posttoday

Ishikawa น่าไปมาก (6)

04 กุมภาพันธ์ 2561

แทบทุกเมืองในญี่ปุ่นมักมีของดีแอบซ่อนไว้เสมอ ไม่มีใครกล่าวแต่ผมกล่าวเอง ตลอด 30 ปี

แทบทุกเมืองในญี่ปุ่นมักมีของดีแอบซ่อนไว้เสมอ ไม่มีใครกล่าวแต่ผมกล่าวเอง ตลอด 30 ปีที่เดินทางไปมาในญี่ปุ่น ยิ่งพบว่าตัวเองนั้นรู้จำกัดเสียเหลือเกิน ยังมีเรื่องราวและสิ่งต่างๆ ที่เราไม่รู้อีกมาก และคงไม่มีวันรู้ได้หมดเป็นแน่ อย่างที่เมืองเล็กๆ ชื่อ Wajima นี้ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ยิ่งใหญ่เกินตัวแอบซ่อนอยู่ เช่น ตลาดเช้าที่มีอายุเป็นพันปี ก่อนสมัยสุโขทัยของบ้านเราเสียอีก และยังเป็น 1 ใน 3 ตลาดเช้าที่โด่งดังที่สุดของญี่ปุ่นอีกด้วย หรืออาคาร Drama Memorial นี่ก็เป็นอีกที่ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นให้มาเยี่ยมเยือนได้เป็นอย่างดี ที่ผมชอบคือการจัดข้อมูลต่างๆ วางไว้ในตำแหน่งที่เห็นได้ง่าย

ทว่า กลมกลืนไปกับฉากจำลองต่างๆ เป็นอย่างดี ทำให้เรารู้ว่ามีละครและภาพยนตร์เรื่องไหนที่เคยมาถ่ายทำในเมืองนี้บ้าง และฉากสำคัญหรือโลเกชั่นในหนังมันอยู่ย่านไหนกันบ้าง ตรงนี้ดีมากสำหรับคนที่ชอบตามรอย และตามธรรมเนียมของสถานที่เที่ยวก็ต้องมีโซนขายของที่ระลึก ที่ผมสนใจมากเป็นพิเศษคือ ข้าว ที่นี่มีข้าวขายในรูปแบบที่แตกต่างออกไปคือ บรรจุในกล่องกระดาษสี่เหลี่ยมมีลวดลายภาพวาดสวยงาม แต่ละกล่องเป็นข้าวของชาวนาแต่ละครอบครัวรวมทั้งสิ้น 9 ตระกูล ซึ่งแต่ละสกุลก็จะเลือกสถานที่สำคัญของแหลมโนโตะมา 1 แห่ง แล้วให้ศิลปินวาดรูปเหล่านั้นลงบนกล่อง แต่ละกล่องแยกเป็นเอกเทศก็ได้ หรือจะนำมาร้อยเรียงต่อกันเป็นเรื่องราวก็ได้ มีป้ายบอกข้อมูลและประโยคเด็ดๆ ไว้ให้อ่านด้วย

Ishikawa น่าไปมาก (6)

ลองมาดูกันว่าเขาพูดอะไรกันบ้างครับ “ข้าวที่ให้ความรู้สึกนุ่มฟูเมื่ออยู่ในปาก ได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยน้ำที่มาจากภูเขาโควะชูโด ซึ่งเป็นหนึ่งในร้อยแหล่งน้ำที่ดีที่สุด” “ได้เพลิดเพลินกับความหอมหวานตั้งแต่กลิ่นไปจนถึงขณะที่ข้าวไหลผ่านลำคอ เพราะเป็นข้าวที่ปลูกในทุ่งนางดงามริมทะเลญี่ปุ่น จึงสัมผัสกับสายลมและแสงแดด รวมทั้งแร่ธาตุจากทะเลอย่างเต็มเปี่ยม” “ไม่ว่าจะเคี้ยวหรือกลืน ก็สัมผัสและรับรู้รสชาติที่ก้องกังวานอยู่ในปากได้ โนโตะฮิคาริเป็นข้าวมีกลิ่นหอมไม่ซ้ำใคร ที่ได้มาจากขั้นตอนการสีข้าว อีกทั้งเมล็ดข้าวที่ใหญ่จึงทำให้สัมผัสกับความฟูของข้าวได้เต็มที่ในขณะเคี้ยวและกลืน” “เป็นเมล็ดข้าวที่ดีมีความสนุกลิ้นและปากทุกครั้งที่เคี้ยว เพราะต้นข้าวที่แข็งแรงผ่านการหล่อเลี้ยงจากหิมะที่ละลายกลายเป็นตาน้ำของวะจิมะ” เป็นไงครับ นี่คือการสื่อสารของชาวนาญี่ปุ่นผ่านผลิตภัณฑ์ข้าว ซึ่งแตกต่างจากของบ้านเรามาก เราก็ปลูกข้าวได้เยอะ และเป็นสินค้าเกษตรตัวหลักของชาติ แต่ทำไมเราจึงหาวิธีเพิ่มมูลค่าด้วยการเล่าเรื่องแบบของเขาไม่ได้ ทั้งๆ ที่เรามีของดีอยู่ข้างกาย กลับไปเน้นการขายโดยปริมาณมากกว่าคุณภาพ ชาวนาไทยจึงไม่ได้ลืมตาอ้าปากเสียที เห็นอย่างที่ชาวนาโนโตะทำแล้ว อยากกลับไปช่วยชาวนาไทยบ้างจังเลยครับ

ในเมืองวะจิมะยังมีอีกสถานที่หนึ่งที่น่าสนใจมากคือ Wajima Kiriko Art Museum หรือพิพิธภัณฑ์โคมไฟ แปลกใจใช่มั้ยครับว่าโคมไฟมันน่าดูตรงไหน ลองนึกถึงงานเทศกาลแห่เทียนพรรษาของบ้านเราดูครับ Candle Parade หรือ Candle Festival ฝรั่งอ่านแล้วคิดตามก็ต้องแปลกใจว่า งานแห่เทียนมันจะมีอะไรน่าดูและยิ่งใหญ่ได้อย่างไร เพราะเวลาคนเรานึกถึงเทียนก็คือเทียนเล่มเล็กๆ ที่ใช้จุดบูชาหรือให้ความสว่าง ฝรั่งคงไม่ได้คิดไปถึงเทียนพรรษาที่ใหญ่โตแบบของบ้านเรา ก็เลยเป็นเรื่องแปลกและน่ามาชม เช่นเดียวกันกับ Kiriko หรือโคมไฟ ที่ตอนแรกก็นึกว่าโคมเป็นดวงๆ ที่ใช้ถือส่องทางยามค่ำคืน หรือแขวนหน้าบ้านคนญี่ปุ่นในสมัยก่อน แต่พอไปถึงจึงทราบว่าเป็นรถแห่ขนาดใหญ่ และที่ตั้งอยู่บนรถไม่ควรเรียกว่าโคม แต่มันเหมือนกับป้ายไฟขนาดใหญ่มากกว่า

Ishikawa น่าไปมาก (6)

หลายท่านอาจเคยเห็นศาลเจ้าจำลอง (Mikoshi) ของจริงบ้างหรือในสื่อต่างๆ มาบ้าง ซึ่งการแห่ศาลเจ้าจำลองนั้นถือเป็นเทศกาลสำคัญของแต่ละศาลเจ้ากันเลยทีเดียว ที่ดังและมีชื่อเสียงมากก็เช่น Sanja Matsuri ที่แห่กันในย่านอะซะคึสะ หรือ Kanda Matsuri ของย่านคันดะ ที่แหลมโนโตะก็มีเทศกาลแห่ศาลเจ้าเหมือนกันกับที่อื่นๆ แต่ที่เพิ่มเติมคือโคมไฟนำทางหน้าขบวนมาอีกหนึ่งไอเทม ทำไปทำมาโคมไฟสวยงามยิ่งขึ้นจนโดดเด่นไม่แพ้กับศาลเจ้าจำลอง เลยเหมารวมเรียกว่าเทศกาลแห่โคมไฟ และกลายเป็นเทศกาลที่ใหญ่ที่สุดของแหลมโนโตะไปในที่สุด

ภายในอาคารมีโคมไฟบนรถลากมากมายหลายสิบคัน แต่ละคันสูงใหญ่ไล่ลำดับเรียงกันไป ตามข้อมูลที่เจ้าหน้าที่บอก โคมไฟรถลากนี้มีมากถึง 800 คันกระจายอยู่ทั่วแหลมโนโตะ แต่ละเมืองแต่ละหมู่บ้านจะมีการแห่ขบวนศาลเจ้าและโคมไฟไม่ตรงกัน ตั้งแต่ช่วงหน้าร้อนเรื่อยไปถึงฤดูใบไม้ร่วง ลักษณะเด่นของโคมไฟรถลากคือโครงสร้างประกอบกันด้วยการเข้าลิ่มและสลัก ของแท้และดั้งเดิมไม่มีการใช้ตะปูเลย ถึงแม้ที่เราเห็นจะเป็นรถ แต่ในเทศกาลจริงจะมีคนแบกโคมอีกที โดยมีเชือกขนาดใหญ่ 2 เส้นผูกไว้ด้านหน้าและด้านหลัง เพื่อประคับประคองไม่ให้โคมไฟเสียสมดุลในระหว่างการแห่

Ishikawa น่าไปมาก (6)

โคมไฟที่สูงใหญ่ที่สุดคือโคมไฟจากสมัยเอโดะ มีความสูงถึง 15 เมตร หรือประมาณตึก 4 ชั้น และหนัก 2 ตันครึ่ง ต้องใช้คนแบกและลากจูงมากถึง 150 คน ตัวโคมทำจากต้นไม้ในจังหวัดอิชิกาวะที่มีอายุกว่า 400 ปี ส่วนคานหามทำจากไม้สนที่มีอายุ 200 ปี เป็นโคมไฟที่เชิดหน้าชูตาที่สุดของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ โดยส่วนตัวผมนับถือความสมัครสมานกลมเกลียวของชาวบ้านมาก วันก่อนไปดูพิพิธภัณฑ์เสาไม้ Onbashira ที่เมืองซูวะ ก็เห็นความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านในการลากไม้แบกไม้

ผมเลยอดนับถือไม่ได้ว่า คนที่คิดเรื่องการทำพิธีแห่เหล่านี้ต้องเป็นผู้ที่มีภูมิปัญญาสูง สามารถจัดกิจกรรมที่รวมกำลังของคนในชุมชนให้มาอุทิศแรงกายแรงใจได้โดยไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ ตำแหน่งใหญ่แค่ไหนก็มาแบกไม้ลากรถกันถ้วนหน้า โดยไม่เกี่ยงงอนว่าเธอเป็นลูกจ้างฉันเป็นนายจ้างอันใดทั้งสิ้น ยิ่งงานเทศกาล Kiriko นี่ยิ่งนับถือ ทำได้ยังไงที่ให้คนทั่วทั้งภูมิภาคคิดทำอะไรเหมือนกัน แต่กระจายลำดับเวลากันคนละช่วง

Ishikawa น่าไปมาก (6)

ถ้าใครอยากมาดูเทศกาลนี้ จึงมาได้ตลอดหลายเดือน ผิดกับเทศกาลของเมืองอื่นๆ ที่จัดกันวันสองวัน หรืออย่างมากก็สัปดาห์เดียว แต่ของโนโตะนี่จัดตลอดหน้าร้อน จึงกระจายรายได้ไปทั่วทั้งภูมิภาค สุดยอดจริงๆ ครับ ต้องจำเอามาบอกพี่ๆ ในการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยบ้างแล้วสิ