posttoday

"ทูตเผือก" วิเคราะห์ ผ่านมุมมองอดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองฯ

11 เมษายน 2562

หลายคนสงสัยว่า คนจำนวนมากเป็นพัน ๆ คนนี้กำลังทำอะไรในสถานทูตที่เต็มไปด้วยเครื่องมือเทคนิคทั้งในและนอกอาคารเพราะเดี๋ยวนี้เขาสามารถย้าย “ค่ายรามสูร”ทั้งค่ายมาตั้งอยู่ในตึกหลังเดียวได้ ที่แน่ ๆ ก็คือ เขาได้สร้าง “เครือข่ายลับ”ไว้ทั่วประเทศแล้ว

หลายคนสงสัยว่า คนจำนวนมากเป็นพัน ๆ คนนี้กำลังทำอะไรในสถานทูตที่เต็มไปด้วยเครื่องมือเทคนิคทั้งในและนอกอาคารเพราะเดี๋ยวนี้เขาสามารถย้าย “ค่ายรามสูร”ทั้งค่ายมาตั้งอยู่ในตึกหลังเดียวได้ ที่แน่ ๆ ก็คือ เขาได้สร้าง “เครือข่ายลับ”ไว้ทั่วประเทศแล้ว

**********

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

นี่ไม่ใช่เป็นครั้งแรกที่นักการทูตฝรั่งกลุ่มหนึ่งจากสถานทูตบางประเทศในไทยได้ออกมาวุ่นวายเกี่ยวกับกิจการในประเทศของไทย ที่เขียนว่า “นักการทูตฝรั่ง” ก็เพราะมีเฉพาะฝรั่งเท่านั้น ทุกครั้งที่ปรากฏกิจกรรมเช่นนี้ ไม่เคยมีนักการทูตจากเอเชีย แอฟริกา ละตินอเมริกา ตะวันออกกลาง ออกมาวุ่นวายด้วยเลย และฝรั่งหลายคนที่ออกมาก็ล้วนแต่หน้าเดิม ๆ และจากสถานทูตเดิม ๆ เจ้ากี้เจ้าการก็มาจากสถานทูตมหาอำนาจแถวถนนวิทยุเป็นสำคัญ ซึ่งเพิ่งออกแถลงการณ์เชิงลบเกี่ยวกับการเลือกตั้งในเมืองไทยก่อนหน้านี้มาแล้วสอดคล้องกับบางพรรคการเมือง

พฤติกรรมของทูตในกลุ่มนี้กระทบต่อ “เส้นแบ่งอันเปราะบาง ระหว่างการทำหน้าที่ของนักการทูต กับ การแทรกแซงกิจการภายใน”ของไทย สิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเรื่องที่มีการวางแผนล่วงหน้าอย่างเป็นขั้นตอน จะว่าไปก็เป็นเรื่อง “คนของเรา “ไปดึงเขาเข้ามาเอง ผู้เขียนเชื่อคำแถลงอย่างเป็นทางการของโฆษกของกระทรวงต่างประเทศ ที่อ้างคำพูดของนักการทูตฝรั่งที่ไปที่สถานีตำรวจปทุมวันครั้งนี้โดย “ได้รับเชิญ”จากนายธนาธร ในขณะที่ผู้แทนพรรคอนาคตใหม่ให้ข่าวทำนองว่า “เขามาเอง”ส่วนผู้อ่านจะเลือกเชื่อฝ่ายไหนก็เอาตามสะดวก

ที่ผ่านมา นักการทูตฝรั่งหลายคนในกลุ่มนี้จะถูกพบเห็นในการชุมนุม ประท้วง เสมอ ส่วนใหญ่มักไปคลุกคลีกับพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่งและกลุ่มการเมืองแนวร่วมเป็นสำคัญ ครั้งนี้ก็เช่นกัน นอกจากจะอ้างว่าไปให้กำลังใจแก่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แต่สิ่งที่ทูตกลุ่มนี้กระทำเข้าข่าย “การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของไทย“ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก โดยเฉพาะการเข้าไปนั่งฟังการสอบสวนของพนักงานตำรวจ ซึ่งเท่ากับเป็นการ “ละเมิดอธิปไตยทางศาล”ของไทยอย่างชัดเจน

หากไปค้นดูวีกีพีเดียเกี่ยวกับภารกิจ หน้าที่ของนักการทูต ในอนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ.1815 และข้อตกลงในการประชุมสหประชาชาติ ค.ศ.1961 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของคณะผู้แทนทางการทูต สรุปว่า นักการทูตมีภาระ (Tasks)ที่ต้องทำ 3 ประการ หนึ่งในนั้นคือ การรวบรวมและประเมินข่าว ส่วนการประชุมสหประชาชาติปี 1961 ได้ระบุหน้าที่ (Functions)ของนักการทูตมี 4 ประการ หนึ่งในนั้นคือ การรายงาน (Reporting)

สรุปได้ว่า หน้าที่สำคัญประการหนึ่งของนักการทูต คือ รายงานความเป็นไปในประเทศที่ตนไปประจำกลับมายังประเทศตน นักการทูตถือว่า “เป็นหูเป็นตา”ของรัฐบาลประเทศตน การรวบรวมข่าวของนักการทูตส่วนใหญ่เป็นการรวบรวม “ข่าวเปิด”จากหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่อดิจิตัล หรือการพบปะบุคคล การสังเกตการณ์ เรามักจะพบเห็นบ่อย ๆ ที่นักการทูตจากสถานทูตต่าง ๆ ไปเดินดูการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา โดยไม่เข้าไปวุ่นวายฝักฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือพบปะอย่างเปิดเผยกับ “แหล่งข่าว “

อย่างไรก็ดี หากประเทศที่ตนไปประจำมีความวุ่นวายทางการเมือง มีการแบ่งแยกเป็นกลุ่ม นักการทูตยิ่งต้องระมัดระวังตัวมากขึ้นที่จะไม่กระทำการอันใดที่ส่อว่าจะเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จนสุ่มเสี่ยงที่จะถูกกล่าวหาว่า เป็น “การแทรกแซงกิจการภายใน”ของประเทศที่ตนไปประจำ ในบางประเทศ การที่นักการทูตพบปะพูดคุยกับฝายค้านเพื่อหาข่าวยังโดนเขม่นจากรัฐบาลประเทศเจ้าภาพ โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลและฝ่ายค้านกำลังมีการขัดแย้งกันอย่างรุนแรง

การหาข่าวโดยวิธีเปิดเพื่อรายงานกลับไปยังประเทศตนสามารถทำได้ตามขอบเขตหน้าที่ที่อนุสัญญาเจนีวาและสหประชาชาติกำหนดไว้ แต่ถ้าไปหาข่าวโดย”วิธีลับ”หรือเที่ยวไปรีครุทให้คนท้องถิ่นเป็นสายลับให้ตน อย่างนี้เขาเรียกว่า “การจารกรรม”นักการทูตที่ประพฤติตนเช่นนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจารชนที่อำพรางตัวมาเป็นนักการทูต อาจถูกประเทศเจ้าบ้านขับออกนอกประเทศในฐานะเป็น “บุคคลไม่พึงปรารถนา”ได้

สำหรับกรณีนักการทูตฝรั่ง 12 คนที่ไปวุ่นวายที่สถานีตำรวจปทุมวันนั้น ดูเหมือนว่าจะ “ทำเกินหน้าที่”ของนักการทูต ในช่วงเวลาที่การเมืองในไทยอ่อนไหวเช่นนี้ หากสงสัยว่าพวกตนควรจะไปตามคำเชิญหรือไม่อย่างไร หรืออยากรู้ว่าทำไมนายธนาธรต้องขึ้นศาลทหาร ก็สามารถขอคำและนำและสอบถามกระทรวงต่างประเทศไทยได้ การที่นักการทูตเหล่านี้ถือวิสาสะเข้าร่วมฟังการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่อาจพิจารณาเป็นอย่างอื่นได้นอกจากท่านได้ทำเกินหน้าที่ และเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและละเมิดอธิปไตยของไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก และอาจถูกมองว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของไทย ยิ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองเช่นนี้ นักการทูตต่างประเทศควรมีสามัญสำนึกที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

หลายคนสงสัยว่า หัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตหรือเอกอัคราชทูตของสถานทูตนั้นไม่ได้ห้ามปรามบ้างหรืออย่างไร เพราะนักการทูตเหล่านี้น่าจะปรึกษาและขออนุญาตจากเอกอัคราชทูตก่อน หรืออย่างน้อยก็ต้องบอกเล่าเก้าสิบให้เอกอัคราชทูตได้ทราบ เมื่อเกิดเรื่องราวใหญ่โตเช่นนี้ เอกอัคราชทูตประเทศนั้นจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะอาจกระทบต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ และปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ซ้ำแล้วซ้ำอีก

มาตรการเช่นนี้ อาจเป็น “ปฏิบัติการยั่วยุ”ก็ได้เพื่อให้รัฐบาลไทยหงุดหงิด คนที่ออกมาเป็น “ตัวเปิด”ทั้งสิ้น ส่วน “ตัวปิด”นั้นยังเก็บตัวเงียบและทำภารกิจลับเงียบ ๆ เอ็น.จี.โอ. หลายแห่งพร้อมที่จะรับคำสั่ง

ไทยเป็นประเทศเล็กที่ไม่อาจสร้างปัญหาขัดแย้งกับมหาอำนาจทั้งหลาย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราจะยอมให้ทูตต่างชาติมาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศ ท่านรัฐมนตรีต่างประเทศคนนี้ซึ่งเป็น “มืออาชีพ”ได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนแล้ว ทีนี้ก็เป็นเรื่องของกรมกองที่เกี่ยวข้องจะต้องทำความเข้าใจกับสถานทูตต่าง ๆ อีกที หากชี้แจงแล้ว หากนักการทูตเหล่านี้ยังกระทำการสุ่มเสี่ยงต่อการแทรกแซงกิจการภายในและละเมิดอธิปไตยของประเทศอีก ค่อยคิดกันอีกที

หัวโจกของปฏิบัติการครั้งนี้ คงหนีไม่พ้นจากสถานทูตแห่งหนึ่งบนถนนวิทยุ ซึ่งเป็นสถานทูตที่มีบุคลากรมาประจำมากที่สุดลำดับต้น ๆ ของโลก หลายคนสงสัยว่า คนจำนวนมากเป็นพัน ๆ คนนี้กำลังทำอะไรในสถานทูตที่เต็มไปด้วยเครื่องมือเทคนิคทั้งในและนอกอาคารเพราะเดี๋ยวนี้เขาสามารถย้าย “ค่ายรามสูร” ทั้งค่ายมาตั้งอยู่ในตึกหลังเดียวได้ ที่แน่ ๆ ก็คือ เขาได้สร้าง “เครือข่ายลับ”ไว้ทั่วประเทศแล้ว จนนักการทูตต่างประเทศบางคนพูดถึง “ไทยสปริง “ขึ้นมาบ้างแล้ว