posttoday

เลือกตั้ง66:พลเอกประวิตร มั่นใจพปชร.ได้70เก้าอี้ พร้อมนั่งนายกฯ

10 เมษายน 2566

“พล.อ.ประวิตร” เปิดใจผ่านเครือเนชั่น มั่นใจโพล “สันติบาล-กศน.” พปชร.กวาด 70 ส.ส. เขต 60 ที่นั่ง ปาร์ตี้ลิสต์ 10 ที่นั่ง พร้อมนั่งนายกฯ แก้ปัญหาทำทันทีทุกเรื่องที่ประชาชนเดือดร้อนและความอยู่ดีกินดี ปิดฉาก3ป.การเมืองเดินคนละทาง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์พิเศษ เครือเนชั่น เกี่ยวกับภารกิจนำพาลูกพรรคเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ปี 2566 ท่ามกลางบริบททางเมืองที่แปรเปลี่ยน ความสัมพันธ์ของพี่น้อง 3ป. ที่พลิกผัน ต้องแข่งกันเอง เมื่อต่างฝ่ายต่างทะเยอทะยานไปสู่ความสำเร็จในการกวาดที่นั่ง ส.ส.ให้ได้มากที่สุด
 

พล.อ.ประวิตร ย้อนเหตุการณ์ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะออกไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ว่า “ผมกับตู่ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี) ต่างคนต่างไป เรื่องการเมืองต่างคนต่างเดิน เพราะตอนแรกผมก็บอกแล้วว่า ถ้าเขาอยู่ ถ้ามาก็มาเป็นสมาชิกพรรคแล้วก็เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ผมก็จะไปเป็นประธานที่ปรึกษา แล้วที่มีคนพูดว่า คนของผมไปกันพล.อ.ประยุทธ์ ไม่จริง ไม่มีใครกันหรอก แต่ผมก็ตอบไม่ได้ถึงการที่พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เข้ามา ก็ต้องไปถามตู่”
 

“ผมก็จะทำให้พรรคนี้ (พปชร.) อยู่ได้ เข้มแข็ง จุดแข็งคือคนที่เข้ามาอยู่ในพรรคมีความรู้ความสามารถในการบริหารประเทศ แต่ละคนที่เข้ามามีคุณภาพดีเสียส่วนใหญ่ ทีมเศรษฐกิจมี 5 คนมีที่ยืนในพรรคเยอะแยะ เก่งๆ กันทั้งนั้น”

“บัตรประชารัฐของพรรคพลังประชารัฐนะ พรรคพลังประชารัฐทำมาตั้งแต่ต้น นายอุตตม สาวนายน เป็นคนทำ แต่ก็ใช่ ถูก ถ้านายกฯ ไม่เซ็นก็ไม่ได้ ก็เป็นเรื่องของรัฐบาล แต่เสนอโดยพลังประชารัฐเป็นคนทำ”

นอกจากนั้นยังมีผลงานเรื่องที่ดินทำทั้งประเทศ เอามาแบ่งให้ประชาชนมีที่อยู่ที่ทำกิน แต่การแปลงที่สปก.เป็นโฉนด ยังไม่ได้ ติดกฎหมายอยู่ รวมถึงการยึดโฉนดคืนจากนายทุน ตนให้ตำรวจไปทำ พวกที่คิดดอกเบี้ยหลายเท่าตัว เอาโฉนดไปเก็บไว้เป็นตั้งๆ ก็ไปยึดเอากลับไปคืนให้ชาวบ้าน

“ผมทำให้ประชาชนในทุกเรื่องที่ประชาชนได้ประโยชน์ ทำให้เขาอยู่ดีกินดีได้ โดยเฉพาะเรื่องน้ำ เรื่องที่ดิน เกิดมาอายุป่านนี้แล้วไม่ต้องการอะไรแล้ว แต่ตอนนี้เมื่อผมไม่ได้เป็นประธานก.ตร. เรื่องยึดคืนโฉนดก็ไม่ได้ทำ คนอื่นก็ไม่ทำ ขณะที่การแก้ปัญหาหนี้รายย่อย ถ้าผมเข้ามาก็จะทำต่อช่วยกลุ่มเปราะบาง”

“สิ่งแรกที่อยากทำหากได้เป็นนายกฯ คือผมทำทันทีทุกเรื่องที่ประชาชนจะได้อยู่ดีกินดีขึ้น แก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ทำทุกเรื่อง”

ระหว่างนี้ การจะไปถึงเป้าหมายหรือมีอำนาจในฝ่ายบริหารต่อไปนั้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องทุ่มสรรพกำลังในการบริหารจัดการงานการเมืองไม่น้อย โดยพล.อ.ประวิตร ยอมรับว่า การเมืองมันปวดหัวหน่อย เพราะมี 400 เขต เขตที่ตัวผู้สมัครทับซ้อนกัน โห่…ทับกันทุกเขต ต่างคนต่างไม่มีใครยอมกัน คุณไปหานักการเมืองที่ยอมกันมีไหม ผมก็ต้องดูว่าคนไหนทำประโยชน์ให้กับพรรคได้มากกว่ากันตามความคิดผม ผมก็บอกว่าคนที่ลงเขตแล้ว อีกคนไม่ได้ลงก็ขึ้นปาร์ตี้ลิสต์

“ถ้าเรามาเป็นรัฐบาล ก็มาเอาตำแหน่งข้าราชการการเมืองที่มีเยอะแยะ เขาก็ยอม ก็เพราะคำพูดผม ผมก็บอกอย่างนี้ ใครจะเอาปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ต้นๆ ผมก็บอกจะดูให้ จะได้เบอร์อะไรเดี๋ยวก็ดู เพราะเป็นเรื่องคณะกรรมการบริหารพรรค ผมจะไปตกลงว่าคุณจะอยู่เบอร์อะไรไม่ได้ ก็มีคนน้อยอกน้อยใจเป็นธรรมดา”

ส่วนการตัดสินใจลงสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับ1 พล.อ.ประวิตร อธิบายว่า “ผมไม่ได้ตัดสินใจเลย ลูกพรรคเป็นคนให้ผมลง ผมทำตามลูกพรรคจากมติพรรค ผมเห็นว่าลูกพรรคจะเอาอย่างไร มีคณะกรรมการบริหารพรรค คณะกรรมการคัดสรรผู้สมัคร ผมก็ปล่อยให้เขาเสรี ผมลงก็ลง”

 
ขณะที่ความมั่นใจถึงผลการเลือกตั้งนั้น พล.อ.ประวิตร มองว่า ขึ้นอยู่กับประชาชน แต่เท่าที่ผมดูพลังประชารัฐไม่น้อยกว่า 70 ที่นั่ง แน่นอน ผมมั่นใจตัวบุคคลที่ลงเขต จะโดนหลอกหรือไม่นั้นผมก็ดูว่าโปรไฟล์แต่ละคนเป็นอย่างไร ผมทำโพลทั้งจากสันติบาล และโพลของ กศน. ปาร์ตี้ลิสต์ก็ประมาณ 10 คน ผมก็ส่งคนไปประเมินแต่ละเขต เราแบ่งพื้นที่รับผิดชอบเป็น 10 ภาคประชุมกันทุกสัปดาห์ ผมมั่นใจได้เกิน 70 มีบ้านใหญ่อยู่กับเราเยอะที่สุด

“ผมมั่นใจว่าเพชรบูรณ์ผมจะยกได้ กำแพงเพชร พะเยา ยก ปากน้ำ (สมุทรปราการ) ยก เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ที่เสียชีวิต ไม่กระทบ รวมถึงสมุทรสาคร ส่วนกาญจนบุรี ได้ 3-5 คน ราชบุรี ได้3-5 คน สระแก้ว ยก” พล.อ.ประวิตร ให้ความมั่นใจ

อีกประเด็นที่หลายฝ่ายจับตามองว่า ถึงดีลระหว่างพรรคภูมิใจไทยและพลังประชารัฐ ภายหลังปรากฎภาพแกนนำสองพรรคร่วมรับประทานอาหารเที่ยงที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ นั้น พล.อ.ประวิตรชี้แจงว่า “ผมไม่ได้ผูกขาใครไว้ ผมจะผูกไว้ทำไม คุยอะไรกันไม่ได้หรอก เพราะมันต้องดูตัวเลขหลังจากเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้วค่อยมาคุยกัน ใครบอกว่าไปไหนไปกันกับภูมิใจไทย ดีลมันจะไปลงตัวอย่างไร ต้องไปถามนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ถ้าไปพูดอย่างนั้น”

แต่ดูเหมือนระหว่างพลังประชารัฐ กับรวมไทยสร้างชาติ เงื่อนไขหลังเลือกตั้งค่อนข้างชัดเจนว่าใครได้จำนวน ส.ส.มากกว่ากัน พรรคนั้นจะได้เป็นนายกฯ หรือเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล

“ก็แล้วแต่รวมไทยสร้างชาติจะเอาไง ใครได้มากกว่าคนนั้นก็เป็น ถ้ารวมไทยสร้างชาติได้มากกว่าก็เป็นแกน แต่ถ้าพลังประชารัฐมากกว่าก็เป็นแกน” พล.อ.ประวิตร ระบุถึงเงื่อนไข แต่ก็ยังสงวนท่าทีไม่ประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าใดๆ ทั้งสิ้น ว่าแนวโน้มหรือหน้าตาของรัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร

“ผมไม่ประเมินถึงโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ผมขอดูตัวเลขก่อนนะ ใครได้เท่าไหร่ เพื่อไทยอาจจะได้ 310 อะไรอย่างนี้ ก็ว่าไป ผม 70 ก็เหลืออีกน้อยนิดเดียว ภูมิใจไทย ได้ 90 มันจะไปหาที่ไหนมาได้”

การเลือกตั้งปี 66 ยากกว่า ปี 62 พล.อ.ประวิตร มองแบบนั้น เพราะพรรคใหญ่ๆ สู้กันเยอะ ไม่มีใครยอมใคร ผมทำของผมให้ดีที่สุด จะไปยุ่งกับพรรคอื่นทำไม เพื่อไทยที่ว่ามีกระแส ผมจะไปดูพรรคอื่นทำไม พรรคทุกพรรคก็ต้องดูตัวเองเป็นหลัก ทำตัวเองห้ามต่ำกว่า 70 ถ้าสูงสุดเกิน100 สิ คนอื่นได้เท่าไหร่ก็ว่าไป

“รัฐบาลเสียงข้างน้อยไปไม่ได้ เสียงต้องไม่ต่ำกว่า 251 ถึงมี ส.ว.สนับสนุนก็ไม่ได้ มันออกกฎหมายอะไรก็ไม่ได้ แพ้หมด” พล.อ.ประวิตร พูดด้วยท่าทีขึงขัง

ส่วนเรื่องการก้าวข้ามความขัดแย้งและการจับมือกับพรรคเพื่อไทย คนละประเด็น ผมแค่อยากให้คนไทยรักกัน มีความสามัคคี เป็นหนึ่งเดียว นำพาประเทศไปด้วยกันช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อก้าวไปข้างหน้า เรื่องทางการเมืองเป็นอีกเรื่อง ใครจะคิดยังไงก็ว่ากันไป เป็นเรื่องของสภาต้องเลิกกีฬาสี และการที่พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา มาร่วมงานกับพลังประชารัฐ ท่านก็อยากมาช่วยผม แต่ในส่วนของ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ผมไม่ได้ติดต่อ แต่ท่านก็อยากจะมา ใครมาผมก็เปิดกว้าง

อีกเรื่องที่หลายคนอยากรู้คือความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง 3ป. ยังกลมเกลียวเหมือนวันวานหรือไม่ เราก็ได้ทราบความชัดเจนจากปากพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์

“ความสัมพันธ์ระหว่าง 3ป. แบบพี่แบบน้องยังคงอยู่ แต่ทางการเมืองไม่ว่าอะไร เพราะไม่เคยคิดว่าผมจะต้องทำอย่างโน้นทำอย่างนี้ ไม่ถามกัน ตอนนี้ 3ป. ในทางการเมืองไม่มีแล้ว หลังเลือกตั้งในทางการเมืองก็ไม่มี”