posttoday

พช.เร่งพัฒนาคุณภาพชีวิตประยุกต์สู่"โคก หนอง นา โมเดล"

29 พฤศจิกายน 2563

อธิบดีพช.ปลุกนักพัฒนาชุมชนทั่วประเทศน้อมนำศาสตร์พระราชา ในหลวง รัชกาลที่ 9 ขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.)กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้น การพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล โดยมี ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล และ รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายธนวัฒน์ ปิ่นแก้ว ผอ.สถาบันการพัฒนาชุมชน กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยผู้อำนวยการกลุ่มงาน เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัด และอำเภอ รวมทั้งสิ้น 642 คน ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก (ศพช.) ซึ่งการอบรมในครั้งนี้ดำเนินการพร้อมกันในศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนทั้ง 7 แห่ง โดยใช้การถ่ายทอดการประชุมทางไกล (Conference)

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้รับงบประมาณโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” งบประมาณ 4,787,916,400 บาท เพื่อดำเนินการในพื้นที่ 73 จังหวัด 575 อำเภอ 3,246 ตำบล 25,179 ครัวเรือน ประชาชนจะได้รับผลประโยชน์ ประการแรกคือ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ประเทศจะอยู่รอดปลอดภัยได้ย่อมต้องเริ่มมาจากความมั่นคงของครัวเรือน ซึ่งครัวเรือนที่เป็นต้นแบบเหล่านี้ที่เรียกว่า “หัวไวใจสู้” เมื่อได้เรียนรู้หลักการของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่แล้ว จะกลายเป็นครูพาทำ พื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาแล้วจะกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ ขยายผลสู่วงกว้างต่อไป

พช.เร่งพัฒนาคุณภาพชีวิตประยุกต์สู่"โคก หนอง นา โมเดล"

ทั้งนี้ การที่รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณดำเนินการในครั้งนี้ ท้องถิ่น ชุมชนได้รับประโยชน์สูงสุด เกิดการจ้างงานคนในท้องถิ่น ใช้วัสดุอุปกรณ์ วัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในท้องถิ่นได้อย่างดี รวมถึงทำให้เกิดความสมัครสมาน รู้รัก สามัคคี ของคนไทยผ่านกิจกรรมการเอามื้อสามัคคี โดยแต่ละครัวเรือนจะมีการร่วมมือเอามื้อสามัคคีอย่างน้อย 3 ครั้ง ในระดับตำบลๆ ละ 7 ครั้ง ตลอดจนการนำเอาหลัก บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) ซึ่งเป็นหน่วยที่มีความสำคัญและความหมายสำหรับสังคมเป็นสามเสาหลัก ที่ยึดโยงค้ำจุน สัมพันธ์กัน อย่างสมดุล แก่คนในสังคมไทย มาเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตและเป็นหลักของการพัฒนา

สำหรับ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นในครั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชน ได้มอบหมายให้สถาบันการพัฒนาชุมชน จัดฝึกอบรมโครงการดังกล่าว ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน ทั้ง 7 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนสระบุรี ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุบลราชธานี ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครศรีธรรมราช และศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม

อย่างไรก็ตาม ตลอด 5 วัน จะมีการฝึกอบรม ประกอบด้วย การบรรยาย การแบ่งกลุ่มอภิปราย การฝึกปฏิบัติฐานเรียนรู้ ถอดบทเรียนผ่านสื่อ การฝึกครูกระบวนการ ครูประจำฐานเรียนรู้ ครูพาทำ จิตอาสาพัฒนาเอามื้อสามัคคีพัฒนาพื้นที่ตามหลักทฤษฎีใหม่ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสามารถเป็นแกนนำขับเคลื่อนการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดลในพื้นที่เป้าหมายได้ต่อไป