posttoday

บัตรใบเดียวมีค่ามาก

20 มีนาคม 2562

การเลือกตั้งครั้งนี้ กาบัตรเดียวแต่ทำให้ประชาชนแสดงเจตจำนงทางการเมืองได้ถึง 3 ด้านอย่างเป็นเอกภาพ

การเลือกตั้งครั้งนี้ กาบัตรเดียวแต่ทำให้ประชาชนแสดงเจตจำนงทางการเมืองได้ถึง 3 ด้านอย่างเป็นเอกภาพ

*************************

โดย...อุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560

การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญเป็นระบบกาบัตรเดียวมีผลทั้งเลือกคนในเขตและคนในบัญชีรายชื่อ ระบบนี้เป็นการบังคับให้พรรคการเมืองต้องทำงานให้มากขึ้น ไม่เช่นนั้นจะกระทบผลการเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อตามไปด้วยนั่นเอง ยิ่งไปกว่านั้นการกาบัตรใบเดียวนี้ ยังทำให้ได้รู้อีกว่าพรรคการเมืองนั้นๆ สนับสนุนให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะนอกจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้พรรคที่ส่งผู้สมัครลงในเขตเลือกตั้ง อาจเสนอชื่อคนที่พรรคเห็นว่าเหมาะจะเป็นนายกรัฐมนตรีของบ้านเมืองได้ไม่เกิน 3 รายชื่ออีกด้วย

แต่พรรคใครพรรคมันนะครับ เสนอซ้ำกันไม่ได้ และจะเสนอชื่อใครก็ต้องให้คนนั้นเขายินยอมให้เสนอด้วย เช่นนี้เองประชาชนก็จะได้ดูกึ๋นของพรรคที่เสนอไปด้วยว่ากว้างไกลเพียงใด ตรงกับความคิดเราหรือไม่

การกาบัตรเลือกตั้ง สส.ใบเดียวในคราวนี้ จึงได้ถึง 3 อย่าง คือ 1.เลือกผู้สมัครในเขตเลือกตั้ง 2.ให้คะแนนกับผู้สมัคร สส.ของพรรคในบัญชีรายชื่อ และ 3.เท่ากับเห็นชอบกับรายชื่อคนที่พรรคนั้นๆ เสนอว่าเหมาะจะเป็นนายกรัฐมนตรี

รัฐธรรมนูญให้ใช้การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง สส.ด้วยบัตรใบเดียวเพื่อให้พวกเราได้ตระหนักว่า พรรคการเมืองที่ดีก็ต้องเลือกคนดีมาเสนอประชาชน และคนที่ดีก็ควรไปร่วมคิดร่วมทำกับพรรคการเมืองที่ดี และให้คิดด้วยว่าถ้าหากพรรคการเมืองใดเสนอคนที่เราไม่ไว้วางใจในคุณธรรมความรู้ความสามารถ ก็ควรที่จะไม่เลือกทั้งคนทั้งพรรคนั้นเข้ามารับผิดชอบบ้านเมือง

เราคงได้ยินคนพูดว่าคุ้นเคยกับระบบกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ” ประสบการณ์ก็ทำให้เราเห็นแล้วว่าคนและพรรคที่รักที่ชอบหน้าตาออกมาอย่างไร ระบบนายทุนพรรคเขาคุมได้หมด อาจไม่ได้ทั้งคนที่รักและพรรคที่ชอบก็ปิ๋ว เพราะระบบ 2 บัตรที่เคยใช้มาทำให้เกิดความไม่เสมอภาคของเสียง

เพราะทำให้เสียงของคนที่เลือกทั้งคนและพรรคที่ไปด้วยกัน กลายเป็นมีเสียง 2 เสียงหนักแน่นมากกว่าพวกเลือกคนในเขตพรรคหนึ่ง และไปเลือกบัญชีรายชื่ออีกพรรคหนึ่ง

ดังนั้น เพื่อคะแนนเสียงของแต่ละคนที่ไปเลือกตั้งมีน้ำหนักเท่ากัน ตามหลักหนึ่งคนหนึ่งเสียง (One man one vote) และเมื่อรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญกับพรรคการเมือง คือผู้สมัครทุกคนต้องสังกัดพรรคใดพรรคหนึ่ง เสียงของคนทั้งประเทศที่เลือกผู้สมัครในแต่ละเขตเลือกตั้งจึงควรมีความหมายว่าต้องการให้คะแนนกับพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครในเขตนั้นไปเป็นรัฐบาลบริหารประเทศด้วย ซึ่งก็คือต้องเพิ่มคะแนนให้ภาพรวมของพรรคในผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อไปด้วย ส่วนผลที่ออกมา พรรคการเมืองใดจะได้ สส.รวมทั้งหมดจำนวนมากน้อยอย่างไร ก็ควรอยู่ที่สัดส่วนของคะแนนเสียงทั้งประเทศ ไม่แยกเป็นภาคส่วนใด

ใครจะได้จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากอย่างไรก็จะเป็นรัฐบาลของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่รัฐบาลของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น การเลือกในระบบบัตรใบเดียวจึงเป็นวิธีการตรงที่สุดที่จะทำให้พวกเราเป็นผู้เลือกรัฐบาลอย่างแท้จริง

รัฐธรรมนูญจึงยืนยันหลักการให้ประชาชนตัดสินใจเลือกคนและพรรค การเมืองที่ยอมรับได้ไปด้วยกัน คนที่รักจึงต้องไปกันได้กับพรรคที่ชอบ เป็นหนึ่งเดียวเพื่อบ้านเมือง และหากคนที่รักไปอยู่กับพรรคที่ไม่ชอบ ก็น่าจะคิดได้ว่าบุคคลคนนั้นไม่น่ารักไม่น่าเลือกอีกต่อไปแล้ว เราก็ควรจะพิจารณาผู้สมัครคนอื่นพรรคอื่น หรือถ้าไม่มีคนน่ารักพรรคน่าเลือกเลย ก็มีทางเลือกสุดท้ายคือกาช่องไม่เลือกผู้สมัครคนใดเลย

แม้ประชาชนจะลงประชามติด้วยเสียงข้างมากเห็นชอบแล้วว่า ในการเลือกตั้งครั้งแรกและในช่วง 5 ปีแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ สว.250 คน มาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย แต่ยังมีนักการเมืองที่ค้านรัฐธรรมนูญ แต่มาลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.มาหาเสียงโจมตีว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้วางแผนจะให้มีการสืบทอดอำนาจอย่างง่ายๆ เพียงได้เสียง สส. 126 ที่นั่งจาก สส.ทั้งหมด 500 ที่นั่งก็จัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว

การวิพากษ์ด้วยอคติดังกล่าวไม่ถูกต้องแม้แต่น้อย ...จริงอยู่ว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งรัฐบาลต้องการเสียงข้างมากเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสองสภารวมกันซึ่งก็คืออย่างน้อย 376 เสียงจากเสียง สส. และ สว. สองสภารวมกัน 750 เสียง แต่ต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลที่จะบริหารประเทศได้จะต้องครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร เพราะเมื่อเป็นรัฐบาลจะต้องผ่านกฎหมายงบประมาณรายจ่าย หรือกฎหมายอื่นๆ ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร

ที่สำคัญระบบรัฐสภาของเรายังให้อำนาจแก่ สส.ที่จะเข้าชื่อกันยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะได้ และด้วยเสียงของ สส.มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน สส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ก็สามารถลงมติให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งได้อยู่แล้ว

ดังนั้น เสียงข้างน้อยที่จัดตั้งรัฐบาลในช่วง 5 ปีแรกของการใช้รัฐธรรมนูญได้ จึงไม่มีความหมายในทางปฏิบัติจริง เสียง สส.เกินกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรต่างหากที่กำหนดรัฐบาลได้อย่างแท้จริง

ส่วนจะเป็นกลุ่มใดที่ร่วมงานกับ สว.ในช่วง 5 ปีแรกได้ก็คงเป็นประเด็นทางการเมืองที่พรรคการเมืองต่างๆ จะต้องเจรจาหาทางออกกันในอนาคตว่า จะทำงานเพื่อบ้านเมืองอย่างไรต่อไป

เมื่อถึงเวลาที่ผลการเลือกตั้งออกมา พรรคการเมืองใดจะได้เสียงมากน้อยอย่างใดก็เป็นเสียงของประชาชน รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่อาจแปลงเสียงของประชาชนให้ผิดเพี้ยนไปได้

เราไม่ได้ทำให้ผู้แพ้มาเป็นผู้ชนะ แต่ตรงกันข้าม การพยายามจะใช้ระบบเขตเลือกตั้งที่ผู้ชนะไม่ว่าจะมากจะน้อย “กินรวบ” อย่างที่บางพรรคการเมืองเรียกร้องต้องการเพื่อให้พรรคของตนได้ประโยชน์เหนือพรรคการเมืองอื่น ซึ่งนั่น ถ้ามองให้ดีก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างที่เขาป่าวประกาศหรอกครับ

เพราะเสียงของประชาชนจำนวนไม่น้อยถูกปัดทิ้งไปหมด ไม่มีความสำคัญอะไรเลย แต่ระบบเลือกตั้งใหม่แบบบัตรเดียวที่ทำให้ทุกเสียงของประชาชนทั่วทั้งประเทศมีความหมาย และในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับเสียงข้างมากของประชาชนในเขตเลือกตั้งด้วย

กาบัตรเดียวแต่ทำให้ประชาชนแสดงเจตจำนงทางการเมืองได้ถึง 3 ด้านอย่างเป็นเอกภาพ คือ เลือกตัวผู้สมัคร เลือกพรรคการเมืองที่ผู้สมัครสังกัดและเลือกคนที่พรรคการเมืองเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี

ด้วยระบบเช่นนี้ ประชาชนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งทุกคนจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ตัดสินอนาคตของบ้านเมืองด้วยตนเองอย่างแท้จริง