posttoday

เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในกิจกรรมท่องเที่ยว ก้าวใหม่ที่ไม่ซ้ำรอยเดิม

11 กรกฎาคม 2561

ผู้เขียน ผศ. ดร ทวีศักดิ์ แตะกระโทก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ผู้เขียน ผศ. ดร ทวีศักดิ์ แตะกระโทก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

โศกนาฎกรรมเรือล่มที่ภูเก็ตไม่ใช่เป็นโศกนาฎกรรมครั้งแรกที่เกิดระหว่างการโดยสารไปยังสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับเมืองท่องเที่ยวของประเทศไทย แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดมานับครั้งไม่ถ้วน นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทยเกิดการบาดเจ็บ เสียชีวิต ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า และเป็นที่จดจำ จนกระทั่งสถานฑูตของประเทศเหล่านั้น ต้องประกาศเตือนนักท่องเที่ยวให้ระมัดระวังในการเดินทางมาท่องเที่ยวในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย และแม้แต่ทางการฑูตจีนเองก็ได้เข้าไปพบกับหน่วยงาน รัฐบาล และในจังหวัดท่องเที่ยว เพื่อขอให้ช่วยกันดูแลความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวเหล่านั้น

เหตุการณ์ที่ซ้ำซากเหล่านี้ที่เกิดขึ้นซึ่งมิได้เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวเพียง 1-2 คน แต่เกิดกับนักท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะ และนำมาซึ่งความสูญเสียมากมาย ดังจะเห็นได้จากการพาดหัวข่าวทั้งในสื่อเมืองไทย และ สื่อต่างประเทศนำมาซึ่งภาพลักษณ์ที่ไม่ดีด้านการท่องเที่ยวของประเทศ เช่น

• อุบัติเหตุเรือสปีดโบ๊ทชนกันที่ภูเก็ต เมื่อ วันที่ 16 มกราคม 2561 มีนักท่องเที่ยวชาวอิตาลีบาดเจ็บ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเพียง 2 วัน เพิ่งมีกรณีข่าวเรือสปีดโบ๊ทไฟลุกไหม้ มีนักท่องเที่ยวชาวจีนบาดเจ็บ

• อุบัติเหตุรถทัศนาจรเบรกแตกจนเกิดอุบัติเหตุที่ป่าตอง ภูเก็ต เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561 มีนักท่องเที่ยวจีนอยู่ในรถกว่า 30 ชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า

• อุบัติเหตุรถตู้ทัศนาจรเกิดอุบัติเหตุที่อยุธยา เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 จนเป็นเหตุให้นายแพทย์ชื่อดังชาวญี่ปุ่นเสียชีวิต รวมกับคนที่มาด้วย 5 ชีวิต

• 26 ก.ค. 2560 เรือนำเที่ยว "โชคธารา 2" จมลงกลางทะเลบริเวณเกาะง่าม-เกาะกะโหลกในอ่าวชุมพร จ.ชุมพร หลังเครื่องยนต์ขัดข้องและเผชิญพายุฝน ทำให้นักท่องเที่ยวเสียชีวิต 5 คน ได้รับบาดเจ็บ 11 คน

• 26 พ.ค. 2559 เรือเร็ว "อ่างทองดิสคัฟเวอร์รี่ 3" บรรทุกนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 32 คน มุ่งหน้าไปยังท่าเทียบเรือบ่อผุด อ.เกาะสมุย พลิกคว่ำกลางทะเล หลังจากออกจากหมู่เกาะอ่างทอง มีผู้เสียชีวิต 2 ราย สูญหาย 2 คน

• อุบัติเหตุรถทัศนาจรเกิดอุบัติเหตุ ดอยสะเก็ด เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2558

มาตรการเรื่องความปลอดภัยในกิจกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยที่พบเห็นได้อย่างชัดเจนจะเป็นมาตรการเยียวยาภายหลังจากเกิดเหตุแล้ว โดยมีระบบในการดูแล รักษาพยาบาล และ กระบวนการชดเชยเยียวยาผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต แต่มาตรการป้องกันเชิงรุกในเรื่องนี้ดูเหมือนจะไม่เห็นรูปธรรมที่ชัดเจน จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุกับนักท่องเที่ยวซ้ำแล้ว ซ้ำอีก เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐยังติดอยู่กับกับดักทางความคิดที่ว่า “อุบัติเหตุเกิดจากการขาดจิตสำนึกและการฝ่าฝืนกฎหมายของผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการทางการท่องเที่ยว” แต่ทางการก็ไม่มีกำลังพอที่จะไปตามบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเพียงพอ

เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในกิจกรรมท่องเที่ยว ก้าวใหม่ที่ไม่ซ้ำรอยเดิม

บทเรียนในเรื่องปัญหาการขาดจิตสำนึกของผู้ประกอบการ และข้อจำกัดในการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะดังกล่าวก็เกิดขึ้นคล้ายๆ กันกับความปลอดภัยในการทำงาน แต่มีความแตกต่างกันตรงที่กระทรวงแรงงานได้พัฒนานวัตกรรมใหม่เพื่อการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในขณะทำงานภายใต้ข้อจำกัดในเรื่องการขาดจิตสำนึกของผู้ประกอบการจึงทำให้อุบัติเหตุในการทำงานลดลงได้อย่างเป็นรูปธรรมจนเกิดวิสัยทัศน์ศูนย์ ในการทำงานขึ้นมา นวัตกรรมดังกล่าวคือการพัฒนาระบบจัดการและการกำหนดให้มีตำแหน่งเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยในการทำงานเพื่อดูแลการทำงานภายในโรงงาน การขนส่ง การทำงานที่อันตราย เพื่อลดข้อบกพร่องจากมาตรการการบังคับใช้กฎหมายที่มีข้อจำกัดดังที่กล่าวมาข้างต้น บทเรียนดังกล่าวอาจจะเป็นมาตรการสำคัญที่นำมาใช้กับการจัดการความปลอดภัยในกิจกรรมการท่องเที่ยวได้เช่นกัน

ตาม พระราชบัญญัติอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยถูกกำหนดไว้ให้ผู้ประกอบการจะต้องจ้างเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยประจำสถานประกอบการ โดยคุณสมบัติและจำนวน ขึ้นกับขนาดของสถานประกอบการนั้นๆ โดยเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยมีหน้าที่

1. ตรวจสอบและเสนอแนะให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวกับความปลอดภัย
2. ชี้บ่งอันตรายเพื่อเสนอต่อนายจ้าง
3. ประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการทำงาน
4. จัดทำแผนจัดการความเสี่ยง แผนงาน/โครงการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบการ
5. แนะนำให้ลูกจ้างปฏิบัติตามข้อบังคับและคู่มือความปลอดภัย
6. แนะนำ ฝึกสอน ฝึกซ้อม อบรม เพื่อให้เกิดความพร้อมในการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย
7. ดำเนินการร่วมกับบุคคลหรือหน่วยงานในการตรวจประเมินสภาพแวดล้อมในการทำงาน
8. สืบสวนสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ
9. จัดทำรายงาน และ สถิติ เพื่อรายงานให้นายจ้างทราบ

การสร้างกลไกการกำกับดูแลจากภายใน และการตรวจประเมินจากภายนอก เป็นระยะๆ จะสร้างให้เกิดความปลอดภัยภายในองค์กรได้ดีกว่าการเน้นไปที่การบังคับใช้กฎหมายโดยหน่วยงานภาครัฐเพียงอย่างเดียว และในงานด้านกิจกรรมการท่องเที่ยวเองหากมีกลไกในลักษณะดังกล่าวก็จะสามารถสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในการท่องเที่ยวได้เช่นเดียวกัน

จากรูปจะเห็นได้ว่าในการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวทางเรือสำหรับการดำน้ำจะมีความเกี่ยวข้องกับหลายๆ ส่วน ทั้งที่อยู่ในความดูแลของบริษัทนำเที่ยวเองและบางส่วนก็ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยตรงของบริษัท แต่องค์ประกอบเหล่านั้นต่างก็มีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวได้ อย่างกรณีเรือเพื่อการท่องเที่ยวดำน้ำล่ม หากมีการประเมินความเสี่ยงก็จะพบปัญหาทั้งตัวบริษัทผู้ประกอบการเองที่ไม่ได้ให้ความสนใจด้านความปลอดภัย แต่สนใจเฉพาะด้านรายได้จากธุรกิจ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่ ไปถึงการตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์ภายในเรือ ป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในเรือที่สามารถเข้าใจได้โดยนักท่องเที่ยวในทุกภาษา การประเมินความเสี่ยงของเส้นทางและสภาพภูมิอากาศที่อาจผิดพลาดได้ การกำกับดูแลให้ผู้โดยสารต้องใช้อุปกรณ์ความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา การฝึกเจ้าหน้าที่เรือให้มีความรู้อย่างเพียงพอในการจัดการในสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนการสื่อสารในสถานการณ์ฉุกเฉินในภาษาที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าใจได้ การติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เข้ามาให้บริการต่างๆ ทั้งมัคคุเทศก์ คนขับเรือ ครูฝึกดำน้ำ ว่ามีใบอนุญาตอย่างถูกต้องหรือไม่ การดูแลช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุที่ทันต่อเวลา

เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในกิจกรรมท่องเที่ยว ก้าวใหม่ที่ไม่ซ้ำรอยเดิม ที่มา แผนงาน " การบริหารจัดการความปลอดภัยของการท่องเที่ยวทางทะเล " ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (อยู่ระหว่างดำเนินการวิจัย)

ความเสี่ยงของอันตรายที่เกิดขึ้นในหลายองค์ประกอบ กระจัดกระจายอยู่ในบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรมท่องเที่ยวทางทะเลของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานที่ ช่วงเวลา ซึ่งกิจกรรมการให้บริการเหล่านี้เกี่ยวข้องกับกฎหมายและการบังคับใช้ในหลายหน่วยงาน เป็นลักษณะปัญหาที่ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยเข้ามาวางระบบการจัดการความปลอดภัยและลดความเสี่ยงเพื่อสร้างห่วงโซ่แห่งความรับผิดชอบ (Chain of Responsibility) ด้านความปลอดภัยให้ไปในทิศทางเดียวกันตลอดทั้งองค์กร โดยมีระบบกำกับ ควบคุม จากหน่วยงานภาครัฐเข้าไปตรวจประเมินเป็นระยะๆ เช่นเดียวกับที่ผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ในการขนส่งสินค้าได้มีการดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งบทเรียนของระบบการจัดการดังกล่าว และบทบาทของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในด้านการขนส่งโลจิสติกส์เองก็ได้ชี้ให้เห็นว่าสามารถสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนได้จริง

บทเรียนของเหตุโศกนาฎกรรมเรือล่มที่ภูเก็ต อุบัติเหตุทางน้ำ ทางถนน ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางข้ามน้ำ ข้ามทะเล นับร้อย นับพันกิโลเมตร มาอย่างปลอดภัยเพื่อเข้ามาชื่นชมความสวยงามของประเทศนี้ แต่กลับต้องมาพบโศกนาฎกรรมเพียงแค่การเดินทางใกล้ๆ ไม่กี่สิบกิโลเมตร ควรจะได้รับการจัดการอย่างเป็นจริง เป็นจังเสียที ไม่ควรปล่อยให้เป็นเพียงข่าวที่สร้างกระแสดราม่า แล้วก็จบไป การมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในกิจกรรมท่องเที่ยวจึงเป็นก้าวแรกบนเส้นทางใหม่ในการสร้างระบบและวัฒนธรรมความปลอดภัยสำหรับผู้ดำเนินธุรกิจด้านการท่องเที่ยวที่ไม่เพียงแต่ต้องรับผิดชอบต่อผลประกอบการทางธุรกิจและการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังต้องมีความรับผิดชอบต่อชีวิตและความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นลูกค้าสำคัญของธุรกิจอีกด้วย บทเรียนครั้งนี้จึงไม่ควรใช้มาตรการที่ก้าวต่อไปบนรอยเท้าเดิม เมื่อนายกรัฐมนตรีท่านสัญญาไว้กับคนจีนว่าจะต้องดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ถึงจะต้องใช้มาตรา 44 ก็ไม่ควรลังเลเพื่อทำให้เกิดขึ้น เพราะคนจีนไม่ได้คอยจับตาให้กำลังใจทีมหมูป่า แต่เค้ายังจับตาดูว่าประเทศไทยจะทำอะไรให้กับโศกนาฎกรรมครั้งนี้บ้าง

หมายเหตุ ข้อมูลส่วนหนึ่งมาจากแผนงานวิจัย การบริหารจัดการความปลอดภัยของการท่องเที่ยวทางทะเล " ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (อยู่ระหว่างดำเนินการวิจัย)