posttoday

เที่ยววัดป่าดาราภิรมย์ และพิพิธภัณฑ์พระราชชายาเจ้าดารารัศมี

22 เมษายน 2561

โครงการฝรั่งในล้านนา ยังมีอีกหลายตอน เพราะในเชียงใหม่มีทั้งเรื่องฝรั่งและเรื่องล้านนา

โดย สมาน สุดโต

โครงการฝรั่งในล้านนา ยังมีอีกหลายตอน เพราะในเชียงใหม่มีทั้งเรื่องฝรั่งและเรื่องล้านนา เช่น เรื่องที่เสนอวันนี้เป็นเรื่องชาวล้านนาล้วนๆ เมื่อกลุ่มแปลและเรียบเรียงสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร นำคณะไปไหว้พระ ณ วัดป่าดาราภิรมย์ พระอารามหลวงชั้นตรี และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ ตั้งอยู่ที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยทั้งสองแห่งมีความสัมพันธ์กันทั้งชื่อและสถานที่

วัดป่าดาราภิรมย์

เที่ยววัดป่าดาราภิรมย์ และพิพิธภัณฑ์พระราชชายาเจ้าดารารัศมี

 ก่อนจะเป็นวัดนั้น พระอาจารย์มั่นภูริทตฺโต เคยมาปักกลดบำเพ็ญภาวนาบริเวณที่เคยเป็นป่าช้า ที่อยู่ใกล้สวนเจ้าสบายของพระราชชายา จนถึง พ.ศ. 2481 คณะพุทธบริษัทกลุ่มหนึ่งมีความเลื่อมใสศรัทธา จึงพร้อมใจกันสร้างเสนาสนะ มีกุฏิและศาลา ถวายแก่พระกรรมฐานโดยได้ตั้งชื่อวัดว่า “วัดป่าวิเวกจิตตาราม”

กระทั่งปี พ.ศ. 2484 ทายาทของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี มีเจ้าหญิงลดาคำ ณ เชียงใหม่ เป็นหัวหน้าได้น้อมถวายที่ดินจำนวน 6 ไร่ อันเป็นเขตพระราชฐาน คือ สวนเจ้าสบาย ให้แก่วัด เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแก่พระราชชายาเจ้าดารารัศมี และพร้อมใจกันถวายนามให้แก่วัดใหม่ว่า “วัดป่าดาราภิรมย์”

 อุโบสถล้านนา

เที่ยววัดป่าดาราภิรมย์ และพิพิธภัณฑ์พระราชชายาเจ้าดารารัศมี

ศาสนสถานที่โดดเด่นของวัดหลวงล่าสุดของเชียงใหม่แห่งนี้ ได้แก่ พระอุโบสถ ที่รวมศิลปะล้านนาไว้ ตั้งแต่หน้าบันที่เป็นลวดลายเครือเถาล้านนา ล้อมรอบดาว 3 ดวง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ประตู หน้าต่าง แกะสลักด้วยลวดลาย
ล้านนา ลงรักปิดทอง มีพญานาค 3 คู่ สิงห์ 1 คู่เทวาดา 1 คู่ ความงามของอุโบสถได้เป็นแบบอย่างให้รัฐบาลนำไปสร้างหอคำหลวงในงานพืชสวนโลก เชียงใหม่

เมื่อผู้เขียนและคณะ นำโดย ประนอม คลังทอง รองอธิบดีกรมศิลป์ เข้าไปชมในพระอุโบสถ และกราบพระสยัมภูโลกนาถ ซึ่งเป็นพระประธานนั้น พบว่า พระประธาน ซึ่งประดิษฐานในโขงที่งดงามนั้น ถูกบดบังด้วยพระพุทธรูป และสิ่งบูชาอื่นๆ ที่อยู่ด้านหน้าจำนวนมาก จนแจกแจงไม่ได้ว่าอะไรเป็นอะไร

ภายในอุโบสถที่กว้างใหญ่นั้น นอกจากประดิษฐานพระรูปพระราชชายาเจ้าดารารัศมีแล้ว ยังเป็นที่เก็บ ที่กองอาสนสงฆ์ และอื่นๆ อีกมาก ไม่รู้ว่าท่านต้องการให้พระอุโบสถเป็นที่เก็บสัมภาระ เป็นที่สวดมนต์ภาวนา หรือเป็นที่ประกอบสังฆกรรม กันแน่

ส่วนบริเวณวัดที่ใหญ่โตโอฬารนั้น เต็มไปด้วยถาวรวัตถุต่างๆ ดูแล้วประเทืองศรัทธา แต่ไม่ประเทืองปัญญา ยกเว้นต้นไม้พูดได้ ที่เกิดจากการเขียนคติธรรมติดไว้

นอกจากที่ศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว ยังมีศาลที่สร้างใหม่ เพื่อประดิษฐานพระบรมรูปหล่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 และพระรูปหล่อพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ด้วย

พระตำหหนักพระราชชายา

เที่ยววัดป่าดาราภิรมย์ และพิพิธภัณฑ์พระราชชายาเจ้าดารารัศมี

จากวัดป่าดาราภิรมย์ ก็มายังพระตำหหนักพระราชชายา ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ อยู่ในความดูแลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พระราชชายาเจ้าดารารัศมี เป็นเจ้าหญิงในราชวงศ์ทิพย์จักร ผู้มีบทบาทสำคัญต่อการรวมล้านนาเข้ากับสยาม โดยการถวายตัวเป็นสนมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีบทบาทในการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนา ขณะเสด็จมาประทับที่พระตำหนักแห่งนี้เมื่อ พ.ศ. 2457 หลังจากรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต

พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงเป็นพระธิดาของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 ประสูติจากแม่เจ้าทิพเกสร เมื่อวันอังคาร เดือน 10 เหนือ (ตรงกับเดือน 8 ใต้) วันที่ 26 ส.ค. 2416 ที่คุ้มหลวงกลางเมืองเชียงใหม่ สิ้นพระชนม์ วันที่ 9 ธ.ค. 2476 ณ คุ้มรินแก้ว สิริพระชันษา 60 ปี 3 เดือน 13 วัน พระอัฐิบรรจุที่สุสานหลวงวัดราชบพิธ กรุงเทพมหานคร และกู่ วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่

ขณะที่ดำรงตำแหน่งพระสนมนั้นได้สร้างปรากฏการณ์หลายอย่างในพระบรมมหาราชวังซึ่งเป็นที่ประทับ กล่าวคือทรงนำขนบธรรมเนียมประเพณีล้านนามาปฏิบัติ เช่น โปรดนุ่งผ้าซิ่น ไว้ผมยาว เกล้ามวย ทรงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวเหนืออย่างเคร่งครัด

ส่วนพระตำหนักดาราภิรมย์ สร้างขึ้นหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงย้ายกลับมาประทับที่เชียงใหม่ แต่มิได้ทรงใช้พระตำหนักหลังนี้เพื่อเป็นที่พำนักเท่านั้น หากแต่ใช้เป็นศูนย์ปฏิบัติการทั้งด้านการเกษตรและศิลปวัฒนธรรม และการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วย

เที่ยววัดป่าดาราภิรมย์ และพิพิธภัณฑ์พระราชชายาเจ้าดารารัศมี

ทรงสร้างสวนทดลองการเกษตร ชื่อ“สวนเจ้าสบาย” เนื่องจากทรงสนพระทัยในการเกษตรและทรงหวังที่จะช่วยการกสิกรรมของภาคเหนือ ทรงทดลองปลูกดอกกุหลาบพันธุ์ใหม่ๆ ที่ทรงได้มาจากสมาคมกุหลาบแห่งอังกฤษที่ทรงเป็นสมาชิก และพันธุ์ที่โปรดที่สุดเป็นกุหลาบดอกใหญ่สีชมพู กลิ่นหอมเย็น จึงทรงตั้งชื่อถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบรมราชสวามีว่า “จุฬาลงกรณ์”

พิพิธภัณฑ์เปิดให้ประชาชนชม 19 ปี แล้ว แต่อ่อนประชาสัมพันธ์ จึงเป็นที่รู้จักกันน้อย ดังนั้น จึงบอกต่อว่ามีพิพิธภัณฑ์ ที่ อ.แม่ริม น่าศึกษามาก โดยเฉพาะวัฒนธรรมชาวล้านนาชั้นสูง เปียโนที่พระราชายาทรงโปรด และกุหลาบจุฬาลงกรณ์ เปิดวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 9.00-17.00 น. สอบถามข้อมูลได้ที่โทร.053-299-175