posttoday

"กฎหมายเจ็ดชั่วโคตร" สกัดทุจริต

02 สิงหาคม 2560

เฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn (คํานูณ สิทธิสมาน)

เฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn (คํานูณ สิทธิสมาน)

ที่สุด เมื่อวานนี้คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติผ่านร่างกฎหมายที่เป็นการป้องกันและปราบปรามการทุจริตชนิดเข้มข้นที่เสนอขึ้นมาจากสปท.ตั้งแต่เมื่อปลายปี 2558 ในวันเดียวกับที่สปท.เพิ่งสิ้นสภาพเป็นอดีตไปเป็นวันแรก รอเสนอต่อสนช.ในเร็ววัน

ร่างกฎหมายฉบับนี้เวอร์ชั่นแรกสุดรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ได้เสนอเข้าสู่สนช.เมื่อปี 2550 ประธานสนช.ขณะนั่งบนบัลลังก์ขณะพิจารณาวาระ 2 พูดออกมาเรียบ ๆ เชิงเปรียบเปรยว่า...

"กฎหมายเจ็ดชั่วโคตร"

เลยกลายมาเป็นสมญาน่าตระหนกมาจนทุกวันนี้ แม้จะไม่ใช่สารัตถะสำคัญที่สุด และมีการปรับแก้มาแล้วหลายเวอร์ชั่น

ชื่อจริงของร่างกฎหมายฉบับนี้ล่าสุดคือ 'ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. ....' พูดง่าย ๆ ด้วยภาษาอังกฤษที่ใช้กันแพร่หลายว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับ 'Conflict of interest' นั่นเอง

การกระทำการของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีลักษณะเป็น Conflict of interest นั้น นานาชาติโดยมติของสหประชาชาติถือว่าเป็นการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างหนึ่ง อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546) หรือ UNCAC 2003 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับกรณีนี้ไว้ชัดเจน

ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญานี้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2554

รัฐธรรมนูญไทยเริ่มมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการขัดกันแห่งผลประโยชน์มาบังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 4 ตำแหน่ง คือ ส.ส., ส.ว. รัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ฉบับปี 2540 และยืนหยัดต่อเนื่องมาถึงฉบับปี 2550

ทว่ายังไม่ได้บังคับใช้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท

ลำพังขยายเป้าหมายจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 4 ตำแหน่งมาเป็น 'เจ้าหน้าที่ของรัฐ' หลายแสนคนก็เรื่องใหญ่มากแล้ว แต่ร่างกฎหมายที่นับหนึ่งมาตั้งแต่ปี 2550 ยังไปไกลกว่าการห้ามการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้นและไม่ได้ห้ามเลยไปถึงคู่สมรสและบุตรเท่านั้น
หากห้ามรวมไปถึง 'ญาติ' ด้วย !

นิยามของ 'ญาติ' ที่กว้างขวางมากรวม 8 ข้อในเวอร์ชั่นแรกสมัยเมื่อ 10 ปีก่อนนั้นสำคัญยิ่ง กลายเป็นจุดโฟกัส และเป็นที่มาของสมญากฎหมายเจ็ดชั่วโคตร โดยมีบางท่านที่ไม่เห็นด้วยทำแผนผังออกมาแจกจ่ายสมาชิกกันทั่วว่านิยามที่ว่ากินขอบเขตกว้างขวางเพียงใด

แผนผังที่ทำออกมาชี้ให้เห็นว่ากินขอบเขตรอบตัว 'เจ้าหน้าที่ของรัฐ' ถึง 84 คน

แม้จะผ่านมติสนช.ชนิดไม่มีใครอภิปรายคัดค้านเต็มที่แบบเปิดเผยชัดเจนนัก แต่ก็มีสมาชิกจำนวนหนึ่งร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นร่างกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ตกไปเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2551 ด้วยเหตุผลองค์ประชุมสนช.ไม่ครบ

มาครั้งนี้ ร่างกฎหมายเวอร์ชั่นล่าสุดที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติได้มีการแก้ไขนิยามคำว่า 'ญาติ' จำกัดแคบลงมาพอสมควรและมีบทบัญญัติที่รัดกุมขึ้น ไม่ให้เป็นการห้ามที่หยุมหยิมจนเจ้าหน้าที่ของรัฐกระดิกตัวไม่ได้

แต่ถึงกระนั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะต้องปรับตัวปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันมากพอสมควร

ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. .... มีเพียง 26 มาตรา มีข้อดีมากหลายประการ นอกจากจำกัดความคำว่าญาติให้พอเหมาะพอสมแล้ว ยังแก้ไขเพิ่มเติมการกระทำที่มีลักษณะ Conflict of interest ไว้เป็นหลักให้ครอบคลุมกว้างขวางในเกือบทุกประเด็นด้วย

หัวใจของร่างกฎหมายอยู่ที่มาตรา 5 ซึ่งมีความยาวเป็นพิเศษ

นอกจากนั้นที่สำคัญไม่แพ้กันคือการตรวจสอบสัญญาและโครงการภาครัฐต่าง ๆ ทั้งก่อนและระหว่างดำเนินโครงการ อยู่ในมาตรา 10 - 14

โดยมีเพียงประเด็นเดียวเท่านั้นที่หากเป็นการกระทำของญาติจะทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีความผิดไปด้วย คือการรับของขวัญ ของที่ระลึก เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ ในมาตรา 7

ถ้าผ่านออกมาบังคับใช้ได้จะถือได้ว่าเป็นหนึ่งในการปฏิรูปใหญ่

คณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อกำกับการปฏิรูปกฎหมาย (ทปก.) ที่มีท่านอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณเป็นประธาน ได้นำร่างกฎหมายนี้เข้าสู่ที่ประชุมเมื่อ 4 มิถุนายน 2560 มีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรีโดยด่วน
ในที่สุดก็เป็นผล

ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีเส้นทางเดินมา 10 ปีเต็มแล้ว

เชื่อว่าจะผ่านออกมาบังคับใช้ได้ก่อนเลือกตั้งแน่นอน