posttoday

"คนซอยสวนพลู"ชวนติดตามเรื่อง " แก้รัฐธรรมนูญเพื่อสร้างภูมิทัศน์การเมืองใหม่"

21 กรกฎาคม 2562

บางคนมองว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่ยาวิเศษที่จะแก้ปัญหาประเทศได้ทุกปัญหาดังเช่นรัฐบาล“ประยุทธ์”บรรจุเป็นนโยบายอันดับท้ายๆและไม่มีกำหนดเวลาจะเสร็จสิ้นเมื่อไร

บางคนมองว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่ยาวิเศษที่จะแก้ปัญหาประเทศได้ทุกปัญหาดังเช่นรัฐบาล“ประยุทธ์”บรรจุเป็นนโยบายอันดับท้ายๆและไม่มีกำหนดเวลาจะเสร็จสิ้นเมื่อไร

.......................

โดย ทวี สุรฤทธิกุล

รัฐธรรมนูญคือคู่มือในการสร้างบ้านแปงเมือง

คนที่คิดจะสร้างบ้านมักเริ่มจาก “ความฝัน”คือฝันว่าจะมีบ้านแบบไหน จะอยู่กับใคร และมีกิจกรรมที่จะทำอะไรในบ้านนั้นบ้าง ภาษาสถาปนิกเขาเรียกว่า “Form follow function”คือต้องคิดถึงขนาดและพื้นที่ใช้สอยก่อนที่จะวาดออกมาเป็นรูปบ้าน หรืออย่างที่สำนวนไทยบอกว่า “ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน”คือต้องเข้าใจความต้องการของผู้เป็นเจ้าของบ้านเสียก่อน แล้วจึงจะเขียนแบบแปลนเพื่อสร้างบ้าน เพื่อให้คนในบ้านมีความพอใจ เมื่อบ้านสร้างเสร็จแล้วก็“อยู่สุข อยู่สบาย”ตามต้องการ

โชคร้ายที่ประเทศไทยมีคนชอบ “แอบอ้าง”เป็นเจ้าของบ้านแทนประชาชนคนไทย คือถ้าไม่ใช่เผด็จการทหารก็เป็นนักการเมืองเลวๆ โดยเฉพาะเผด็จการทหารนั้นเมื่อยึดอำนาจได้ก็มักจะฉีก“แปลนเก่า”หรือรัฐธรรมนูญเดิมทิ้ง แล้วเขียน “แปลนใหม่”หรือรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาทุกครั้ง แต่ไม่ว่าทหารหรือนักการเมืองจะเขียน ก็ล้วนแต่เขียนเพื่อประโยชน์ของพวกเขา อย่างที่มีคำกล่าวว่า “ใครเขียนรัฐธรรมนูญ เขาก็เขียนเพื่อรักษาอำนาจของพวกเขาไว้”(ดูเหมือนว่าจะมีรัฐธรรมนูญเพียง ๒ ฉบับที่เขียนขึ้นด้วยกระบวนการที่ถูกต้องและได้รัฐธรรมนูญที่ดี คือฉบับ พ.ศ. ๒๕๑๗ ที่เขียนโดยคณะนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งถือกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากๆ เพราะมีเนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตยในทางสากลอยู่อย่างบริบูรณ์ และอีกฉบับหนึ่งก็คือฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่ร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ และผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเข้มข้น แม้ว่ารัฐธรรมนูญบางฉบับจะมีการทำประชามติเช่นกัน เช่น ฉบับ พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่ก็เป็นการ “บังคับประชามติ”จึงทำให้เนื้อหานั้นไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนแต่อย่างใด)

หลายคนอาจจะมองว่า “รัฐธรรมนูญไม่เห็นจะสำคัญอะไร”เพราะสามารถฉีกทิ้งได้ง่ายๆ อย่างที่ทหารชอบทำกัน แต่ท่านทั้งหลายก็ต้องเข้าใจก่อนว่า “ก็เพราะรัฐธรรมนูญนี้สำคัญนัก”ในการทำรัฐประหารเขาจึงต้องฉีกทิ้งทุกครั้ง ไม่งั้นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ใช้ก่อนหน้านั้นจะเป็นอุปสรรคในการทำงานของทหาร และที่แย่ที่สุดก็คือจะกลับมา “ตวัดคอ”คือทำร้ายเอาโทษแก่ทหารที่ยึดอำนาจนั้นได้ เพราะรัฐธรรมนูญทุกฉบับจะมีบทบัญญัติที่ห้าม “ล้มล้างรัฐธรรมนูญ”อยู่ด้วย ดังนั้นเขาจึงออกกฎหมายใหม่ คือประกาศคณะปฏิวัติบ้าง ธรรมนูญชั่วคราวบ้าง เพื่อนิรโทษกรรมและไม่ให้มีการเอาผิดแก่ผู้ทำรัฐประหารนั้น

บางคนอาจจะมองว่า “รัฐธรรมนูญไม่ใช่ยาวิเศษ”อันสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ทุกปัญหา ดังเช่นที่รัฐบาลชุด “ประยุทธ์ใหม่”ได้บรรจุเป็นนโยบายไว้ในอันดับท้ายๆ และไม่มีกำหนดเวลาว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อไรอย่างไร โดยอ้างว่าต้องแก้ปัญหาปากท้องก่อน โดยเอาเรื่องเร่งด่วนด้านเศรษฐกิจเข้ามาวางไว้เป็นนโยบายลำดับแรกๆ จึงเหมือนเป็นการตอกย้ำว่า “รัฐธรรมนูญนั้นกินไม่ได้”เพื่อเบี่ยงเบนประเด็นไม่ให้คนสนใจเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิด “กระแสการเมือง”เข้ามารบกวนการทำงานของรัฐบาล

ผู้เขียนมองด้วยความมั่นใจว่า เพราะรัฐบาล “กลัว”การแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงเพียงแต่เอามา “ประดับไว้”เป็นส่วนหนึ่งในนโยบายของรัฐบาล แต่เอาเข้าจริงๆ คงไม่คิดที่จะแก้ไขหรือดำเนินการให้เป็นรูปธรรมใดๆ เช่น การกำหนดโรดแม็ปหรือกระบวนการที่จะทำให้เสร็จสิ้น อย่างมากก็คงแค่ตั้งกรรมการขึ้นมาศึกษา “ซื้อเวลา”ไปเป็นระยะ (ว่ากันว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๑๑ ก็ใช้เทคนิคนี้ โดยมีการตั้งคณะยกร่างขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๐๒ แล้วใช้เวลาถึง ๙ ปีกว่าที่จะร่างเสร็จ โดยอ้างว่ามีการเปลี่ยนรัฐบาล ซึ่งที่จริงก็คือทหารที่สืบอำนาจกันมา ทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการอยู่หลายครั้ง) แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ที่ชูเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเป็นนโยบายสำคัญ ก็คงได้แต่แสดงวาทกรรมให้ดูขึงขัง แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่กล้าที่จะขับเคลื่อนผลักดัน เพราะจะเป็นเหมือนการ “จุดระเบิด”ทำให้รัฐบาลนี้สิ้นสลายได้ง่ายๆ

ในทางรัฐศาสตร์เชื่อกันว่า รัฐธรรมนูญนี้คือสิ่งกำหนด “หน้าตาและทิศทางของบ้านเมือง”เหมือนเช่นการเขียนแบบแปลนบ้านของสถาปนิก หรือการวางระบบต่างๆ ภายในบ้านของวิศวกร (พรรคกิจสังคมในช่วง พ.ศ. ๒๕๑๘ – ๒๕๒๖ เคยมีหลักสูตรสร้างแกนนำทางการเมืองชื่อว่า “วิศกรสังคม”ต่อมาพรรคพลังธรรมในยุคของพลตรีจำลอง ศรีเมือง ใช้หลักสูตรเดียวกันนี้สร้างผู้นำทางการเมืองขึ้นมาจำนวนมาก แต่ใช้ชื่อว่า “วิศวกรการเมือง”)เพราะรัฐธรรมนูญจะกำหนดที่มาของอำนาจสูงสุดหรือ “อำนาจอธิปไตย”อย่างเช่น ในมาตราแรกๆ ของรัฐธรรมนูญจะบอกว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย”เป็นต้น

จากนั้นเป็นการจัดวางโครงสร้างทางอำนาจ ได้แก่ รัฐสภา รัฐบาล และศาล (รวมถึงองค์กรอิสระในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นมา) ซึ่งที่ผ่านมาคนร่าง มักจะเถียงกันเรื่องอำนาจอธิปไตยและกระบวนการในการใช้อำนาจเหล่านี้ เช่น จะมีกี่สภา ที่มาของแต่ละสภา ที่มาของนายกรัฐมนตรี และอำนาจหน้าที่ของรัฐบาล เป็นต้น เหมือนกับการวางแบบแปลนบ้านว่า ทางขึ้นทางเข้าจะอยู่ตรงไหน หน้าบ้านหรือมุมใช้สอยต่างๆ จะหันไปในทิศทางใด พื้นที่ต่างๆ จะใช้ทำอะไร จะกินจะนอนตรงไหน ระบบแสงสว่างน้ำไฟและเฟอร์นิเจอร์จะเป็นอย่างไร อันเปรียบได้กับรายละเอียดต่างๆ ของรัฐธรรมนูญที่จะต้องมีความสัมพันธ์กันอย่างดี ซึ่งในทางรัฐศาสตร์เราเรียกว่า “สมดุลแห่งอำนาจ”หรือ “Balance of Power” นั่นเอง

องค์ประกอบทั้งหลายของรัฐธรรมนูญนั้นจะช่วยสร้าง“ภูมิทัศน์”หรือมุมมองให้กับการเมือง บ้านจะสวยจะดีน่าอยู่หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของสถาปนิกที่เข้าใจหรือได้พูดคุยจนเข้าใจกับเจ้าของบ้านแล้วเป็นอย่างดี เช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญก็สะท้อนถึงหน้าตาของคนในชาติซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจนั้น

ถ้าคนไทยอยากหายขี้เหร่ก็ผ่าตัด “แปลงโฉม”แก้ไขรัฐธรรมนูญนี้เสียก่อนเถิด