posttoday

ภัยโฆษณาหลอกลวง... รัฐต้องเอาจริง

23 พฤษภาคม 2560

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

โดย...ดร.ธนิต โสรัตน์  รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

ข่าวคึกโครมจากการที่ สคบ. หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สั่งระงับโฆษณากระทะจากเกาหลี ซึ่งตรวจสอบพบว่าข้อเท็จจริงและคุณสมบัติของสินค้าไม่ตรงกับที่โฆษณา รวมถึงมีการตั้งราคาสูงแล้วแสร้งทำเป็นลดราคามากๆ โดยไม่สามารถหาที่มาและราคาอ้างอิงที่ชัดเจนเข้าข่ายการโฆษณาที่เกินจริง เป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคเกิดสำคัญผิด ซึ่ง “สคบ.” มีคำสั่งไม่ให้มีการเผยแพร่โฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

อันที่จริงโฆษณาสินค้าประเภทขายตรงซึ่งมีลักษณะดังกล่าวมีกลาดเกลื่อนไม่ใช่เฉพาะกรณีกระทะซึ่งถูกแบน

ดูจากโทรทัศน์มีการโฆษณาคุณสมบัติการใช้งานแบบที่ไม่น่าจะเป็นไปได้หรือหลอกตั้งราคาขายให้สูงแล้วทำเป็นโปรโมชั่นลดราคา หรือมีการโชว์คุณภาพหรือการใช้งานที่ดูแล้วน่าจะเกินจริง หรือให้โทรมาในเวลานั้นเวลานี้จะลดราคาให้เกิน 80-90% และยังซื้อ 1 แถม 2

หากผู้บริโภคใช้สติคงรู้ว่าเป็นโฆษณาที่เกินจริง เพราะคงไม่มีสินค้าดีๆ ที่จะมายอมลดราคาลงมามากมายขนาดนั้นหากลดจริงก็คงขาดทุน  แต่ก็อาจมีผู้หลงเชื่อเพราะโฆษณาทำได้แนบเนียนเสมือนจริง ที่สำคัญมีการนำดาราชื่อดังมาสาธิตหรือทำเป็นว่าเป็นผู้ที่เคยใช้สินค้านั้นๆ แล้วดีจริง หรือสวยเหมือนกับดาราที่มาโฆษณา ผู้ที่รู้ไม่ทันหลงเชื่อทำให้ได้รับความเสียหาย

ประเด็นที่ “สคบ.” กล้าออกมาสั่งระงับโฆษณาคงต้องปรบมือให้ ส่วนตัวแล้วผมไม่ทราบข้อเท็จจริงหากผู้ขายมั่นใจว่าสินค้าเป็นเหมือนดั่งที่โฆษณาคงต้องมีข้อมูล หรือนำพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นการโฆษณาซึ่งไม่เกินจริง เพราะสินค้านำเข้าทุกชนิดต้องมีการสำแดงราคากับกรมศุลกากร ถึงแม้จะยกเว้นอากรขาเข้า แต่ก็ต้องมีภาษีมูลค่าเพิ่มโดยต้องชำระเต็มราคา เรื่องนี้คงตรวจสอบได้ไม่ยาก แต่หากพิสูจน์ว่าผู้ขายไม่ได้โฆษณาเกินจริง เรื่องนี้ “สคบ.” คงต้องออกมาชี้แจงเพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ต้องเข้าใจว่าการโฆษณาภายใต้สภาวะการแข่งขันอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น หากสินค้าใหม่ๆ ที่จะเข้ามาสู่ตลาดการโฆษณาเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคเป็นหัวใจของความสำเร็จ ขณะเดียวกันสินค้าที่มีอยู่ในตลาดหากจะเพิ่มยอดขายหรือรักษาตลาดต้องอาศัยการโฆษณาผ่านสื่อหลักต่างๆ ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีการใช้งบประมาณโฆษณาในระดับสูง ปีที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายผ่านสื่อต่างๆ มีมูลค่าสูงถึงประมาณ 1.106 แสนล้านบาท

ถึงแม้ว่าการโฆษณาจะมีบทบาทต่อภาคเศรษฐกิจและมีผลต่อการกระตุ้นการบริโภค แต่จะต้องมีกลไกควบคุม กำกับ ดูแลการโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค มีการโฆษณาเป็นเท็จ บิดเบือน หรือโอ้อวดคุณสมบัติสินค้าเกินข้อเท็จจริง โดยเฉพาะสินค้าประเภทยา อาหาร เครื่องสำอาง ซึ่งอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดเป็นภัยร้ายแรงมีผลกระทบต่อประชาชน เป็นปัญหาเรื้อรังมานานแล้ว มีหน่วยราชการหลายหน่วยงานดูแลรับผิดชอบแต่ภาพดังกล่าวก็ยังเห็นอยู่เป็นประจำ

โฆษณาที่เข้าขั้นหลอกลวงสมควรที่จะต้องมีการจัดการกันอย่างจริงจัง ทั้งมาตรการกฎหมายและให้ความรู้ผู้บริโภคว่าโฆษณาเป็นการประชาสัมพันธ์ขายสินค้า ดาราหรือคนดังๆ ส่วนใหญ่เขาจ้างมาด้วยราคาแพงๆ ให้มาเป็นพรีเซนเตอร์ว่าใช้สินค้าแล้วดี ซึ่งชีวิตจริงๆ คนเหล่านั้นอาจไม่ได้ใช้แต่มาโฆษณาให้ดู หรือสินค้าบางประเภทโฆษณาว่ากินแล้วเรียนเก่ง ปัญญาดี ตรงนี้ประชาชนต้องรู้ว่าเป็นไปไม่ได้

ที่สำคัญมาตรการทางกฎหมายต้องมีการสังคายนาใหม่ต้องหันมาดู พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2522 และมีแก้ไขในปี 2541 โดยมีบทบัญญัติว่าการโฆษณาต้องมีความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค แหล่งกำเนิด คุณภาพต้องไม่เป็นความเท็จ การโฆษณาต้องไม่เกินจริง ไม่ก่อให้เกิดการเข้าใจผิด อาจต้องกลับมาทบทวนบทลงโทษการโฆษณาที่มีลักษณะหลอกลวงหรือพูดไม่หมด โดยต้องมีบทลงโทษที่รุนแรงไม่ใช่เพียงแค่ปรับหรือแค่ยุติการโฆษณา

สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบดูแล เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. คงต้องมีการเพิ่มอำนาจหน้าที่ปรับองค์กรให้มีประสิทธิภาพ เช่น เพิ่มอัตรากำลังในการตรวจสอบโฆษณาและสินค้ามีห้องแล็บของตัวเองมีบุคลากรที่มีความรู้ งบประมาณอาจตั้งเป็นกองทุนหรือเก็บจากเปอร์เซ็นต์จากเงินที่โฆษณา เพราะเก็บเพียงแค่ 5% ก็เป็นเงินห้าหมื่นกว่าล้านบาทแล้ว ส่วนจะเก็บจริงเท่าไหร่คงต้องไปพิจารณากันเอง

การโฆษณา “กระทะจากเกาหลี” ข้อเท็จจริงผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายคงต้องนำพิสูจน์ ส่วนผลจะสามารถหักล้างกับการถูกสั่งให้ยุติการโฆษณาว่าเกินจริงก็ต้องว่ากันไป แต่ไม่อยากให้เรื่องเงียบหายไปเพราะกรณีดังกล่าวเป็นแค่เศษเสี้ยวของปัญหา การโฆษณาซึ่งเอาเปรียบผู้บริโภคในลักษณะทำให้เข้าใจผิดหรือการลดราคาด้วยการตั้งราคาขายให้สูงเข้าไว้แบบไม่มีที่มาที่ไป ต้องถือว่าเป็นการหลอกลวงทำให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดว่าสินค้ามีการลดราคา

ประเด็นคือประชาชนของเราจำนวนมากไม่สามารถแยกแยะพฤติกรรมโฆษณาแบบไร้จริยธรรม จึงเป็นความจำเป็นที่ “สคบ.” หรือ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งเข้ามาแก้ปัญหา การเบรกโฆษณากระทะเกาหลีเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยจะต้องมีกระบวนการทางกฎหมายเล่นงานเจ้าของสินค้า ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีศาลผู้บริโภคและกฎหมายที่มีอยู่น่าจะพอเพียงขึ้นอยู่กับการบังคับใช้กฎหมายว่าจะเอาจริงกันแค่ไหน...จริงไหมครับ (สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)