posttoday

Japan Origin 4

22 เมษายน 2561

สัปดาห์นี้ขอเริ่มจากการแนะนำของดีประจำสัปดาห์กันก่อนเป็นอันดับแรก นั่นก็คือ Yuzu

สัปดาห์นี้ขอเริ่มจากการแนะนำของดีประจำสัปดาห์กันก่อนเป็นอันดับแรก นั่นก็คือ Yuzu หรือส้มยูซุ หลายท่านคงแปลกใจทำไมถึงเฉลยกันง่ายๆ ไม่ต้องบุกป่าฝ่าดงไปตามหาเหมือนหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเลยเหรอ คืออย่างนี้ครับ เจ้าส้มยูซุนี่มันไม่ใช่ของแปลกพิสดารหายากอะไรเลย พบเห็นได้ในตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตทุกหนแห่ง แต่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังส้มยูซุคือการเดินทางไปพบเรื่องราวที่น่าสนใจ จึงอยากนำมาถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกันเรื่องราวดีๆ แบบนี้ และที่สำคัญคือมันเหมาะจะนำมาปรับใช้กับบ้านเราเป็นอย่างยิ่งครับ

จากสัปดาห์ที่แล้วเราอยู่กันที่เมืองอิโนะ ทางตอนกลางของจังหวัดโคจิ วันนี้เราตื่นกันแต่เช้าเพื่อเดินทางข้ามไปยังฝั่งตะวันออกของจังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่การทำเกษตรปลูกส้มยูซุกัน ยูซุเป็นพืชในเขตอบอุ่น มีเปลือกหนาสีเหลือง รสชาติออกเปรี้ยวเหมือนกับมะนาว ผิวเปลือกมีน้ำมันกลิ่นหอมช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย น้ำมันยูซุยังมีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตได้ดีอีกด้วย ในหนึ่งปีสามารถเก็บส้มยูซุได้เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้นคือในช่วงเดือน พ.ย.

การดูแลตั้งแต่ออกดอกจนกว่าจะเก็บผลผลิตได้นั้นใช้เวลากันถึง 6 เดือนเลยทีเดียว แต่ถึงกระนั้นจังหวัดโคจิก็ยังสามารถผลิตได้มากเป็นอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 51% ของผลผลิตรวมทั้งหมดในประเทศ เจ้าส้มยูซุจึงได้ชื่อว่าเป็นผลไม้เศรษฐกิจและเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดโคจิอีกด้วย เมื่อรู้จักกับส้มยูซุพอหอมปากหอมคอกันแล้ว มาพบเรื่องราวดีๆ ของส้มยูซุแห่งหมู่บ้านอุมะจิ กับความเป็นมาที่น่าประทับใจและเชื่อว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆ คนกันครับ

Japan Origin 4

บริเวณแถบตะวันออกของจังหวัดโคจิมีภูมิประเทศเป็นชายฝั่งทะเลที่อยู่ติดกับภูเขาสูง อันเป็นแหล่งของป่าสนพันธุ์ดีที่สุดของประเทศญี่ปุ่น Yanase Cedar ที่มีประวัติอันยาวนาน คนญี่ปุ่นใช้ไม้ชนิดนี้ก่อสร้างสถานที่สำคัญมากมายในญี่ปุ่น เช่น วัดบุคโคจิ ปราสาทนิโจ ที่เกียวโต ปราสาทเอโดะ และอีกหลายต่อหลายแห่ง  เนื่องจากเป็นไม้คุณภาพสูงที่มีความหนาแน่น มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว และออกสีชมพู ถือเป็นไม้สนที่ดีที่สุดในประเทศ ทำให้บริเวณฝั่งตะวันออกของจังหวัดโคจินั้นเป็นถิ่นของอุตสาหกรรมทำไม้ มีความรุ่งเรืองและมั่งคั่ง และเกิดเส้นทางรถไฟขนไม้ตั้งแต่ปลายสมัยเมจิ ซึ่งหมู่บ้านอุมะจิก็เป็นหนึ่งหมู่บ้านที่เจริญรุ่งเรืองจากการพึ่งพิงอุตสาหกรรมป่าไม้สนในช่วงนั้นเช่นเดียวกัน

หมู่บ้านอุมะจิแห่งนี้แฝงตัวอยู่ท่ามกลางป่าในหุบเขาลึก สมัยก่อนการจะเดินทางเข้าออกหมู่บ้านนี้ได้ก็ต้องอาศัยเพียงม้าเท่านั้น ชื่อของหมู่บ้าน Umaji ที่แปลว่า เส้นทางม้า ก็มาจากข้อจำกัดนี้เอง จุดเด่นอีกอย่างของหมู่บ้านแห่งนี้คือ วัฒนธรรมการเรียกชื่อของคนในหมู่บ้าน ปกติคนญี่ปุ่นจะเรียกชื่อกันด้วยนามสกุล ที่คุ้นๆ หูก็อย่างเช่น Takahashi (สะพานสูง) Tanaka (กลางทุ่งนา) Yamada (ภูเขาและทุ่งนา) Nakamura (กลางหมู่บ้าน) แต่ที่หมู่บ้านแห่งนี้เขาเรียกชื่อตัว (First name) ไม่เรียกชื่อสกุล (Family name) เหมือนที่อื่น

เพราะเชื่อว่าเป็นการสร้างความเท่าเทียมและให้ความรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนมมากกว่าเดิมอุมะจิเป็นหมู่บ้านอุตสาหกรรมทำไม้โดยการพึ่งพาภาครัฐเพียงอย่างเดียว จนมาถึงถึงยุคตกต่ำที่สุดในปี ค.ศ. 1980 เมื่อบริษัททำไม้ล้มละลาย ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดของหมู่บ้าน จึงต้องหาหนทางใหม่ เช่น การแปรรูปไม้เป็นผลิตภัณฑ์อื่นแล้วส่งออกไปขายยังต่างประเทศ ตลอดจนการก่อสร้างออนเซนในหมู่บ้านเพื่อทดแทนอุตสาหกรรมป่าไม้ที่ร่วงโรยไป รวมถึงการส่งเสริมการปลูกส้มยูซุด้วย จริงๆ แล้วส้มยูซุเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยนาราประมาณปี ค.ศ. 797 ซึ่งนำมาจากทางตอนเหนือของแม่น้ำแยงซีเกียงในประเทศจีน แต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น

Japan Origin 4

แต่ในช่วงตกต่ำของอุตสาหกรรมไม้นั้นเองที่ทางรัฐบาลมีการสนับสนุนให้พื้นที่ทางตะวันตกของประเทศปลูกส้มยูซุขึ้น อย่างไรก็ตามเพราะการส่งเสริมกันอย่างกว้างขวางในหลายจังหวัดทางภาคตะวันตกของญี่ปุ่น จึงทำให้เกิดภาวะล้นตลาด เศรษฐกิจของหมู่บ้านยิ่งหดตัวลงไปอีก ทำให้คนในหมู่บ้านพบว่าการทำอะไรตามคนอื่นนั้นไม่ใช่หนทางแห่งความสำเร็จ ดังนั้นเมื่อเข้าตาจนจึงดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ต้องเรียนรู้วิธีการทำธุรกิจอย่างมืออาชีพ เมื่อผลผลิตเยอะแต่มีตลาดไม่เพียงพอ ทางหมู่บ้านจึงสร้างตลาดขึ้นมาเองโดยไม่พึ่งพารัฐหรือพ่อค้าคนกลาง

เกิดการตั้งสหกรณ์การเกษตรแห่งหมู่บ้านอุมะจิเพื่อเป็นตลาดกลางรองรับผลผลิตของทุกครอบครัว กลยุทธ์คือการขายตรงเพื่อทำกำไรสูงสุด โดยเน้นการติดต่อตรงระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรหมู่บ้านอุมะจิมีลูกค้ามากถึง 3.5 แสนรายทั่วโลก ไม่เพียงแต่เท่านั้น สหกรณ์ยังได้สร้างโรงงานผลิตภายใต้แบรนด์ ยูซุโนะโมริ (หมู่บ้านยูซุ) เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ภายใต้แบรนด์ของหมู่บ้านและส่งขายไปทั่วประเทศ มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายไม่ว่าจะประเภทของกินอย่าง เครื่องปรุงอาหาร อาทิ ยูซุโคโช น้ำจิ้มพอนสึ น้ำส้มปรุงรส ผงยูซุรสเผ็ด เครื่องดื่มน้ำส้มยูซุพร้อมดื่ม หรือของหวาน อาทิ แยม เจลลี่ ไอศกรีม และไม่หยุดเพียงของกินเท่านั้น

ยังมีการวิจัยพัฒนาสินค้าให้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง เช่น สกินแคร์ โฟมล้างหน้า เซรั่มบำรุงผิวหน้า และอีกมากมาย ซึ่งคนในหมู่บ้านเชื่อว่าการวิจัยและพัฒนาสินค้าทุกชนิดนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำอยู่เสมอ จึงทำให้หมู่บ้านอุมะจิมีผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างหลากหลาย สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้อีกอย่างคือความทันสมัย ถึงหมู่บ้านแห่งนี้จะอยู่ในป่าท่ามกลางหุบเขา แต่ก็ทันสมัยไม่ปฏิเสธเทคโนโลยี มีโฮมเพจสำหรับขายผลิตภัณฑ์และเผยแพร่ข่าวสารไปได้ทั่วโลก ปัจจุบันสหกรณ์หมู่บ้านอุมะจิไม่เพียงแค่เลี้ยงดูหมู่บ้านตัวเองได้เท่านั้น ยังเป็นศูนย์กลางตลาดขายตรงที่รับผลผลิตส้มยูซุของหมู่บ้านอื่นในละแวกเดียวกันมาจำหน่ายให้อีกด้วย

Japan Origin 4

ถึงรสชาติของส้มยูซุจะไม่ได้อร่อยที่สุดในบรรดาผลไม้ประเภทเดียวกัน เพราะยังมีส้มชนิดอื่นที่อร่อยกว่าส้มยูซุซึ่งมีเพียงรสเปรี้ยวและกลิ่นหอม แต่เรื่องราวตลอดการเดินทางครั้งนี้ กลับเพิ่มสีสันและรสชาติของส้มยูซุแห่งหมู่บ้านอุมะจิ ให้เปล่งประกายมากขึ้นกว่าเดิมอีกร้อยพันเท่า จากผลไม้ธรรมดาที่หาได้ดาษดื่น กลายมาเป็นตำนานแห่งการต่อสู้และเอาชนะอุปสรรคได้โดยไม่ท้อถอย ที่สำคัญที่สุดคือ การพึ่งพาตัวเอง ตรงนี้แหละครับที่ผมว่าบ้านเราควรนำมาเป็นกรณีศึกษา เพราะหากมัวแต่พึ่งพาภาครัฐ เราก็ไม่อาจหลุดพ้นจากกับดักความเคยชิน รอคอยความหวังอย่างเดียว แต่หากเรารวมพลังและพึ่งพาตนเอง ความสำเร็จที่ได้รับ จะยิ่งใหญ่และภาคภูมิ เหมือนที่หมู่บ้านอุมะจิแห่งนี้ครับ