posttoday

ตร.เพิกถอนค่าปรับพ่อค้า500ไม่สวมแมสในตลาดส่งศาลพิจารณาแทน

26 เมษายน 2564

ผบช.ภ.1 สั่งเพิกถอนค่าปรับพ่อค้าไม่สวมหน้ากากอนามัย 500 บาท พร้อมส่งศาลฯพิจารณาคดีใหม่ ยืนยันตำรวจใช้ดุลยพินิจในการจับปรับ

เมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (บช.ภ.1) พล.ต.ท.อำพล บัวรับพร ผบช.ภ.1 แถลงชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีปรากฏภาพเอกสารค่าปรับเป็นเงิน 500 บาทของพนักงานสอบสวน สภ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา ลงวันที่ 25 เมษายน ในความผิดฐานไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ขณะอยู่นอกเคหสถาน หรือต้องติดต่อกับบุคคลอื่น หรือเดินทางไปสถานที่สาธารณะฯ ได้รับรายงานว่า เป็นเรื่องที่คณะกรรมการอำเภอบางปะหัน มอบหมายให้ผู้ใหญ่บ้านไปตรวจสอบหลังพบว่า พ่อค้าแม่ค้าขายกะทิ?ในตลาดสดแห่งหนึ่งไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งขัดกับคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงนำตัวมาส่งพนักงานสอบสวนให้เปรียบเทียบปรับ โดยเข้าใจไปว่า มีอำนาจตามกฎหมายควบคุมโรคให้สามารถเปรียบเทียบปรับได้เอง จึงสั่งปรับเป็นเงิน 500 บาท

ทั้งนี้ กรณีนี้พนักงานสอบสวน ต้องปรับในอัตราขั้นต่ำเป็นเงิน 6,000 บาท เพราะตามกฎหมายควบคุมโรคติดต่อและตามประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัด อัตราโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 20,000 บาท พนักงานสอบสวนไม่สามารถปรับเป็นเงิน 500 บาทได้ ดังนั้นในกรณีนี้ ผู้ถูกกล่าวหาขอให้พนักงานสอบสวน ทำสำนวนส่งฟ้องศาลแขวง เพื่อให้ศาลฯ ใช้ดุลยพินิจ?ในการสั่งปรับแทน ซึ่งผู้ถูกกล่าวหา เชื่อว่าน่าจะปรับได้ต่ำกว่าเงิน 6,000 บาท ดังนั้นกรณีนี้จึงใช้ อำนาจของ ผบช.ภ.1 สั่งเพิกถอนการเสียค่าปรับ 500 บาทไปแล้ว โดยให้ส่งศาลฯ พิจารณาพร้อมตำหนิพนักงานสอบสวนที่ทำไปโดยพละการ ซึ่งจากนี้จะกำชับไปยังตำรวจภูธร 9 จังหวัดที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ให้ปฏิบัติเป็นไปตามแนวทางเดียวกันแล้ว

พล.ต.ท.อำพล ยังกล่าวการขับรถยนต์คนเดียวโดยไม่สวมหน้ากากอนามัยเข้าข่ายความผิดกฎหมายหรือไม่ว่า หากตีความตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถือว่าผิด เพราะแม้ว่าจะอยู่ในรถยนต์ส่วนตัว แต่คำสั่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อ ดังนั้นจึงขอความร่วมมือให้ประชาชนปฏิบัติตามเพื่อให้เป็นการยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อ จึงไม่ต้องการให้ประชาชนตีความเป็นอย่างอื่น เพราะหากมีความผิดตำรวจก็จำเป็นจะต้องดำเนินคดี ตำรวจมีการใช้ดุลยพินิจ ไม่ใช่จ้องที่จะเข้าไปจับปรับผู้ที่ฝ่าฝืนไม่สวมหน้ากากอนามัยอย่างเดียว แต่ดูที่เจตนา หรือกรณีมีการกระทำความผิด หรือได้รับการร้องเรียน ว่ามีการฝ่าฝืนไม่สวมหน้ากากอนามัยบ่อยครั้งในพื้นที่สาธารณะ ตำรวจจึงจะเข้าไปบังคับใช้กฎหมาย