posttoday

Japan Origin 7

13 พฤษภาคม 2561

สัปดาห์นี้เรายังคงวนเวียนกันอยู่ในเรื่องความเชื่อและศาสนาของแดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้

สัปดาห์นี้เรายังคงวนเวียนกันอยู่ในเรื่องความเชื่อและศาสนาของแดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้ ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินกันมาบ้างว่า คนญี่ปุ่นจำนวนมากไม่สามารถระบุได้ว่าตัวเองนับถือศาสนาอะไร เพราะในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นนั้นเข้าออกทั้งวัดและศาลเจ้าโดยไม่มีการแบ่งแยกศาสนา แต่ถ้าไปย้อนดูอดีตก็พออนุมานได้ว่าศาสนาชินโตเป็นศาสนาประจำชาติของประเทศญี่ปุ่น และเชื่อว่าท่านที่เคยไปญี่ปุ่นคงได้ไปเยี่ยมชมศาลเจ้าชินโตมาแล้วบ้าง วันนี้เรามาทำความรู้จักกับศาสนาชินโตเพิ่มเติมกันอีกสักนิด เผื่อรอบหน้าไปเที่ยวจะได้เข้าใจมากขึ้นครับ

Japan Origin 7

ชินโต &&1070;&&6947; มาจากอักษรจีนสองตัว คือ เชน ซึ่งแปลว่า เทพเจ้า และ เต๋าที่แปลว่า วิถีทาง รวมกันแล้วมีความหมายว่า วิถีแห่งเทพ ชาวญี่ปุ่นนับถือเทพเจ้าที่สถิตอยู่ในธรรมชาติจำนวนนับไม่ถ้วน ก่อนศตวรรษที่ 6 มีบันทึกแสดงชาติกำเนิดของคนญี่ปุ่นที่เชื่อกันว่าสืบเชื้อสายมาจากเทพเจ้าหรือคามิในภาษาญี่ปุ่น ทำให้คนญี่ปุ่นมีประเพณีบูชาบรรพบุรุษและดำเนินชีวิตโดยการนำทางของเทพเจ้า จนเมื่อเข้าสู่สมัยเมจิจึงได้มีการรวบรวมคำสอนและพิธีกรรมของศาสนาชินโตทั่วทุกศาลเจ้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยยึดถือพิธีกรรมของราชวงศ์เป็นหลัก และนักบวชชินโตมีหน้าที่ประกอบพิธีกรรมเท่านั้น ประชาชนทุกคนถือเป็นสาวกเรียกว่า Kokka Shintou (ชินโตที่เป็นของชาติ) ต่อมาหลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพสัมพันธมิตรได้ประกาศยุบศาสนาชินโตแห่งชาติเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2488 แต่เว้นไว้ซึ่งศาสนาชินโตของราษฎรเนื่องจากไม่มีกิจกรรมเกี่ยวกับสงคราม และยังคงอนุญาตให้ประกอบพิธีกรรมได้ตามศรัทธา ศาสนาชินโตจึงถูกยกเลิกจากการเป็นศาสนาประจำชาติของญี่ปุ่นไปตั้งแต่ตอนนั้น

Japan Origin 7

รู้จักศาสนาชินโตกันพอสังเขปแล้ว ลองมารู้จักบางสิ่งในศาลเจ้ากันบ้าง ศาลเจ้าชินโตในภาษาญี่ปุ่นมีอยู่หลายคำ เช่น จินจะ ไทฉะ จิงงู ขึ้นอยู่กับความสำคัญของเทพที่สถิต สิ่งแรกที่เป็นเอกลักษณ์และภาพจำสำหรับเราชาวต่างแดนก็คงจะเป็นเสาซุ้มประตูแบบญี่ปุ่นตรงทางเข้าเรียกว่า โทริอิ ที่ตั้งไว้เพื่อบ่งบอกอาณาเขตอันศักดิ์สิทธิ์ของศาลเจ้าชินโต คำว่า โทริอิ มีความหมายว่า ที่ของนก มาจากหลายความเชื่อ แต่ที่ดูจะใกล้เคียงที่สุดก็คงเป็นตำนานเทพีอะมะเทระสึที่งอนเพื่อนเทพจนไปหลบอยู่ในถ้ำ จวบจนได้ยินเสียงไก่ขันจึงเปิดปากถ้ำโผล่หน้าออกมาดู เสาโทริอิ (โทริ แปลว่า นก หรือไก่ก็ได้) จึงมีนัยของการอัญเชิญเทพเจ้านั่นเอง ก่อนเข้าประตูโทริอิตามธรรมเนียมเราต้องโค้ง 90 องศา เพื่อแสดงความเคารพ เวลาเดินผ่านประตูไม่ควรเดินตรงกลางเพราะเป็นช่องทางสำหรับเทพเจ้า มนุษย์อย่างเราทานพลังเทพไม่ได้ควรเดินด้านข้าง เมื่อผ่านเสาโทริอิไปตามทางก็สังเกตเห็นศาลเล็กๆ หรือก้อนหินสลักทำให้สงสัยว่ามันคืออะไร สอบถามจากผู้ประสานงานชาวญี่ปุ่นได้ความว่า ในความเชื่อของศาสนาชินโต ธรรมชาติทุกอย่างมีเทพสถิต ไม่เพียงเฉพาะสิ่งใหญ่โตอย่าง ภูเขา ท้องฟ้า ผืนดิน มหาสมุทร เท่านั้น แต่ธรรมชาติรอบตัวอย่าง ก้อนหิน ต้นไม้ ลำธาร ก็มีเทพองค์เล็กๆ สถิตอยู่เช่นกัน ดังนั้นเราจึงมักจะพบเจอศาลเล็กๆ ตามรายทางที่คนญี่ปุ่นสร้างไว้เพื่อบูชาเทพองค์เล็กเหล่านั้น และเมื่อโอกาสอำนวยก็จะมีการปรึกษากันว่าควรเลือกเทพเล็กๆ ท่านไหนมาโปรโมท ในตอนแรกก็จะทดลองสร้างศาลสถิตให้ใหญ่ขึ้นมาหน่อยแล้วรอดูผลตอบรับจากชาวบ้านว่าเป็นอย่างไร หากเป็นที่นิยมมากก็จะขยับขยายเป็นศาลเจ้าใหญ่เหมือนที่เราเห็นกันตามที่ต่างๆ นั่นเอง ดังนั้นขนาดของศาลเจ้าจึงขึ้นอยู่กับการนับถือและศรัทธาของชาวบ้านด้วยเช่นกัน

Japan Origin 7

เมื่อเข้าไปยังบริเวณอาคารศาลเจ้า เรามักจะเห็นเจ้าหน้าที่ชายใส่ชุด Hakama เป็นชุดลำลองที่ใส่ทำงานภายในศาลเจ้า ที่สะดุดตาคือเสื้อด้านบนเป็นสีขาวเหมือนกันหมด แต่กางเกงฮากามะ มีทั้งสีม่วง ฟ้า แดง แตกต่างกันไป ด้วยความอยากรู้จึงต้องหาคำตอบจนได้ความว่า กางเกงฮากามะเป็นตัวบ่งบอกสถานะหรือตำแหน่งหน้าที่ โดยระดับนักบวชชนชั้นพิเศษที่เป็นผู้ดูแลศาลเจ้าหรือที่ปรึกษาอาวุโสของศาลเจ้าจะสวมกางเกงสีขาวลายดอกฟูจิ รองผู้ดูแลศาลเจ้าจะสวมกางเกงสีม่วงผ้ามันวาวลายดอกฟูจิสีขาว นักบวชอาวุโสผู้บริหารศาลเจ้าจะสวมกางเกงสีม่วงลายดอกฟูจิสีม่วงอ่อน ผู้จัดการศาลเจ้าจะสวมกางเกงสีม่วงไม่มีลาย และนักบวชระดับเจ้าหน้าที่จะสวมกางเกงสีฟ้าน้ำทะเล และที่เตะตานักท่องเที่ยวมากที่สุดคงเป็นหญิงสาวสวมฮากามะและกางเกงแดงที่เรียกกันว่า มิโกะ

ใครที่ชื่นชอบมังงะและอนิเมะ หรือมีความสนใจในวัฒนธรรมญี่ปุ่น คงต้องรู้จักมิโกะอย่างแน่นอน ภาพลักษณ์ของมิโกะที่เราเข้าใจคือหญิงสาวผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง มีหน้าที่สื่อสารกับเทพเจ้าในศาสนาชินโต แต่ทราบหรือไม่ว่าปัจจุบัน มิโกะ เป็นอาชีพหนึ่งในญี่ปุ่น มีทั้งแบบเป็นพนักงานประจำและแบบพาร์ตไทม์โดยมีเงินเดือนหรือค่าจ้างเหมือนพนักงานบริษัท และการเป็นมิโกะในปัจจุบันไม่ได้เคร่งครัดเหมือนในอดีต แต่อย่างน้อยต้องมีคุณสมบัติดังนี้ ผมสีดำเท่านั้นและต้องมีหางม้ายาว 30 ซม.ขึ้นไป นับจากตำแหน่งที่มัดผม ห้ามใส่ต่างหูและ เครื่องประดับ ห้ามทาเล็บและไว้เล็บยาว ที่สำคัญคือต้องโสด หากคิดจะแต่งงานก็ต้องลาออกจากการเป็นมิโกะ ในอดีตคุณสมบัติข้อนี้ระบุถึงขนาดที่ว่า ต้องถือพรหมจรรย์ด้วยซ้ำ หน้าที่ของมิโกะมีตั้งแต่กวาดพื้น จัดทำเครื่องรางและจำหน่าย แสดงการร่ายรำ (มิโกะไม) และร่วมประกอบพิธีกรรม

Japan Origin 7

และสิ่งหนึ่งที่คนญี่ปุ่นมักจะไม่พลาดเมื่อไปศาลเจ้า คือการเช่าเครื่องรางกลับบ้าน เครื่องรางญี่ปุ่นแบ่งตามลักษณะได้ 2 แบบคือ โอะฟุดะ เป็นกระดาษขาวที่ห่อแท่งไม้ ใช้ในการปกปักรักษาคนในสถานที่ที่ตั้งไว้ จึงนิยมไว้ในบ้านเพื่อปกปักรักษาคนในบ้านจากสิ่งไม่ดี หรือไว้ในบริษัทเพื่อปกป้องพนักงาน หรือกรณีที่เป็นเครื่องรางนำพาโชคลาภก็นิยมตั้งไว้ตรงหน้าประตูทางเข้า อีกแบบคือโอะมาโมริ เป็นถุงเล็กๆ หลากสีที่เรานิยมเช่ากลับมาเป็นของฝากหรือพกเป็นเครื่องรางติดตัว มีหลากหลายสรรพคุณ ทั้งเครื่องรางสุขภาพ เครื่องรางสอบผ่าน เครื่องรางคลอดลูกปลอดภัย เครื่องรางขับรถปลอดภัย เครื่องรางค้าขาย เครื่องรางโชคดี เครื่องรางความรัก เป็นต้น จะเห็นได้ว่าเครื่องรางญี่ปุ่นจะเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันมากกว่าเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ และที่ต้องจำคือพลังของเครื่องรางจะหมดลงเมื่อครบหนึ่งปี ให้นำกลับไปคืนยังศาลเจ้าที่เช่ามา และควรคืนด้วยความรู้สึกขอบคุณ เราจึงเรียกว่าการเช่าไม่ใช่การซื้อ คนญี่ปุ่นมักนิยมเช่าเครื่องรางในช่วงปีใหม่ เพื่อเริ่มต้นสิ่งใหม่และนำสิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต ดังนั้นศาลเจ้าญี่ปุ่นในช่วงต้นปีจะแน่นมาก จึงต้องจ้างมิโกะพาร์ตไทม์เพิ่มเติมมาเพื่อช่วยงานในช่วงนั้น