posttoday

สวรรค์บนดิน ถิ่นนครสวรรค์

03 มีนาคม 2561

มานครสวรรค์ต้องไปให้ถึงสวรรค์กับ 3 เส้นทาง 3 ชุมชน ที่จะพาไปทำความรู้จักถิ่นปากน้ำโพในมุมสวยที่ไม่เหมือนเดิม

เรื่อง/ภาพ : กาญจน์ อายุ 

มานครสวรรค์ต้องไปให้ถึงสวรรค์กับ 3 เส้นทาง 3 ชุมชน ที่จะพาไปทำความรู้จักถิ่นปากน้ำโพในมุมสวยที่ไม่เหมือนเดิม แต่ก่อนอื่นต้องไปมาลาไหว้ จึงต้องเริ่มต้นด้วยการไปสักการะเทพเจ้าประจำเมือง

"วัดศรีอุทุมพร" ต.หนองกรด อ.เมือง เป็นสถานที่เคารพศรัทธาของชาวนครสวรรค์ เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานสังขารหลวงพ่อจ้อย จันทสุวัณโณ อดีตเจ้าอาวาส ผู้ที่ได้รับสมญานามว่าเป็น "เทพเจ้าแห่งปากน้ำโพ"

เมื่อครั้งที่หลวงพ่อจ้อยยังมีชีวิตอยู่ ท่านเคยศึกษาเล่าเรียนวิชามีดหมอเทพศาสตราวุธ และสร้างมีดขึ้นจนชื่อเสียงโด่งดัง เชื่อว่ามีดหมอเทพศาสตราวุธจะสามารถถากถางและฝ่าฟันอุปสรรคในการดำเนินชีวิตให้ราบคาบลงได้ ซึ่งผู้ใช้ต้องมีสติ ปัญญา ธรรมะ และคุณธรรม โดยด้านหลังพระอุโบสถเป็นที่เก็บมีดหมอเทพศาสตราวุธที่ใหญ่ที่สุดในโลก ยาว 9 เมตร กว้าง 83 เซนติเมตร หนัก 3,000 กก. ใบมีดทำจากเหล็กยาว 5 เมตร และด้ามมีดทำจากไม้ตะเคียนทองยาว 4 เมตร

สวรรค์บนดิน ถิ่นนครสวรรค์

สำหรับสังขารหลวงพ่อจ้อยอยู่ในโลงแก้วภายในพระอุโบสถ เคียงข้างพระประธาน พระพุทธชินสีห์ สีทองอร่ามประดิษฐานอยู่ท่ามกลางจิตรกรรมฝาผนังสีน้ำเงิน

อีกจุดที่น่ายลคือ โบสถ์ลอยฟ้าเสา 100 ต้น ที่ประดับตกแต่งด้วยเครื่องชามเบญจรงค์ ช้อนเงิน ช้อนทอง บนศิลปะปูนปั้นสีขาวช่วยขับลวดลายให้เด่นชัด โดดเด่นด้วยปากทางเข้าเป็นรูปหนุมานอ้าปากสู่ฐานของโบสถ์ลอยฟ้า ที่มีหมู่พระพุทธรูปให้สักการะและเสาทั้ง 100 ต้นให้นับจนกว่าจะครบ

หลังจากเคารพเทพเจ้าแห่งเมืองปากน้ำโพ ถึงคราวที่สวรรค์ชั้นต่างๆ จะปรากฏตัวบนพื้นดิน

สวรรค์บนดิน ถิ่นนครสวรรค์

ชุมชนเกยไชย สวรรค์ชั้นหอมหวาน

ณ จุดที่แม่น้ำยมและแม่น้ำน่านมาบรรจบกัน คือจุดเริ่มต้นของตำนานจระเข้ “ด่างเกยไชย” หลวงพี่ที่ “วัดเกยไชยเหนือ” (บรมธาตุ) เล่าให้ฟังว่า ต.เกยไชยมีแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านที่ไหลมาบรรจบกันพอดีบริเวณวัด โดยในอดีตนั้นแม่น้ำมีความกว้างกว่าปัจจุบันถึง 5 เท่า จุดที่แม่น้ำทั้งสองสายมาบรรจบกันจะเป็นวังตะกอนหรือปากน้ำ มีความลึกมาก มีจระเข้ชุกชุมจึงถูกเรียกว่า วังจระเข้

พอชาวบ้านจะลงอาบน้ำในแม่น้ำแต่ละครั้ง ต้องหาไม้มาปักเป็นรั้วเพื่อป้องกันจระเข้ แต่มีจระเข้อยู่ตัวหนึ่งที่ดุร้ายมีชื่อติดหูชาวบ้านทั่วไปว่า ด่างเกยไชย มีนิสัยชอบอาละวาด เพราะเป็นจระเข้พันธุ์น้ำจืดผสมน้ำเค็ม ที่มาของชื่อ ด่างเกยไชย สันนิษฐานว่า ชาวเรือที่ผ่านไปมาค้าขายเห็นรอยด่างสีขาวปรากฏอยู่บนหัว ลำตัวยาวใหญ่ วัดความยาวจากปากถึงขากรรไกรยาวกว่า 1 วา ความสูงของหัวจากพื้นสูงประมาณ 5-6 ศอก และความยาวของลำตัวสามารถขวางแม่น้ำได้

สวรรค์บนดิน ถิ่นนครสวรรค์

ตำนานยังถูกเล่าต่อมาด้วยว่า ด่างเกยไชยเป็นจระเข้ที่มีอายุยืนยาวและได้ทำร้ายผู้คนจำนวนมาก จนกระทั่งวาระสุดท้ายของมัน เมื่อชาวเรือขี้เมาใช้เรือมอ ลักษณะเป็นเรือท้องแหลม ชาวจีนเรียกว่า เรือไหหลำ บรรทุกข้าวมาท้าทายด่างเกยไชย มันจึงออกอาละวาดหนุนเรือหวังจะคว่ำ พอได้โอกาสชาวเรือจึงใช้สามง่ามทิ่มแทงตามท้อง จนเจ้าด่างเกยไชยเอาหัวเกยหาดหน้าวังตะกอนจนถูกยิงซ้ำจนตาย

แม้ปัจจุบันจะไม่มีหลักฐานของด่างเกยไชยอยู่แล้ว แต่ตำนานความดุร้ายของจระเข้ยักษ์ยังเป็นที่กล่าวขานจากรุ่นสู่รุ่น และรูปปั้นของด่างเกยไชยก็กลายเป็นที่ไหว้บนบานของชาวบ้าน

ภายในวัดเกยไชยเหนือ ยังเป็นที่ตั้งของพระบรมธาตุเจดีย์ (หลวงพ่อพระบรมธาตุ) ศูนย์รวมใจของชาวชุมชนเกยไชย โดยภายในพระบรมธาตุเจดีย์ได้บรรจุพระบรมธาตุขององคุลิมาลไว้ มีลักษณะเป็นสีแดงผลึกใสยาวประมาณ 1 นิ้ว ทุกปีจะมีงานสมโภช 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นงานปิดทองไหว้พระห่มผ้าองค์หลวงพ่อพระบรมธาตุ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 และครั้งที่ 2 เป็นงานปิดทองไหว้พระองค์หลวงพ่อบรมธาตุในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11

สวรรค์บนดิน ถิ่นนครสวรรค์

นอกจากนี้ ชุมชนเกยไชยยังเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลตาลโตนดรสละมุน ตามคำบอกเล่าของ “ผู้ใหญ่อ้อย” น้ำอ้อย มีพันธ์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 14 บ้านท่าไม้ ต.เกยไชย กล่าวว่า ต้นตาลทั้งหมดในเกยไชยเป็นตาลตามธรรมชาติ เป็นมรดกของผืนดินที่ธรรมชาติมอบให้ โดยแต่ละครอบครัวจะมีตาลมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับการถือครองที่ดินตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งปัจจุบันก็ยังปลูกตามธรรมชาติ ไม่มีการปลูกเพิ่ม หรือเลี้ยงดูเป็นพิเศษแต่ปล่อยให้เติบโตตามสภาพฟ้าดิน

“เห็นตาลมาตั้งแต่เด็กจนตอนนี้อายุ 48 แล้วก็ยังเก็บตาลได้ทุกวัน เรียกว่าเป็นอาชีพของคนที่โชคดีมีตาลบนที่ดิน แต่ถ้าบ้านไหนไม่มีก็จะเช่าบ้านอื่นที่มีตาลเยอะ ผสมกับปลูกผัก พริก ข้าวโพด” ผู้ใหญ่อ้อยพูดไปขณะกำลังเฉาะลอนตาลให้ชิมใต้ต้น

ตาลตัวเมียจะให้ลูกตลอดทั้งปีแต่ไม่ชุก ช่วงที่ชุกคือ มี.ค.-พ.ค. จากนั้นจะเริ่มวายเมื่อเข้าเดือน ก.ค. ส่วนราคาขายหน้าสวน ลอนตาล 10 ชิ้น ตกถุงละ 27 บาท และน้ำลูกตาลอยู่ที่กิโลกรัมละ 7 บาท

สวรรค์บนดิน ถิ่นนครสวรรค์

นอกจากนี้ ผู้ใหญ่อ้อยกำลังผลักดันให้บ้านท่าไม้ กลายเป็นจุดท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวมาพักโฮมสเตย์ตามบ้านของชาวบ้าน และสัมผัสชีวิตคนกับตาล ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงของบประมาณจัดสร้างจุดชมวิวและจุดให้ข้อมูล

“ที่นี่ชาวบ้านเป็นหนี้เยอะ เวลาที่เขาไม่มีเงินส่งหมู่บ้าน ไม่มีเงินส่งกองทุน จะเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ต้องออกไปหาแหล่งเงิน เราเลยอยากให้ชาวบ้านมีรายได้จากการท่องเที่ยว เพราะถ้าชาวบ้านยังคงมีวิถีแบบดั้งเดิมอยู่ต่อไปก็จะเป็นหนี้มากขึ้นๆ

การทำตาลอย่างเดียวไม่พอกิน ทำให้ชาวบ้านต้องลงทุนปลูกอย่างอื่นเพิ่ม ซึ่งหากปีไหนน้ำหลากจะท่วมขังและเสียหายจนเหลือแต่หนี้”

สวรรค์บนดิน ถิ่นนครสวรรค์

กิจกรรมท่องเที่ยวที่ผู้ใหญ่อ้อยวางแผนไว้ นอกจากจะให้สัมผัสชีวิตชาวบ้านกับต้นตาล ยังมีการสอนทำขนมตาลจากเนื้อตาลสุกโดยไม่ใช้สีผสมอาหาร สีเหลืองนวล หอมกลิ่นตาล อร่อยกว่าขนมตาลที่ใช้แป้งผสมกับสีผสมอาหารทั่วไป

รวมถึงทีเด็ดอย่างน้ำตาลปึกที่ทำจากน้ำตาลโตนดแท้ ให้รสหวานติดเปรี้ยวปลายลิ้นมีกลิ่นหอมอ่อนซึ่งเป็นกลิ่นเฉพาะของน้ำตาลโตนด

ท้ายสุดผู้ใหญ่คนเก่งยังกล่าวเชิญชวนร่วมงานเทศกาลกินตาล ระหว่างวันที่ 30-31 มี.ค. 2561 บริเวณสวนตาล หมู่ 4 ต.เกยไชย ซึ่งวันที่ 31 ม.ค. เป็นวันเดียวกับงานปิดทองไหว้พระห่มผ้าองค์หลวงพ่อพระบรมธาตุที่วัดเกยไชยเหนือ

สวรรค์บนดิน ถิ่นนครสวรรค์

ชุมชนบ้านมอญ สวรรค์ชั้นประณีต

ชุมชนบ้านมอญ เป็นหมู่บ้านที่มีประวัติยาวนานกว่า 200 ปี เป็นชาวมอญที่อพยพมาจากเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี โดยเดินทางมาทางเรือรวมกัน 4 ครอบครัว ได้แก่ ตระกูลช่างปั้น ตระกูลเลี้ยงสุข ตระกูลแก้วสุทธิ และตระกูลเรืองบุญ

ด้วยความชำนาญในการทำเครื่องปั้นดินเผาอยู่แล้ว เมื่อค้นพบแหล่งดินที่สามารถนำมาปั้นภาชนะได้ จึงลงหลักปักฐานอยู่ที่หมู่ 1 ต.บ้านแก่ง อ.เมือง จ.นครสวรรค์

จนถึงปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปแบบเพื่อขายตามความต้องการของตลาด ซึ่งเครื่องปั้นดินเผาฝีมือคนมอญเป็นที่ยอมรับ ด้วยฝีมือในการปั้นดินที่มีความละเอียดอ่อน สามารถคิดรูปแบบตามความรู้สึกและเป็นเอกลักษณ์ ปั้นด้วยแป้นหมุนมือ เผาด้วยเตาโบราณ

ประกอบกับบริเวณใกล้กับหมู่บ้านมีแหล่งดินเหนียวคุณภาพสูงที่บึงเขาดิน มีคุณสมบัติปั้นง่าย เผาแล้วเนื้อดินไม่แตก ทำให้ได้เครื่องปั้นดินเผาที่สวยงาม

จากชุมชนขนาดเล็กที่มีเพียง 4 ครอบครัวตอนนี้จึงขยายเป็นชุมชนมอญขนาดใหญ่ ซึ่งลูกหลานยังสืบทอดภูมิปัญญาต่อไปไม่สูญหายไปจากชุมชน

สวรรค์บนดิน ถิ่นนครสวรรค์

ชุมชนหาดเสลา สวรรค์ชั้นแปลก

ตื่นตาประหลาดใจ คือความรู้สึกแรกที่ได้เห็นวิหารของ "วัดมรรครังสฤษดิ์" หรือวัดตะคร้อ แห่งบ้านหาดเสลา อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์ ตั้งแต่กรอบหน้าต่างด้านนอกที่มีความบิดเบี้ยวแปลกไป และทึ่งเข้าไปใหญ่กับทางเข้าวิหารที่ไม่ใช่รูปพญานาค หรือสิงห์เหมือนวัดทั่วไป แต่เป็นรูปทรงของสัตว์หิมพานต์ชนิดไหนก็ไม่สามารถระบุได้

เมื่อก้าวพ้นผ่านธรณีประตูเข้าไป ความประหลาดใจก็ยิ่งเพิ่มพูน โดยสิ่งที่ดึงดูดสายตาอย่างแรกของเสาวิหารสีทองที่ไม่ตรงทื่อ แต่บิดเอียงเหมือนภาพวาดเซอร์เรียลลิสม์

รองเจ้าอาวาสเข้ามาเล่าประวัติอันน่าทึ่งจึงทราบว่า วิหารทั้งหลังสร้างจากการปั้นมือของหลวงพ่อริ้ว กุสลจิตโต อดีตเจ้าอาวาสคนแรก รูปปั้นของท่านตั้งอยู่หน้าพระประธาน

สวรรค์บนดิน ถิ่นนครสวรรค์

หลวงพ่อริ้วสร้างวิหารทั้งหลังด้วยความตั้งใจและจินตนาการ ทำให้พระพุทธรูปแต่ละองค์มีลักษณะไม่เหมือนทั่วไป รวมถึงจิตรกรรมฝาผนังที่มีทั้งรูปไดโนเสาร์ นกยักษ์ และสารพัดภาพที่ไม่ชินตาเกินจะตีความหมาย ไม่นับรวมรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ บนผนัง เพดาน หรือแม้กระทั่งหน้าบันด้านนอกที่มีแต่ศิลปะไร้ขอบเขตไม่เหมือนใคร

แม้แต่รองเจ้าอาวาสเองก็ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่า ศิลปะทั้งหมดสื่อถึงอะไร แต่คงไม่เกินเนื้อเรื่องของเวรกรรมและพุทธศาสนา

ปัจจุบันวิหารถูกทาสีใหม่ฉูดฉาดเหมือนงานศิลปะ ผิดไปจากแต่ก่อนที่ทั้งหมดเป็นปูนสีขาวขึ้นราดูน่ากลัวจนชาวบ้านไม่กล้าเข้าใกล้ กลายเป็นวัดที่ชาวบ้านเคารพศรัทธาเป็นศูนย์รวมใจ และยังเป็นหน้าเป็นตาของชุมชน

สวรรค์บนดิน ถิ่นนครสวรรค์

นอกจากนี้ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ชาวบ้านหาดเสลาจะนำอาหารในสวน ในไร่ ในครัว ออกไปวางขายในตลาดชุมชน หมู่ 6 ทั้งผักสด ผลไม้ปลอดสาร เมี่ยงคำ ขนมครก หรือแม้แต่ขนมตาล ขายในราคาที่คนกรุงเทพฯ เห็นแล้วตกใจอย่างกล้วยหวีละ 5 บาท ผักสดกำละ 10 บาท เรียกได้ว่ามีเงิน 100 บาทก็สามารถอิ่มและซื้อของฝากติดมือกลับไปได้เหลือเฟือ

สวรรค์ทั้ง 3 ชั้น น่าจะให้ความสุข ความอิ่ม ความเอมใจ ทั้งทำบุญไหว้พระ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชิมของพื้นบ้าน สัมผัสวิถีชีวิต เรียกว่าเป็นสวรรค์บนดินในนครแห่งสวรรค์ เมืองปากน้ำโพ

สวรรค์บนดิน ถิ่นนครสวรรค์