posttoday

กรุงเทพฯ-โตเกียว PM2.5

22 มกราคม 2562

กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีการบันทึกปริมาณฝุ่น PM2.5 และ PM10มานานกว่า 30 ปีต่อเนื่อง ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีการบันทึกปริมาณฝุ่น PM2.5 และ PM10มานานกว่า 30 ปีต่อเนื่อง ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

****************************

โดย...ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานสถาบันนวัตกรรมชุมชนอัจฉริยะ และอธิการบดี สจล.

ฝุ่นพิษ PM2.5 ระบาดทั่วกรุงเทพฯ ทุกคนรู้สึกได้ สัมผัสได้ และเป็นอันตรายถึงชีวิตจริงๆ ทำให้เกิดกระแสวิตกชั่วข้ามคืน ต้องหาหนทางป้องกันตนเอง ขณะที่หน้ากากป้องกันฝุ่นรุ่น N95 ที่เชื่อว่าสามารถกรองฝุ่น PM2.5 ได้ ก็เป็นที่ต้องการจนหมดตลาด ถึงแม้จะหาซื้อได้ ราคาก็ไม่ถูกสำหรับคนทั่วๆ ไป และก็ใช่ว่าจะช่วยได้ 100% แถมไม่ค่อยสะดวกในการใช้งาน สุดท้ายหลายคนก็ต้องทนเสี่ยงชีวิตกันต่อไป เกิดเป็นพลเมืองกรุงเทพฯ ลำบากเรื่องอื่นยังพอได้กล้ำกลืนทน แต่ขนาดที่อากาศยังใช้หายใจไม่ได้ อย่างนี้คงต้องเรียกว่า เหลือทน

แม้ว่า กทม.จะช่วยบรรเทาภัยฝุ่นพิษด้วยการฉีดพ่นน้ำ แต่ก็ช่วยได้เพียงเล็กน้อย และไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่อันตราย ผมเคยแนะนำหลายครั้งว่า มีวิธีการที่ช่วยได้ คือ การบังคับใช้กฎหมายกับรถควันดำอย่างเคร่งครัด และการใช้เทคโนโลยีตรวจวัดฝุ่นพิษ พร้อมทั้งแสดงผลให้เห็นกันจะจะ ตรงพื้นที่เสี่ยงกันเลย คนรับผิดชอบคงอยู่นิ่งเฉยไม่ได้

แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ มีความเชื่อว่ากรุงเทพฯ ก็เป็นเช่นเมืองใหญ่อื่นๆ ทั่วโลก ที่ย่อมมีปัญหาการจราจร เพราะการเติบโตของเมือง และคงยากที่จะหลีกเลี่ยงฝุ่นพิษ PM2.5 ทั้งที่ในความเป็นจริง ถึงแม้จะเกิดปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ในมหานครขนาดใหญ่ทั่วโลก แต่ก็มีการตระหนักถึงปัญหานี้ และได้แก้ไขกันจริงจัง

ขอยกตัวอย่าง กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่มีการบันทึกปริมาณฝุ่น PM2.5 และ PM10 มานานกว่า 30 ปีต่อเนื่องกัน ทำให้สามารถติดตามปัญหาและประเมินนโยบายที่นำลงไปใช้ควบคุมว่า ทำได้ตรงตามเป้าหมายหรือไม่ จากผลการวิจัยเรื่อง PM2.5 ในกรุงโตเกียว พบว่ามีปริมาณน้อยลงกว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

นักวิจัยสรุปว่า สาเหตุหลักในความสำเร็จของกรุงโตเกียว คือ 1.มาตรการคุมเข้มเรื่องการปล่อยก๊าซพิษจากเครื่องยนต์ เช่น การจำกัดเวลา และจำกัดพื้นที่การให้รถบรรทุกที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเข้าเมือง และปรับหนักกับรถปล่อยควันดำ 2.การพัฒนาเทคโนโลยีด้านเครื่องยนต์ ให้มีการเผาไหม้สมบูรณ์ ลดการปล่อยก๊าซพิษ ขณะที่ยังมีกำลังสมรรถนะดีขึ้น 3.การพัฒนาอุปกรณ์กรองฝุ่นและกรองก๊าซพิษที่ท่อไอเสีย ให้ใช้อย่างแพร่หลาย 4.กำหนดให้มีการตรวจสภาพรถยนต์ทุกปีอย่างเข้มงวด และ 5.บริหารการจราจรให้มีประสิทธิภาพขึ้น บรรเทาปัญหารถติดในเมือง

จากมาตรการทั้ง 5 ด้านของกรุงโตเกียว ผนวกกับการตั้งสถานีบันทึกปริมาณฝุ่นพิษต่อเนื่อง ทำให้เมืองที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดในโลก ยังคงรักษาสภาพแวดล้อม และควบคุมมลพิษในระดับที่ไม่เป็นอันตรายได้

ย้อนมาที่กรุงเทพฯ ยังมีรถบรรทุก รถเมล์ควันดำ ให้เห็นกันตำตาทุกวัน แสดงถึงความไม่รับผิดชอบของเจ้าของรถและผู้ขับขี่ เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดการเด็ดขาด ประกาศสงครามกับรถควันดำ การตรวจสภาพรถไม่ควรทำแบบขอไปที หรือปรับปรุงเทคโนโลยีในการตรวจสภาพที่อาจไม่ทันสมัยเพียงพอ ในการประเมินสภาพรถที่สร้างมลพิษ อีกทั้งการติดตามตรวจระดับปริมาณฝุ่นพิษทั้ง PM2.5 และ PM10 ยังไม่ต่อเนื่อง ไม่เข้มข้น ไม่ครอบคลุม ทำให้ยังไม่สามารถประเมินทั้งผลกระทบ และการตอบสนองต่อวิธีการแก้ไขได้มากน้อยเพียงใด

ประชาชนเองก็เช่นกัน การตื่นตัวเรื่องภัยวิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 อย่าให้เป็นแบบไฟไหม้ฟาง วิตกวันนี้ พรุ่งนี้ก็ลืม แบบนี้ปัญหาจะไม่มีวันแก้ไขได้ เพราะแรงผลักดันก็ต้องมาจากผู้ที่เดือดร้อน นั่นก็คือ พลเมืองทุกคน ผมมั่นใจว่า ถ้ากรุงโตเกียวที่เคยมีปัญหามากกว่า ยังจัดการกับปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ได้ แล้วทำไมกรุงเทพฯ จะทำไม่ได้