posttoday

"วราวุธ"ดูของจริงน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งแหลมสมิหลา-หาดชลาทัศน์

29 พฤศจิกายน 2563

สงขลา-รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์กัดเซาะชายฝั่งทะเลบริเวณแหลมสมิหลา-หาดชลาทัศน์ ย้ำการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต้องศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบพื้นที่ไหนเกิดตามธรรมชาติหรือมนุษย์ต้นเหตุ

เมื่อวันที่ 29 พ.ย.นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) นำทีมผู้บริหารทส.ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งพื้นที่แหลมสมิหลาและหาดชลาทัศน์ จ.สงขลา โดยนายวราวุธ กล่าวว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่รู้สึกกังวลและให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นปัญหาที่สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนโดยตรง พบว่าบริเวณแหลมสมิหลา และหาดชลาทัศน์ เป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ในช่วงเดือน พ.ย.ถึงก.พ. คลื่นและลมมรสุมจะพัดตะกอนจากพื้นที่ไปทับถมบริเวณอื่น และจะเคลื่อนตัวกลับคืนมาในช่วงหลังฤดูมรสุม

สำหรับ พื้นที่ชายหาดชลาทัศน์ มีปัญหากัดเซาะชายฝั่งค่อนข้างมาก สาเหตุจากการก่อสร้างบ่อสูบน้ำเสียเมื่อราวปี 2544 ซึ่งปัจจุบันได้มีการก่อสร้างเขื่อนหินทิ้งและวางกระสอบทรายเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแล้วนอกจากนี้ ยังมีการถ่ายเททรายเพื่อบรรเทาปัญหาและเร่งการสะสมและการทับถมของทรายบริเวณชายหาด

"วราวุธ"ดูของจริงน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งแหลมสมิหลา-หาดชลาทัศน์

ทั้งนี้ ได้ย้ำให้แก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ห้ามรบกวนพื้นที่ชายหาดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ และให้มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบบนฐานแนวคิดทางวิชาการและหลักการระบบกลุ่มหาด โดยเฉพาะพื้นที่ที่ใช้โครงสร้างทางวิศวกรรม ต้องคิดให้รอบคอบและประชาชนต้องมีส่วนร่วมตัดสินใจด้วย ส่วนการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งตามฤดูกาล ไม่นับเป็นปัญหาที่มนุษย์ต้องเข้าไปดำเนินการใด ๆ เพราะธรรมชาติสามารถรักษาสมดุลได้เอง แต่กิจกรรมมนุษย์ที่สร้างความรบกวนต่อแนวคลื่น หรือการแก้ไขปัญหาโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง กลับเป็นสิ่งที่น่ากังวลและต้องได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วนและเป็นระบบ

“การแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ต้องเข้าใจบริบททางธรรมชาติ คิดให้รอบ ศึกษาให้ละเอียดพื้นที่ใดที่เกิดปัญหาจากธรรมชาติ ๆ จะรักษาสมดุลด้วยตัวเอง พื้นที่ใดเกิดปัญหาจากกิจกรรมของมนุษย์ๆ ต้องรับผิดชอบ หากมีการปกป้องพื้นที่หนึ่งแต่กลับสร้างความเดือดร้อนให้กับพื้นที่อื่น นั่นไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน”นายวราวุธกล่าว

นอกจากนั้น ได้กำชับนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ติดตามสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยอย่างใกล้ชิด และให้ประสานหน่วยงานที่จะดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างทางวิศวกรรมหรือกิจกรรมป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กล่าวไว้อย่างเคร่งคัด นายจตุพร กล่าวยืนยัน