posttoday

Japan Origin 3

15 เมษายน 2561

วันนี้เรายังคงเดินทางตามหาของดีกันต่อบริเวณตอนกลางของจังหวัดโคจิ ที่เมืองอิโนะ

วันนี้เรายังคงเดินทางตามหาของดีกันต่อบริเวณตอนกลางของจังหวัดโคจิ ที่เมืองอิโนะ เมืองที่มีชื่อเสียงในเรื่องการทำกระดาษญี่ปุ่นและเป็นต้นกำเนิดของ โทสะวะชิ เนื่องจากความบริสุทธิ์ของธรรมชาติและสายน้ำที่ใสสะอาดของแม่น้ำนิโยะโดะ รวมทั้งความสมบูรณ์ของพืชที่เป็นต้นทางของวัตถุดิบในการทำกระดาษ ทำให้เมืองอิโนะแห่งนี้มีผลิตภัณฑ์กระดาษที่มีคุณภาพสูงและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมาตั้งแต่สมัยโบราณ

คนญี่ปุ่นถือว่าการทำกระดาษเป็นศิลปะแขนงหนึ่งของชาติ ตามหลักฐานและข้อมูลที่ไปสืบค้นมาพบว่า กระดาษถูกเผยแพร่เข้ามาในประเทศญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อประมาณปี ค.ศ. 610 ซึ่งเป็นยุคทองของการเขียนบทประพันธ์และจดหมาย จึงมีการใช้กระดาษเป็นจำนวนมากขึ้น คำว่ากระดาษญี่ปุ่นที่เรียกว่า วะชิ เกิดจากการผสมอักษร 2 ตัวคือ วะ ซึ่งมีความหมายว่า ญี่ปุ่น และ ชิ ที่แปลว่า กระดาษ

วะชิ จึงไม่เพียงแค่เป็นกระดาษธรรมดา หากแต่เป็นกระดาษที่ทำด้วยกรรมวิธีดั้งเดิมของญี่ปุ่น ส่วนใหญ่แล้วถูกทำขึ้นโดยใช้ใยพืชเป็นวัตถุดิบ พืชที่นิยมใช้ก็เช่น ป่าน (อะสะ) หม่อน (โคโซะ) และยังมีกระดาษญี่ปุ่นที่เรียกว่า มิสึมะทะ ซึ่งเป็นกระดาษที่ทำด้วยมืออย่างประณีต มีลักษณะเด่นคือความบาง ทนต่อน้ำ และมีคุณสมบัติเป็นกลางทำให้เสื่อมสลายได้ยาก

Japan Origin 3

โดยปกติกระดาษทั่วไปจะมีอายุการใช้งานอยู่ที่ 100 ปี แต่สำหรับกระดาษญี่ปุ่นว่ากันว่ามีอายุการใช้งานสูงถึง 1,000 ปี จึงถูกนำมาใช้เป็นกระดาษสำหรับการวาดภาพ การประดิษฐ์ตัวอักษรภาษาญี่ปุ่น การทำธนบัตรญี่ปุ่น และใช้ทำประตูบานเลื่อนแบบญี่ปุ่นหรือที่เรียกว่าโชจิ

เมื่อรู้จักความเป็นมาของวะชิกันแล้ว คราวนี้เราก็มารู้จัก โทสะวะชิกันบ้าง ย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี ค.ศ. 920 ในยุคเฮอัน จังหวัดโคจิหรือแคว้นโทสะในสมัยนั้นได้สมญานามว่า “ประเทศแห่งการทำกระดาษ” เนื่องจากมีเมืองอิโนะที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยวัตถุดิบในการทำกระดาษชั้นยอด จึงเป็นแหล่งผลิตกระดาษขนาดใหญ่ส่งขายไปยังเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ และในช่วงยุคเอโดะ ครอบครัว อากิ ซาบุโร่ ซาเอม่อน Aki-Saburou zaemon

ตระกูลช่างฝีมือทำกระดาษโทสะวะชิได้คิดค้นสิ่งที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับวงการกระดาษญี่ปุ่นอย่าง Tosa Nana Iro kami กระดาษเจ็ดสีแห่งโทสะ ประกอบด้วยสีเหลือง เหลืองอ่อน สีพีช สีส้ม สีม่วง สีเขียว และสีน้ำตาลอ่อน ซึ่งกระดาษเจ็ดสีในช่วงนั้นทำขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องบรรณาการให้กับผู้ปกครองแคว้นโทสะ แต่เนื่องด้วยกระดาษเจ็ดสีมีชื่อเสียงไปถึงเอโดะ

Japan Origin 3

ทำให้ต่อมากรรมสิทธิ์ในเทคนิคการทำกระดาษสีได้ตกไปเป็นของโชกุนโตคุกาวะ เพื่อผลิตให้เฉพาะชนชั้นปกครองและเชื้อพระวงศ์ใช้เท่านั้น กระดาษเจ็ดสีแห่งโทสะจึงถูกส่งไปยังราชสำนักเพื่อใช้ในงานเขียนต่างๆ เช่น ราชโองการ บันทึกข้อกฎหมาย บทประพันธ์ จดหมาย เป็นต้น

ความรุ่งเรืองของโทสะวะชิไม่ได้หยุดลงแค่นั้น ในช่วงปลายของยุคเอโดะได้กำเนิดบุคคลสำคัญในวงการกระดาษขึ้นอีกท่านคือ โยชิอิ เกนตะ Yoshii Genta ซึ่งกำเนิดในครอบครัวช่างทำกระดาษเมืองอิโนะ ผู้คิดค้นปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยในช่วงแรกกระดาษโทสะวะชิจะทำจากเส้นใยป่านและหม่อนเป็นส่วนใหญ่ ในการปรับปรุงครั้งนี้มีจุดประสงค์ต้องการให้กระดาษโทสะวะชิมีคุณภาพที่สูงขึ้น จึงมีการใช้เยื่อไม้ชนิดอื่นผสมประสาน

ทำให้ได้เนื้อกระดาษที่มีคุณภาพแตกต่างไปจากเดิมและมีความหลากหลาย เช่น การเลือกใช้เส้นใยจากมิสึมะทะ และกันบิ ซึ่งโยชิอิ เกนตะเป็นคนแรกที่ปลูกต้นมิสึมะทะ ทำให้มีกระดาษโทสะวะชิเกิดขึ้นใหม่ถึง 28 ประเภท ความสำเร็จจากการพัฒนาในครั้งนี้ทำให้แคว้นโทสะในยุคนั้นได้รับการขนานนามว่า เป็นยุคทองของกระดาษโทสะ และในปี ค.ศ. 1976 โทสะวะชิก็ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็น National Traditional Handicrafts ของประเทศญี่ปุ่น

Japan Origin 3

สำหรับขั้นตอนในการทำกระดาษแบบดั้งเดิมของอิโนะนั้น เริ่มจากการเอาต้นไม้วัตถุดิบหลักมาเข้าเครื่องอบไอน้ำที่ตั้งอยู่บนปล่องไฟขนาดใหญ่ โดยใช้เวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง หลังจากนั้นก็เอาไปต้มต่อในหม้อขนาดใหญ่ แล้วเอาใยไม้ที่ได้จากการต้มมาล้างยังบริเวณแม่น้ำนิโยโดะ แล้วนำไปฟอกขาว จากนั้นจึงนำใยไม้ไปทุบจนนุ่มแล้วใส่ในตะกร้าใหญ่ที่แช่อยู่ในแม่น้ำแล้วใช้ไม้พายกวนจนแยกสลายกลายเป็นเส้นใยที่เล็กยุ่ย ซึ่งก็คือเยื่อไม้วัตถุดิบหลักในการทำกระดาษ

มาถึงขั้นตอนการทำกระดาษ ขั้นแรกนำเยื่อไม้ใส่ลงในบ่อขนาดใหญ่ที่มีน้ำสะอาดอยู่เต็ม ใช้ไม้พายกวนให้เข้ากัน แล้วใช้ สุเกตะ อุปกรณ์ดั้งเดิมในการทำกระดาษ ที่มีลักษณะเป็นกรอบไม้สี่เหลี่ยมปูพื้นตรงก้นด้วยไม้ไผ่สาน ช้อนวัตถุดิบในน้ำขึ้นมา เคล็ดสำคัญอยู่ที่การช้อนโดยเขย่าสุเกตะเป็นแนวตั้ง และแนวนอนสลับกันให้เยื่อไม้กระจายทั่วสุเกตะ ยิ่งเราช้อนเยื่อไม้มากครั้งเท่าไหร่กระดาษก็จะมีขนาดหนาขึ้นเท่านั้น พอได้ความหนาตามต้องการแล้วก็ดึงแผ่นไม้ไผ่ออก และใช้สองมือกดให้แน่นเพื่อช่วยไล่น้ำออกจากเยื่อไม้ แล้วนำไปตากให้แห้ง ก็จะได้กระดาษโทสะวะชิ

ปัจจุบันกระดาษโทสะวะชิยังเป็นที่นิยม โดยไม่ได้สูญหายไปกับกาลเวลา ซึ่งกระดาษโทสะวะชินั้นก็มีหลากหลายประเภท เช่น กระดาษจากหม่อน หรือ โคโซะ เนื่องจากเส้นใยที่ยาวและหนาในพืชของตระกูลหม่อนจึงทำให้กระดาษมีความคงทนมาก เกิดการพัฒนาจนเป็นกระดาษที่มีชื่อเสียงอย่าง โทสะเทงกุโจชิ กระดาษที่มีความบางที่สุดในบรรดา กระดาษทำมือในโลก ด้วยความหนาเพียง 0.03 มิลลิเมตรเท่านั้น ปัจจุบันกระดาษชนิดนี้ใช้ทำงานฝีมือและซ่อมแซมงานศิลปะ หรือกระดาษจากมิสึมะทะที่มีเส้นใยสั้นทำให้ได้กระดาษที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือมีผิวเรียบและมันวาวจึงใช้ในการผลิตธนบัตร 1 หมื่นเยนของญี่ปุ่น เป็นต้น 

Japan Origin 3

กระดาษที่มีชื่อเสียงอย่าง โทสะเทงกุโจชิ กระดาษที่มีความบางที่สุดในบรรดา กระดาษทำมือในโลก ด้วยความหนาเพียง 0.03 มิลลิเมตรเท่านั้น ปัจจุบันกระดาษชนิดนี้ใช้ทำงานฝีมือและซ่อมแซมงานศิลปะ หรือกระดาษจากมิสึมะทะที่มีเส้นใยสั้นทำให้ได้กระดาษที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือมีผิวเรียบและมันวาวจึงใช้ในการผลิตธนบัตร 1 หมื่นเยนของญี่ปุ่น เป็นต้น

ไม่น่าเชื่อว่าเพียงแค่ของธรรมดาๆ อย่างกระดาษก็มีรายละเอียดมากมายขนาดนี้ และที่สำคัญคือ การส่งมอบความรู้และทักษะการผลิตแบบดั้งเดิม ที่ยังคงถ่ายทอดมาถึงปัจจุบันได้อย่างไม่ตกหล่นนั้นน่าสนใจเป็นที่สุด เพราะการจะรักษาอดีตไม่ใช่เพียงแค่การอนุรักษ์เท่านั้น หากแต่ยังต้องพัฒนาและต่อยอดขึ้นไปโดยไม่ให้เลือนหายไปกับกาลเวลา อีกทั้งยังต้องสามารถกลมกลืนไปกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง และเป็นส่วนหนึ่งของปัจจุบันให้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องยาก หากท่านไม่เชื่อ ลองมาที่นี่ ที่เมือง อิโนะแห่งนี้ แล้วท่านจะพบกับอดีตที่ยังโลดแล่นอย่างมั่นคงในปัจจุบัน และมีหนทางที่จะก้าวต่อไปในอนาคตอย่างไม่หยุดยั้งอย่างแน่นอนครับ