posttoday

นุ่งซิ่นแอ่วน่าน ย้อนวันวาน ณ ตึกรังษีเกษม

08 เมษายน 2561

หลังจากออเจ้าแต่งชุดไทยทั่วปฐพีมาถึง “น่าน”

โดย /ภาพ : กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

หลังจากออเจ้าแต่งชุดไทยทั่วปฐพีมาถึง “น่าน” ทั้งทีก็ต้องนุ่งผ้าซิ่นน่านที่มีความสวยงามและเอกลักษณ์ แปลงโฉมเป็นแม่หญิงแอ่วเมืองเก่า และเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ผ่าน “ตึกรังษีเกษม”

ตึกรังษีเกษมเป็นอาคารโบราณแบบตะวันตกอายุ 103 ปี เคยเป็นโรงเรียนรังษีเกษม หรือโรงเรียนหญิงแห่งแรกของจังหวัด ซึ่งปัจจุบันถูกบูรณะและอนุรักษ์ไว้ในฐานะของ “หอประวัติศาสตร์โรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา” เป็นแหล่งศึกษาข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ของเมืองน่านผ่านวัตถุพยานที่จัดแสดง เช่น วัตถุเครื่องใช้ในอดีตของมิชชันนารี วัตถุเครื่องใช้ของโรงเรียน 3 แห่ง คือ โรงเรียนน่านลินกัล์นอะแคเดมี (โรงเรียนชายแห่งแรกของจังหวัด) โรงเรียนรังษีเกษม และโรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา รวมไปถึงภาพถ่ายในอดีตมากกว่า 1,000 ภาพ ที่บอกเล่าเรื่องราวพระราชกรณียกิจของในหลวง รัชกาลที่ 9 เมื่อเสด็จฯ มาทรงงานใน จ.น่าน ภาพพระราชกรณียกิจของเจ้าผู้ครองนครน่าน ภาพของอาคารสถานที่ เหตุการณ์สำคัญ และวิถีชีวิตของคนเมืองน่านในอดีต

ภาพจึงเป็นสื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ ส่วนผู้ที่ทำการสื่อสารให้นักท่องเที่ยวได้เข้าใจโดยง่ายคือ ครูต้น-หิรัญ อุทธวงค์ อนุกรรมการและเลขานุการ โครงการจัดทำหอประวัติศาสตร์ กล่าวได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกและผู้รู้ทุกส่วนของตึกรังษีเกษม ส่วนแรกที่ครูต้นอธิบายคือ ห้องเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้โบราณของไทย เพื่อย้อนไปให้เห็นถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ก่อนเข้าถึงยุคก่อสร้างตึกรังษีเกษม

นุ่งซิ่นแอ่วน่าน ย้อนวันวาน ณ ตึกรังษีเกษม

จากนั้นครูต้นได้พาเดินไปยังห้องโถงชั้น 1 ที่มีภาพของมิชชันนารีผู้สร้างตึกนี้คือ ศาสนาจารย์ ดร.นพ.ซามูเอล ซี พีเพิลส์ และภรรยา ซาร่ห์ เวิร์ท ทั้งสองเป็นมิชชันนารีครอบครัวแรกที่อาสามาเปิดศูนย์มิชชั่นน่านในปี 2438 สร้างตึกรังษีเกษมขึ้นเพื่อเป็นโรงเรียนหญิงล้วน แต่เดิมชื่อโรงเรียนเมริเอริสมิท บราวส์ นับเป็นโรงเรียนที่ทำการสอนแบบตะวันตกเป็นแห่งแรกในน่าน

อีกทั้ง ดร.นพ.ซามูเอล ยังเป็นที่ปรึกษาด้านการเมืองเป็นผู้เปิดโรงพยาบาลแห่งแรกในน่าน เป็นแพทย์ในกองทัพไทยตามคำขอของพระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นผู้ริเริ่มให้ปลูกฝีเพื่อป้องกันไข้ทรพิษ โรคฝีดาษ โรคอหิวาตกโรค ที่ระบาดหนักในน่าน และยังเป็นผู้นำอักษรล้านนาไปทำเป็นแม่พิมพ์ที่สหรัฐอเมริกาแล้วนำมาให้เพื่อนของเขา ชื่อ พ่อครูเดวิด โกรมเลย์คอลลินส์ เปิดโรงพิมพ์ที่ จ.เชียงใหม่ ชื่อว่า โรงพิมพ์อเมริกันวังสิงห์คำ ทำให้ล้านนามีหนังสืออ่านมากขึ้น

จากนั้นครูต้นได้ชี้ให้เห็นลักษณะการก่อสร้างของตึกที่มีภูมิปัญญาของตะวันตกแฝงอยู่ ทั้งขื่อบนเพดานที่มีลักษณะเหมือนเครื่องหมายกากบาท เพื่อเสริมความแข็งแรงและเป็นหนึ่งในลวดลายของตัวอาคารไป กลอนหน้าต่างที่ไม่ต้องลงกลอนก็สามารถล็อกได้โดยอัตโนมัติ มีหน้าต่างจำนวนมากเพื่อระบายอากาศร้อนในไทย แต่เป็นอาคารหลังเดียวในน่านที่มีเตาผิง และห้องโถงชั้น 1 มีเพดานสูงเหมือนบ้านคนไทย แต่สร้างในสไตล์โคโลเนียล

นุ่งซิ่นแอ่วน่าน ย้อนวันวาน ณ ตึกรังษีเกษม

ว่าแล้วผู้บรรยายก็นำเดินต่อไปยังส่วนอื่นๆ บนชั้นแรก พร้อมเล่าว่า อาคารหลังนี้มีลักษณะเป็นตัวยู โดยแรกเริ่มมีเพียงอาคารใหญ่หลังกลางต่อมาได้สร้างอาคารฝั่งซ้าย เพื่อใช้เป็นห้องพักมิชชันนารีและหอพักนักเรียน และสุดท้ายได้สร้างอาคารฝั่งขวา เพื่อใช้เป็นห้องเรียนเพิ่มเติมให้เพียงพอต่อจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้น รวมแล้วใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมด 9 ปี และยังคงสภาพเกือบจะสมบูรณ์จนถึงปัจจุบัน

จากนั้นได้เดินขึ้นบันไดเชื่อมไปยังชั้น 2 เป็นส่วนของห้องเรียน ยังคงมีโต๊ะนักเรียน เก้าอี้นักเรียนที่ถูกดีไซน์ให้สามารถต่อกันเป็นวงกลมและรูปทรงอื่นๆ กระดานดำ และที่เป็นจุดเด่นชัดคือ ไม้กางเขนขนาดใหญ่กลางห้อง ทำจากกระจกสีจำนวน 5 บาน ที่เหลือจากการรื้อถอนโบสถ์คริสตจักรไฮปาร์คอนุสรณ์

ครูต้นได้เล่าถึงประวัติของโบสถ์แห่งนี้พอสังเขปว่า เป็นโบสถ์หลังแรกของน่านที่ก่อสร้าง เพื่อเป็นสถานที่นมัสการพระเจ้าโดยตรง ไม่รวมเป็นที่พักของมิชชันนารี ตั้งชื่อเป็นอนุสรณ์แก่คริสตจักรไฮปาร์ค เมืองชิคาโก ที่ให้ทุนก่อสร้าง ถือว่าเป็นโบสถ์ที่มีความสวยงาม เพราะช่องแสงใช้กระจกสีที่นำเข้ามาจากสหรัฐติดรอบอาคาร แต่แล้วก็ทรุดโทรมลงมากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เหตุเพราะรัฐบาลยึดเป็นของรัฐ และห้ามไม่ให้ประกอบศาสนกิจนาน 4 ปี ภายหลังได้คืนก็มีการรื้อถอนและนำโครงสร้างบางส่วนมาก่อสร้างโบสถ์คริสตจักรประสิทธิพรหลังปัจจุบัน ส่วนกระจกที่เหลืออยู่จำนวน 5 บานนั้น ก็นำมาประกอบเป็นไม้กางเขนชื่อ ไฮปาร์คอนุสรณ์ จัดแสดงไว้บนชั้น 2 ของหอประวัติศาสตร์

นุ่งซิ่นแอ่วน่าน ย้อนวันวาน ณ ตึกรังษีเกษม

นอกจากนี้ ภาพถ่ายชั้นบนยังแสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์สำคัญของน่าน ไม่ว่าจะเป็นภาพเหตุการณ์น้ำท่วมน่านปี 2451 และการสัมปทานป่าไม้ที่สะท้อนผ่านภาพช้างกำลังงัดท่อนซุงของควาญช้าง บริษัท บอมเบย์เบอร์ม่า คล้าค แอนด์ คอมปานี และบริษัท บอร์เนียว ช่วงปี 2440

อาคาร 2 ชั้นที่ก่อสร้างด้วยอิฐแห่งนี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก ทั้งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ถูกรัฐบาลยึดครองกิจการโรงเรียนรังษีเกษม ทำให้โรงเรียนต้องปิดกิจการและทางราชการไทยได้เปลี่ยนเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรจังหวัด จากนั้น 2 ปีต่อมาได้เปลี่ยนเป็นที่พักของทหารไทยจนกระทั่งสงครามสิ้นสุด ซึ่งนอกจากจะเสียหายเพราะสงคราม ตึกรังษีเกษมยังเคยผ่านพายุใหญ่ที่พัดเอากระเบื้องดินขอพังเสียหายทำให้ทรุดโทรมหนัก และได้ทำการเปิดอีกครั้งเมื่อ 72 ปีที่แล้ว เพื่อใช้เป็นห้องประชุม ห้องเรียนสำหรับเด็ก และสถานที่ประกอบศาสนพิธีสำคัญ เช่น พิธีแต่งงาน และพิธีแต่งตั้งสถาปนา กระทั่งทุกวันนี้กลายเป็นสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และเป็นแหล่งความรู้ของชาวเมืองน่านและคนไทยสืบไป

สำหรับนักท่องเที่ยวถ้าให้เหมาะต้อง “นุ่งซิ่นแอ่วน่าน” ตามแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวในกลุ่มสตรีของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่ (รับผิดชอบพื้นที่แพร่และน่าน) เพื่อสร้างบรรยากาศและสีสันในการเดินทางท่องเที่ยวด้วยการแต่งกาย สร้างรายได้ให้กับชุมชน และอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น สอดรับกับนโยบายส่งเสริมปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน และอะเมซิ่งไทยแลนด์โกโลคัล (Amazing Thailand Go Local) โดยหวังว่ากระแสแต่งชุดไทยหรือนุ่งซิ่นแอ่วน่านจะไม่เป็นเพียงกระแสเกาะความดังของออเจ้าเท่านั้น แต่จะกลายเป็นความภาคภูมิใจที่ได้แต่งกายแบบไทยเที่ยวเมืองไทยด้วยตัวเอง

นุ่งซิ่นแอ่วน่าน ย้อนวันวาน ณ ตึกรังษีเกษม

ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูล รายละเอียดของสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทางใน จ.น่าน และแพร่ เพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ โทร. 054-521-127 ทุกวันในเวลาราชการ