ่ แต่ใต้ต้นไม้ใหญ่นั้นมีเมี่ยงปลูกอยู่ทั้งหมด โดยชาวบ้านจะเก็บใบเมี่ยงไปนึ่งแล้วมัดเป็นปึกขาย แต่ในหลายพื้นที่อย่างอินเดียจะเก็บยอดไปทำชาเรียกว่า ชาอัสสัม

“ปัจจุบันคนเคี้ยวเมี่ยงลดน้อยลง ทำให้ขายได้น้อยลง และอนาคตของเมี่ยง 2 หมื่นไร่ที่สกาดจะเป็นยังไงต่อไป ถ้าไม่มีคนเคี้ยวเมี่ยงแล้ว ผมเลยพยายามที่จะนำใบเมี่ยงมาทำผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งจริงๆ แนวคิดในการต่อยอดเมี่ยงมีมานาน มีนักวิชาการส่งเสริมหลายหน่วยงานเข้ามาหลายครั้ง แต่ผมคิดว่าอะไรที่พัฒนาจากบนลงล่างมักไม่ค่อยได้ผล เพราะชาวบ้านไม่สานต่อ และคนท้องถิ่นไม่เอาด้วย ผมเลยลุกขึ้นมาทำเอง แปรรูปใบเมี่ยงเป็นทอฟฟี่เมี่ยงผสมผลไม้กวน ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนทดลอง ทั้งลองทำลองกิน ลองขาย ลองตลาด เพื่อหาทางออกว่าควรต่อยอดเมี่ยงไปในทิศทางไหนจะดีที่สุด”

เขาอธิบายเพิ่มว่า ต้นเมี่ยงจะขึ้นในพื้นที่ที่ไม่โดนแดดมาก จึงไม่จำเป็นต้องโล่งเตียน และต้นไม้ใหญ่จะทำให้ดินชุ่มน้ำช่วยให้ต้นเมี่ยงเติบโตได้ในฤดูแล้ง ที่สำคัญคือ เมี่ยงเป็นพืชที่ไม่ต้องดูแลมาก และสามารถเก็บยอดได้ทั้งปี อย่างทุกวันนี้ชาวสกาดใต้ยังเก็บเมี่ยงขายทุกหลังคาเรือน กิโลกรัมละ 8-20 บาท แล้วแต่ฤดูกาล

นอกจากเมี่ยงที่ขึ้นอยู่ในป่าหลังบ้าน ในรอบรั้วบ้านของชาวสกาดยังมักปลูกขิงพันธุ์พื้นเมืองไว้ใช้ประกอบอาหาร เขาจึงลองนำขิงไปตากแห้ง เพิ่มความหวานด้วยหญ้าหวาน และสร้างจุดเด่นด้วยการผสมเปลือกฝางลงไป ทำให้มันกลายเป็นน้ำขิงสีชมพู

อากาศดี อารมณ์ดี ‘สกาดดี’

“ผมเห็นขิงดอยอื่นปลูกเป็นขิงหยวกที่นำไปกินกับแหนม เป็นขิงที่มีรสชาติเผ็ดนิดๆ แต่สำหรับขิงที่บ้านสกาดนี่เผ็ดมาก ทั้งเผ็ด ทั้งหอม เป็นขิงที่ชาวบ้านไม่ปลูกขาย แต่ปลูกไว้กินเองรอบบ้าน ทำให้ผมหาซื้อขิงทั้งดอยมาได้แค่ 30 กิโลกรัม ทำเป็นขิงตากแห้งบรรจุซองพร้อมดื่มลองขายในเพจ ปรากฏว่ามีออร์เดอร์เข้ามาเยอะมากจนไม่พอขาย

ผมเลยไปขอให้ชาวบ้านปลูกขิงแล้วจะรับซื้อทั้งหมด ชาวบ้านที่นี่อะไรที่ปลูกแล้วขายได้ เขาจะปลูก ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึงไม่ย่อท้อต่อการปลูกข้าวโพด แต่เบื้องหลังการทำน้ำขิง ผมไม่ได้ทำเพื่อหวังรวย แต่ทำไปเพราะอยากต่อยอดพืชในท้องถิ่น ทำให้คนน่านรู้จักสกาดมากกว่าแค่เมี่ยง และทำให้คนไทยได้ยินชื่อสกาดมากขึ้น”

ชัยยินดิ์ กล่าวย้ำอีกครั้งว่า นิยามของสกาดดี โฮมสเตย์ ไม่ใช่รีสอร์ทหรือโรงแรม แต่เป็นโฮมสเตย์ขนาดเล็กที่สามารถต้อนรับเพื่อนๆ ในจำนวนจำกัด “ครั้งละไม่เกิน 15 คน” ส่วนบรรยากาศให้นึกถึงภาพว่ากำลังไปเที่ยวบ้านเพื่อนต่างจังหวัด หรือการเข้าค่ายลูกเสือ

กิจกรรมเดินป่าขึ้นเขาลงห้วยต้องเจอกับความลำบากแน่นอน และการบริการบางอย่างต้องดูแลตัวเอง แต่ความสวยงามของธรรมชาติและอากาศที่ดีเกือบตลอดทั้งปีจะเป็นสิ่งที่คุ้มค่าเกินราคาแน่นอน

“ผมเป็นคนท้องถิ่น ผมไม่รู้หรอกว่าเรามีอะไรดี แต่พอเราไปอยู่ที่อื่นแล้วมองเข้ามาปรากฏว่า เราเห็นสิ่งที่ที่อื่นไม่มี” เขากล่าวทิ้งท้าย

กลายเป็นเหตุผลว่าทำไมอาจารย์ชัยยินดิ์ถึงลาออกจากอาชีพที่มั่นคง มาเปิดโฮมสเตย์ที่บ้านเกิด และใส่แนวคิดสมัยใหม่เข้าไปพัฒนาสิ่งที่อยู่ในท้องถิ่นให้มีมูลค่าและคุณค่า ภายใต้ความระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะดำรงไว้ซึ่งธรรมชาติและวิถีชีวิตของชาวบ้านบนดอยในแบบที่ทุกคนภูมิใจและควรจะเป็น