posttoday

อย่าลืม "คนเมือง"

19 มีนาคม 2562

"กทม."จะเป็นมหานครที่สวยงาม น่าอยู่ สำหรับ “ทุกคนเท่าเทียม” รัฐจึงต้องไม่ทิ้งคนเมืองที่กำลังจะกลายเป็นคนจนเพราะค่าใช้จ่ายที่ไม่สมดุลกับรายได้

"กทม."จะเป็นมหานครที่สวยงาม น่าอยู่ สำหรับ “ทุกคนเท่าเทียม” รัฐจึงต้องไม่ทิ้งคนเมืองที่กำลังจะกลายเป็นคนจนเพราะค่าใช้จ่ายที่ไม่สมดุลกับรายได้

**********************

โดย...ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานสถาบันนวัตกรรมชุมชนอัจฉริยะ และ อธิการบดี สจล.

หัวโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งใหญ่ เป็นธรรมดาที่แต่ละพรรคต้องนำเสนอนโยบายให้ “โดนใจ” ที่สุด โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับ “ปากท้อง” หรือเรื่องเศรษฐกิจ และแน่นอนที่สุดว่านโยบายระดับประเทศก็ต้องมองภาพกว้าง ภาพรวม ภาพลึก ถึงผลดี และผลกระทบจากนโยบายที่จะตามมาต่อไป

แต่ปัญหาของประเทศไทยเรื่องปากท้องหรือเศรษฐกิจที่มักถูกละเลยคือ “ปัญหาปากท้องของคนเมือง” โดยองค์การสหประชาชาติและนักวิจัยชั้นนำทั่วโลกเห็นตรงกันว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้จะมีประชากรในเมืองมากกว่าชนบทในแทบทุกประเทศในโลก โดยจากเมืองขนาดเล็กขนาดกลางที่มีพลเมืองไม่ถึง 1 ล้านคน จะกลายเป็นเมืองใหญ่ที่มีพลเมืองมากกว่าล้านคน จะมีมากถึง 500 เมืองทั่วโลก และเมืองใหญ่ก็จะกลายเป็นมหานคร หรือเมกะซิตี้ (Megacity) ซึ่งมีพลเมืองอยู่มากกว่า 10 ล้านคนขึ้นไป อยู่ในทุกพื้นที่ทั่วโลกรวมทั้งกรุงเทพฯ ซึ่งอาจเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจ เพราะมีโอกาสสูงมากที่จะเกิดประชากร “คนจนเมือง” มากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณจากนี้ต่อไป

จึงมีคำถามว่า “คนเมืองทุกชนชั้นเท่าเทียมกันจริงหรือไม่?” ขอยกตัวอย่างค่าโดยสารรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ที่ไม่ใช่ทุกคนจะจ่ายได้ แม้เราก็เข้าใจผู้ลงทุนว่าหากเก็บค่าโดยสารราคาถูกมาก ก็คงไม่มีใครกล้าเสี่ยงมาลงทุนด้วยจำนวนเงินมหาศาล จึงเป็นหน้าที่รัฐที่ควรคิดอุดหนุนเรื่องการเดินทางของคนเมืองให้จริงจังกว่านี้

ยกตัวอย่างครอบครัวเล็กๆ มีพ่อ แม่ และลูก 1 คน พ่อแม่ต้องทำงานทั้งคู่ ลูกต้องไปโรงเรียน ค่าเดินทางด้วยรถไฟฟ้าคิดเฉลี่ยคนละ 100 บาท มี 3 คน คือ 300 บาท/วัน ยังไม่ได้นับรวมค่าจักรยานยนต์รับจ้าง หรือค่าแท็กซี่ หรือรถประจำทาง จากหน้าบ้านถึงสถานีรถไฟฟ้าต้นทาง และจากสถานีรถไฟฟ้าปลายทางต่อไปถึงหน้าที่ทำงานและโรงเรียนของลูก ซึ่งแม่อาจต้องเดินทางมากกว่าเพื่อไปรับ-ส่งลูกที่โรงเรียน ดังนั้นสัปดาห์หนึ่งค่ารถไฟฟ้าไม่น่าต่ำกว่า 1,500 บาท/สัปดาห์ หรืออาจมากกว่า 6,000 บาท/เดือน

เมื่อค่าใช้จ่ายนี้เปรียบเทียบกับการผ่อนรถขนาดเล็กที่ประมาณ 4,000 บาท/เดือน บวกค่าน้ำมันแล้วอาจจะคุ้มกว่า สะดวกกว่าใช้รถไฟฟ้า แถมได้รถยนต์ 1 คัน ใช้ได้วันเสาร์-อาทิตย์อีก ชัดเจนว่าค่ารถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ แม้แต่คนชั้นกลางเองยังลำบาก ถือเป็นค่าใช้จ่ายไม่น้อยของครัวเรือน ผู้มีรายได้น้อยจึงแทบไม่มีสิทธิได้ใช้บริการรถไฟฟ้า

เพราะจากข้อมูลการคำนวณอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า เมื่อคิดแบบเทียบ “ค่าครองชีพ” ของแต่ละมหานครพบว่า ของฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ จะมีราคาถูกกว่ากรุงเทพฯ โดยเฉพาะการเดินทางจากที่พักอาศัยนอกเมืองสู่ใจกลางเมืองชั้นใน จะถูกกว่าเห็นได้ชัด พลเมืองประเทศเหล่านี้จึงนิยมใช้รถไฟฟ้ามาก ทั้งๆ ที่ราคารถยนต์ในหลายประเทศถูกกว่าไทยหลายเท่า ยิ่งผมได้ไปเยี่ยมนครนิวยอร์ก ปารีส ลอนดอน จะเห็นได้ชัดว่า “พลเมืองทุกคน จนหรือรวย” มีสิทธิใช้รถไฟฟ้าได้ทุกคน เพราะเก็บค่าโดยสารที่ทุกคนจ่ายได้ทั้งครอบครัว ไม่เดือดร้อน

กรุงเทพฯ จะเป็นมหานครที่สวยงาม น่าอยู่ สำหรับ “ทุกคนเท่าเทียม” รัฐจึงต้องไม่ทิ้งคนเมืองที่กำลังจะกลายเป็นคนจน เพราะค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ไม่สมดุลกับรายได้ที่หามาได้เท่าไหร่ด้วยความยากลำบาก จะประหยัดกิน ประหยัดเที่ยวเท่าไหร่ แต่พ่อแม่ก็ต้องไปทำงาน ลูกต้องไปเรียนหนังสือ จะประหยัดค่าเดินทางได้อย่างไร จึงเหมือนถูก “บังคับเลือก” ต้องจำทน จ่ายค่าเดินทางในราคาสูง น่าเห็นใจที่สุด ดังนั้นการอุดหนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้าจึงจำเป็น ไม่เช่นนั้นคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่คงต้องลำบากกันต่อไป

ไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากพรรคใด เรื่องความเป็นอยู่ของคนเมือง เป็นเรื่องที่ลืมไม่ได้เลย