posttoday

ปภ.เร่งช่วย4จังหวัดใต้กว่า5หมื่นครัวเรือนเดือดร้อนประสบอุทกภัย

09 มกราคม 2564

4จังหวัดภาคใต้ สงขลา ยะลา นราธิวาส ปัตตานี อ่วมอุทกภัย 31 อำเภอ 171ตำบล 908หมู่บ้าน เดือดร้อน 51,078 ครัวเรือนได้รับผลกระทบ

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง(กอปภ.ก.) รายงานอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรงประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งสหพันธรัฐมาเลเซียทำให้บริเวณภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลากดินสไลด์ และวาตภัย ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2564- ปัจจุบัน (9 มกราคม 2564 เวลา 06.00 น.) มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันน้ำไหลหลาก และดินสไลด์ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ สงขลายะลา นราธิวาส และปัตตานี รวม 31 อำเภอ 171 ตำบล 908 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 51,078 ครัวเรือน มีผู้สูญหาย 1 ราย (สงขลา)บาดเจ็บ 2 ราย (สงขลา)ไม่มีผู้เสียชีวิต

แยกเป็น พื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลาก 4 จังหวัด รวม 30 อำเภอ 150 ตำบล 806 หมู่บ้านประชาชนได้รับผลกระทบ 51,021 ครัวเรือน จุดอพยพ 7 จุด ผู้อพยพ 391 คน (นราธิวาส 3 จุด ยะลา 2 จุด สงขลา 2 จุด) ดังนี้

นราธิวาสน้ำไหลหลากในพื้นที่ 13 อำเภอ ได้แก่อำเภอศรีสาคร อำเภอบาเจาะ อำเภอระแงะอำเภอสุไงปาดี อำเภอรือเสาะ อำเภอแว้ง อำเภอสุคิริน อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอจะแนะอำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอเมืองนราธิวาส อำเภอยี่งอ และอำเภอตากใบ รวม 65 ตำบล 401 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 22,308ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว

ยะลา น้ำไหลหลากในพื้นที่ 7อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองยะลา อำเภอรามัน อำเภอยะหา อำเภอบันนังสตาอำเภอกรงปีนัง อำเภอธารโต และอำเภอเบตง รวม 50 ตำบล 246หมู่บ้านประชาชนได้รับผลกระทบ 12,082 ครัวเรือนระดับน้ำทรงตัว

สงขลา น้ำไหลหลากในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอนาทวี และอำเภอเทพา รวม 19 ตำบล 58 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,549 ครัวเรือนมีผู้บาดเจ็บ 2 ราย ระดับน้ำลดลง

ปัตตานี น้ำไหลหลากในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปัตตานี อำเภอแม่ลานอำเภอสายบุรี อำเภอหนองจิก อำเภอกะพ้อ อำเภอไม้แก่นและอำเภอยะรัง รวม 16 ตำบล 101 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 9,082 หมู่บ้าน ระดับน้ำทรงตัว

พื้นที่ได้รับผลกระทบจากดินสไลด์ 2 จังหวัด ได้แก่ ยะลา และนราธิวาส รวม 3 อำเภอ 7 ตำบล 22 หมู่บ้าน ไม่มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต ซึ่งสถานการณ์คลี่คลายแล้ว

ปภ.ได้ร่วมกับจังหวัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยระดมเครื่องจักรกลและเครื่องสูบน้ำเข้าพื้นที่ เพื่อเร่งระบายน้ำและให้การดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจพื้นที่ และประเมินความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือตามระเบียบต่อไปทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์“ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID@1784DDPMรวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป