posttoday

พช.หนุนศูนย์ไหมนครชัยบุรินทร์แหล่งรวมเส้นไหมประเทศ

30 มกราคม 2564

อธิบดี พช.ร่วมสืบสาน “อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” หนุนศูนย์ไหมนครชัยบุรินทร์ สู่ศูนย์กลางเส้นไหมของประเทศ

นายสุทธิพงษ์  จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.)กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเวทีแลกเปลี่ยนการขับเคลื่อนผ้าทอ สนองพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ร่วมกับกลุ่มทอผ้า ผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP  ในการขับเคลื่อนกระบวนการ “ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ” การสืบสาน “อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” และเยี่ยมชมความก้าวหน้าการทอผ้าลาย "ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” สู่การพัฒนาภูมิปัญญาอย่างยั่งยืน ณ ศูนย์ไหมนครชัยบุรินทร์ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา

พช.หนุนศูนย์ไหมนครชัยบุรินทร์แหล่งรวมเส้นไหมประเทศ

นายสุทธิพงษ์  กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้วางแนวทางการส่งเสริม สนับสนุน ให้ศูนย์ไหมนครชัยบุรินทร์ เป็นศูนย์กลางเส้นไหมของประเทศ เพื่อให้ผู้ที่มีความชำนาญในการปลูกไหมเลี้ยงไหมและผู้ที่ความชำนาญในการทอผ้าไหม ได้พบปะเป็นสถานที่มาแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ให้เกิดการตกผลึกในเรื่องเส้นไหมไทย เพื่อที่ให้เกิดองค์ความรู้นวัตกรรมใหม่ๆในประเทศไทยต่อไป แต่ที่สำคัญทีสุดคือเป็นศูนย์กลางในการวบรวมเส้นไหมแก่กลุ่มทอผ้าตามข้อเสนอของผู้แทนกลุ่ม OTOP ด้านผ้า 4 ภูมิภาค

ด้านนายบัลลังก์ ไวทย์ศิริ นายอำเภอปักธงชัย กล่าวว่า อำเภอปักธงชัย เป็นอำเภอที่มีผู้ผลิตผู้ประกอบการผ้าไหมมากที่สุด ในจังหวัดนครราชสีมา โดยมีจำนวน 63 ราย แบ่งเป็นผู้ประกอบการประเภทกลุ่มจำนวน 15 ราย ประเภทรายเดียว จำนวน 44 ราย และประเภท SME จำนวน 4 ราย โดยมีผู้ผลิตผู้ประกอบการไหม ได้รับคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP Product Champion : OPC) ซึ่งได้ระดับ 5 ดาว จำนวน 19 ราย ระดับ 4 ดาว จำนวน 24 ราย และระดับ 3 ดาว จำนวน 7 ราย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจที่ได้ร่วมการสืบสาน “อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ของชาวอำเภอปักธงชัยเป็นอย่างยิ่ง

พช.หนุนศูนย์ไหมนครชัยบุรินทร์แหล่งรวมเส้นไหมประเทศ

ขณะที่นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ผู้แทนศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของกรมหม่อนไหม เน้นไปที่การพัฒนาของเส้น มีการฝึกอบรมการสาวเส้น ให้ได้มาตรฐานของกรมหม่อนไหม คำนึงถึงคุณภาพความสม่ำเสมอของการพัฒนาไหม โดยปัจจุบันมีการพัฒนาไหมไทยพื้นบ้าน ไหมGI ซึ่งเป็นไหมที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของสิ่งทอ และสีธรรมชาติที่มีความคงทนในระดับต่อการค้าได้ เน้นการตรวจสอบมาตรฐานไหม โดยมาตรฐานตรานกยูงพระราชทาน ในเกษตรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวน 2,768 ราย เฉลี่ยการปลูกหม่อนเฉลี่ยรายละ 2 ไร่ รวมประมาณกว่า 5000 ไร่  และมีกลุ่มที่เลี้ยงไหมเพื่อจำหน่ายไหมรังสด อยู่ประมาณ 200 ราย กำลังการผลิตจำหน่ายมาที่ศูนย์ปักธงชัย ประมาณเดือนละ 30 ตัน ซึ่งสามารถนำมาเป็นข้อมูลในการวางแผนปริมาณความต้องการในการผลิตไหมเพื่อให้สอดคล้องกับกำลังการผลิตของกลุ่มทอผ้าได้ต่อไปในอนาคต