posttoday

แห่ยักษ์ พักแก่ง แห่งอำนาจอุบล

21 เมษายน 2561

ไม่แน่ใจว่าจะเรียกว่า น่ายักษ์ หรือน่ารัก เพราะบรรดายักษ์ในชานุมานต่างน่ารักน่าชัง มิมีตนไหนน่าเกรงขามเหมือนในตำนานสักคน

โดย /ภาพ : กาญจน์ อายุ

ไม่แน่ใจว่าจะเรียกว่า น่ายักษ์ หรือน่ารัก เพราะบรรดายักษ์ในชานุมานต่างน่ารักน่าชัง มิมีตนไหนน่าเกรงขามเหมือนในตำนานสักคน

ตำนานยักษ์คุ อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ เล่าขานสืบต่อกันมาว่า เมื่อครั้งพระลักษมณ์ พระราม และนางสีดาเดินดง ยักษ์ทศกัณฐ์มาแย่งตัวนางสีดาไปขังที่ท่าน้ำริมลำน้ำโขง (ต่อมาเรียกบริเวณดังกล่าวว่า ท่านางสีดา)

ฝ่ายทศกัณฐ์เกรงว่า พระลักษมณ์ พระราม จะได้ยินเสียงนางสีดาร้องไห้ เลยพานางสีดาเหาะข้ามแม่น้ำโขงไปขังไว้ที่ปราสาทเฮือนหินซึ่งอยู่ตรงข้ามบ้านท่ายักษ์คุ อ.ชานุมาน ปัจจุบันคือบ้านเฮือนหิน แขวงสะหวันนะเขต  สปป.ลาวนั่นเอง

ครั้นพระลักษมณ์ พระราม รู้ข่าวจึงตามไปที่นั่นและได้ทำการสู้รบกับยักษ์ทศกัณฐ์ในขณะที่ม้าตัวเก่งของพระรามกระโดดเตะปราสาทเฮือนหินจนตัวปราสาทพัง ยักษ์ผู้ชายสู้กันกับพระลักษมณ์ พระราม นางสีดา ก็แอบหลบออกมาแต่งหน้าแต่งตารอพระราม เกาะที่นางสีดามารอพระรามเรียกเกาะดอนสีนวดหรือดอนชะโนด รบไปรบมาจนมาถึงฝั่งขวาแม่น้ำโขง ทศกัณฐ์เป็นฝ่ายแพ้จึง “คุกเข่า” ร้องขอชีวิตพระลักษมณ์ พระราม และบริเวณที่ยักษ์คุกเข่านั่นเองคือที่มาของยักษ์คุ กลายมาเป็นยักษ์คุในปัจจุบัน

แห่ยักษ์ พักแก่ง แห่งอำนาจอุบล ความยิ่งใหญ่ของหน้าผาหินที่ถูกกระแสน้ำกัดเซาะจนเป็นลวดลาย

 

เมื่อวันที่ 7-9 เม.ย. 2561 จ.อำนาจเจริญ จัดงาน “แห่ยักษ์ พักแก่ง ชมเมือง เล่าเรื่องชานุมาน” ขบวนแห่ยักษ์คุตั้งขบวนแห่ยืดยาวหลายหมู่บ้าน หลายหน่วยงาน จากงานชุมชนแสนธรรมดา บัดนี้เปลี่ยนเป็นงานใหญ่ระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งหน้าเป็นยักษ์มาเป็นประธานเปิดงาน

องค์ของขบวนแห่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ประติมากรรมยักษ์คุตัวเขื่อง นั่งคุกเข่าพนมมือ แต่จะหน้าตาดุดันหรือน่ารักก็แล้วแต่จินตนาการของแต่ละหมู่บ้านที่ร่วมกันสร้างขึ้นมา รวมทั้งอาหารและผลไม้ที่ล้วนคัดไซส์ใหญ่ยักษ์เพื่อเป็นตัวแทนอาหารของยักษ์นั่นเอง

รวมทั้งยังสวยงามไปด้วยบรรดานางรำแต่งหน้าเป็นนางยักษ์ ตั้งแถวฟ้อนรำอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งใบหน้าของนางยักษ์นั้นไม่มีเขี้ยวยาวให้เด็กกลัวโดนจับกิน แต่จะแต่งคิ้วและปากให้มีลวดลายอย่างยักษ์ในละครจักรๆวงศ์ๆ จึงยังดูสวยงามชวนมอง และยังเห็นรอยยิ้มแลแววตาที่ฉายแววสนุกสนาน

เสียงดนตรีจากลำโพงใหญ่หลังรถกระบะเปล่งเสียงเพลงภาษาอีสาน เป็นจังหวะและทำนองให้นางรำแถวตอนลึกเต้นเป็นจังหวะเดียวกัน โดยปีหลังๆ มานี้ทางจังหวัดจัดการประกวดเต้น ทำให้ชุดนางรำและท่าฟ้อนรำยิ่งดูสวยงาม

ทุกขบวนจะเดินไปสิ้นสุดที่ที่ว่าการอำเภอชานุมาน นางรำของทุกหมู่ทุกหน่วยตั้งแถวเรียงเต็มสนามหญ้า สีสันของเสื้อผ้าทำให้ตระการตา และยิ่งตื่นตามากกว่าเมื่อทุกคนรำเพลงเดียวกันแต่คนละท่าทางตามที่ฝึกซ้อมมา ทำให้เป็นภาพความคึกคักแบบอีสานแท้ที่มองแล้วหยุดขยับสะโพกตามไม่ได้

จากตำนานกลายเป็นงานวัฒนธรรมที่ชาวชานุมานเฝ้ารอ โดยต้นเดือน เม.ย.ของทุกปี เด็กๆ ลูกหลานบ้านชานุมานจะทราบกันดีว่า จะได้แต่งหน้ายักษ์และจูงมือพ่อแม่ออกไปเที่ยวงานครึกครื้น

แห่ยักษ์ พักแก่ง แห่งอำนาจอุบล ความอลังการของสามพันโบก

 

จ.อำนาจเจริญ อยู่ห่างจาก จ.อุบลราชธานี 75 กม.แต่หลังงานยักษ์คุเสร็จสิ้นสามารถท่องเที่ยวเชื่อมโยงไปยัง อ.นาตาล และ อ.โพธิ์ไทร ที่อยู่ตรงรอยต่อระหว่างจังหวัด ซึ่งบริเวณนั้นมีแหล่งท่องเที่ยวโด่งดังอย่างหาดชมดาว และสามพันโบก

สำหรับ “หาดชมดาว” ชื่อระบุไว้ชัดเจนว่าที่นี่เป็นสถานที่ชมดาว แต่ก็ไม่ผิดหวังและน้อยหน้าถ้าจะไปยามเช้าให้เป็นหาดชมตะวัน

ตี 5 ล้อหมุนไปดูพระอาทิตย์ขึ้นที่หาดชมดาว หรือแก่งหินงาม (ที่เดียวกัน) ตรงปากทางเข้ามีรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อให้บริการเขียนระบุไว้ว่า “จากจุดนี้ไปถึงหินชมนภาระยะทาง 1,200 เมตรโดยประมาณ ทางเลือกที่ไม่ต้องเดินไกล มีรถรับจ้างและคนนำทาง 300 บาท/1 เที่ยว ไป-กลับ” พร้อมรูปประกอบเป็นภาพกองหินรูปทรงแปลกตาตั้งตระหง่าน จนต้องเข้าไปสอบถามและตกปากรับคำขึ้นรถไปชม

สำหรับคนที่ไม่อยากพลาดชมพระอาทิตย์ขึ้น เพราะเดินช้าและไม่รู้ว่าเส้นทางหินต้องเดินไปทางใด การเช่ารถกระบะมาส่งก็ถือเป็นไอเดียที่สมควร เพราะจากจุดที่ลงรถ เดินต่อไปอีกหน่อยจะเจอหินชมนภา ลักษณะเป็นหินทรงกลมขนาดมหึมาตั้งอยู่ในน้ำด้วยพลังของธรรมชาติ เป็นแลนด์มาร์คของหาดชมดาวที่จะงดงามมากในช่วงเช้า เพราะแสงแดดอ่อนสีส้มจะอาบหินทั้งก้อนเป็นสีทอง ขับลวดลายการกัดเซาะของสายน้ำโขงบนหินแกร่งให้เด่นชัด ทำให้คิดถึงฮอร์สชู เบนด์ (Horseshoe Bend) จุดชมโค้งน้ำรูปเกือกม้ากลางทะเลสาบที่
สหรัฐอเมริกา สถานที่ที่นักท่องเที่ยวและช่างภาพทั่วโลกต้องไปเยือน

สำหรับหาดชมดาวหรือแก่งหินนภาแห่งนี้ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่น แต่กำลังเป็นขวัญใจช่างภาพทั่วไทย ด้วยแลนด์สเคปของหินเกาะ แก่ง กลางแม่น้ำโขงที่มีหลุม มีบ่อ และรูปทรงหินแปลกตา ซึ่งสามารถเดินลงไปถ่ายได้ง่ายดายกว่าสามพันโบก จึงชวนให้หามุมจนลุ่มหลงในความแปลกประหลาดที่ธรรมชาติมอบให้ แต่ละคนจะได้มุมได้เหลี่ยมต่างกันไปและแต่ละวันหินก้อนเดิมก็สวยต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเฉดแสงที่ตะวันมอบให้ทำให้ไม่ว่ามากี่ครั้งก็ไม่น่าเบื่อเสียเลย

หากตั้งใจมาถ่ายดาวให้สมกับชื่อหาดชมดาว ต้องมาคืนเดือนมืดช่วงกลางดึกประมาณตี 1ถึงตี 3 เพื่อดักถ่ายช้างเผือกกลางนภา และถ้าใจรักก็อยู่ต่อยาวๆ ถึงช่วงพระอาทิตย์ขึ้น จะได้ชมทั้งดาวและตะวันในทีเดียว

จากหาดชมดาวสามารถท่องเที่ยวต่อไปยัง“สามพันโบก” แลนด์มาร์คชื่อดังของ จ.อุบลราชธานี ที่จะสวยงามเป็นอย่างยิ่ง 2 ช่วง คือพระอาทิตย์ขึ้นและตก แต่หากเลือกไม่ได้ต้องมาสามพันโบกช่วงกลางวันก็ต้องเตรียมร่ม หมวก ทาครีมกันแดด และพกน้ำเปล่าไปด้วย
เพราะเกาะแก่งหินกลางแม่น้ำโขงไม่มีต้นไม้ให้หลบร่มแม้แต่ต้นเดียว

แห่ยักษ์ พักแก่ง แห่งอำนาจอุบล นั่งเหม่อท่ามกลางแนวหินสวย

 

ตั้งแต่ปากทางเดินลงจะมีเด็กเดินมาถามว่า อยากได้ไกด์เยาวชนพาชมหรือไม่ พร้อมทิ้งท้ายว่าพวกหนูไม่คิดเงิน แล้วแต่พี่จะให้ เด็กๆ เป็นลูกหลานของพ่อค้าแม่ขายบริเวณนั้นที่มาหาค่าขนมช่วงปิดเทอม น้องจะพาเดินไปดูจุดถ่ายภาพไฮไลต์ และคอยนำทางว่าต้องเดินตามหินก้อนไหนอย่างชำนิชำนาญ สมกับเป็นเจ้าถิ่นที่มีสามพันโบกเป็นสวนหลังบ้านให้วิ่งเล่น

จุดถ่ายภาพที่ถูกกล่าวขานว่าน่ารักที่สุดคงหนีไม่พ้น โบกมิกกี้ หลุมตามธรรมชาติลักษณะมีวงกลมใหญ่หนึ่งวงตรงกลาง และสองวงกลมเล็กอยู่ข้างบนซ้ายขวาเหมือนรูปทรงของตัวการ์ตูนมิกกี้เมาส์ ใกล้ๆ กันเป็นก้อนหินที่มีความซื่อสัตย์ที่สุด นั่นคือ หินหมา ลักษณะเป็นชะง่อนหินยื่นออกมาจากหน้าผา หน้าตาคล้ายหัวหมาอย่างไรอย่างนั้น

นอกจากนี้ สายช่างภาพจะทราบกันว่าที่นี่มีสะพานดาว ลักษณะเป็นสะพานหินเล็กๆ ตามธรรมชาติ แต่เมื่อใช้เทคนิคของเลนส์และการถ่ายภาพจะเป็นเหมือนสะพานหินขนาดใหญ่พาดผ่านท้องฟ้า กลายเป็นสะพานดาวที่ตากล้องต้องค้นหาให้เจอ

นอกนั้นจะเป็นโบกเป็นหินรูปทรงประหลาดที่แล้วแต่คนจะจินตนาการ บ้างก็ว่ามีโบกหัวใจ โบกแม่ลูก สารพัดสารพันโบก คิดถึงเวลาเข้าถ้ำแล้วต่างคนต่างตั้งชื่อหินงอกหินย้อยที่เจอ สามพันโบกก็เป็นเช่นนั้น ถ้าจะมีสักสามพันชื่อก็ไม่น่าแปลกอะไร

ตามหลักธรณีวิทยาอธิบายถึงสามพันโบกว่าบริเวณสามพันโบกและใกล้เคียงเป็นส่วนหนึ่งของหมวดหินภูพาน และกลุ่มหินโคราช ประกอบด้วยหินทรายและหินทรายเนื้อกรวด สีเทาอ่อนและสีขาว เกิดจากการสะสมตัวของตะกอนทางน้ำ เมื่อ 110 ล้านปีที่ผ่านมา

การวางตัวของชั้นหินบริเวณนี้อยู่ในแนวระนาบเอียงเทไม่เกิน 10 องศา ส่งผลให้เกิดลักษณะผาหินที่มีความสูงต่ำค่อนข้างสม่ำเสมอตามลำน้ำโขง บริเวณที่เป็นลานหินมักพบลวดลายของชั้นเฉียงระดับ ซึ่งแสดงทิศทางการไหลของกระแสน้ำโบราณและมักพบเม็ดกรวดขนาดเล็กสีต่างๆ ฝังตัวอยู่ในเนื้อหินทรายอยู่ทั่วไป

ตามพื้นผิวหน้าของลานหินพบว่าเต็มไปด้วย “กุมภลักษณ์” หรือ “หลุมปากหม้อ” ซึ่งเกิดจากกระบวนการกัดเซาะและขัดสีลานหิน โดยก้อนกรวดและทรายที่พัดพามากับแม่น้ำโขงในฤดูน้ำหลาก

ต่อมาเมื่อประมาณ 55-30 ล้านปีได้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก ทำให้แผ่นดินอีสาน ซึ่งแต่เดิมเป็นที่ราบกว้างใหญ่ได้ยกตัวขึ้นเป็นที่ราบสูงโคราช และเกิดการคดโค้งของชั้นหินโดยทั่วไป จากนั้นได้เกิดรอยแยกขนาดใหญ่ทำให้เกิดแม่น้ำโขงในปัจจุบันไหลผ่านพื้นที่สามพันโบก

และด้วยปัจจัยทางภูมิประเทศที่เหมาะสมนั่นคือ แนวชั้นหินบางส่วนได้ขวางทางน้ำทำให้เกิดลักษณะของน้ำวนโดยทั่วไป ดังนั้น เมื่อถึงฤดูน้ำหลากแม่น้ำโขงที่มีพลังที่รุนแรงได้พาเอาเม็ดกรวดหรือก้อนหินขนาดใหญ่มาด้วย เม็ดกรวดทรายดังกล่าวได้ถูกบังคับโดยทิศทางของแม่น้ำโขงให้มาหมุนวนซ้ำๆ อยู่ในแอ่งเล็กๆ จำนวนมากบนผิวหน้าของแก่งหินนานหลายฤดูกาลเข้าการขัดสีดังกล่าวก็ทำให้แอ่งเดิมขยายและลึกเว้าจนเป็นรูปโบก

แห่ยักษ์ พักแก่ง แห่งอำนาจอุบล พระอาทิตย์ขึ้นที่หาดชมดาว

 

นอกจากนี้ ยังพบลักษณะคล้ายสะพานหินธรรมชาติ ที่เกิดจากการกัดเซาะหินบางส่วนโดยทางน้ำ จนเกิดโพรงโดยที่หินส่วนที่เหลืออยู่เหนือโพรงมีลักษณะโค้งคล้ายสะพานที่สวยงาม

ฤดูกาลเที่ยวสามพันโบกแต่เดิมขึ้นอยู่กับฤดูกาล นั่นคือ ช่วงฤดูแล้งตั้งแต่เดือน ธ.ค.-เม.ย.ของทุกปี แต่หลังจากจีนสร้างเขื่อนกลางแม่น้ำโขงจึงทำให้กระแสน้ำขึ้นอยู่กับการปล่อยน้ำของคน ฤดูกาลจึงไม่แน่นอน

จ.อำนาจเจริญ และ อุบลราชธานี เป็นสองจังหวัดเชื่อมต่อที่ไม่ค่อยมีใครเชื่อมถึง อาจเป็นเพราะระยะทางจากตัวเมืองอุบลฯ ถึงจ.อำนาจเจริญ ห่างกันประมาณ 2 ชั่วโมง ทำให้นักท่องเที่ยวหยุดอยู่ที่จังหวัดที่มีระบบขนส่งมวลชนทั้งเครื่องบินและรถทัวร์ หรือไกลสุดแค่สามพันโบก

จ.อำนาจเจริญ จึงกลายเป็นน้องผู้พลัดพราก ซึ่งก็หวังว่าความน่ารักของหน้ายักษ์จะทำให้คนสนใจไม่มากก็น้อย