posttoday

คนใต้ มอง นโยบายกระตุ้นศก.ภาครัฐไม่ตรงท้องถิ่น

01 สิงหาคม 2563

ม.หาดใหญ่ เผย ดัชนีความเชื่อมั่นประชาชนในภาคใต้เดือน ก.ค.หลังคลายล็อคโควิด เฟส 5 เพิ่มเล็กน้อย มอง การช่วยเหลือภาครัฐไม่ตรงกับท้องถิ่น เสนอรัฐบาลให้ “จังหวัดกำหนดทิศทางเศรษฐกิจตนเอง” พร้อมนำความยากจนเป็นวาระแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 1 สค. 63 ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่าในเดือนกรกฎาคม 2563 ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมเพิ่มเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน

ทั้งนี้เพราะตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ศบค.ได้ทำการคลายล็อคระยะที่ 5 การอนุญาตให้ร้านสะดวกซื้อสามารถเปิดได้ 24 ชั่วโมง ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมิวนิตี้มอลล์ ศูนย์แสดงสินค้า เปิดได้ถึง 22.00 น. รวมถึงให้สถานบริการอาบอบนวด ผับ บาร์ และร้านคาราโอเกะ เปิดได้ถึง 24.00 น. ตลอดจนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศโดยจัดโครงการมอบส่วนลด เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวไทย

ประกอบด้วย 3 แพ็คเกจ คือ เที่ยวปันสุข เราเที่ยวด้วยกัน และกำลังใจ เพื่อให้เงินหมุนเวียนในภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่การส่งออก ได้แก่การขนส่งสินค้าที่คล่องตัวขึ้น โดยเฉพาะการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยไทยและประเทศเพื่อนบ้านต่างเริ่มผ่อนคลายเปิดจุดผ่านแดนสำคัญ ๆ ให้สามารถทำการขนส่งสินค้าได้หลายช่องทางมากขึ้น ซึ่งขณะนี้การขนส่งสินค้าชายแดนผ่านจุดผ่านแดนถาวรระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านกลับมาดำเนินการได้เกือบทั้งหมด

นอกจากนี้ ประชาชนมีความสุขเพิ่มขึ้นจากการได้เดินทางพักผ่อน ท่องเที่ยว และพบปะเพื่อน ญาติ ในช่วงวันหยุดยาว วันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 68 พรรษา“พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” วันที่ 25 - 28 กรกฎาคม 2563

ถึงแม้ว่าปัจจัยบวกในหลายด้านจะปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามดัชนีความเชื่อมั่นประชาชนเดือนกรกฎาคม ยังต่ำกว่าเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2563 ก่อนวิกฤตโควิด-19

ทั้งนี้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมของภาคใต้ และของประเทศไทย ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศบราซิล และใกล้ๆประเทศไทย คือประเทศอินเดีย ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง การลดจำนวนการผลิตและชะลอการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งภาคธุรกิจบริการและท่องเที่ยวที่ประสบกับสภาวะซบเซาอย่างต่อเนื่องจากผลดำเนินงานไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะขาดทุน

ทั้งนี้ภาคธุรกิจบริการและท่องเที่ยวจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด บางรายต้องปิดกิจการชั่วคราว เนื่องจากไม่สามารถแบกภาระค่าใช้จ่ายไว้ได้ ถึงแม้ว่าภาครัฐจะคลายล็อคแล้วก็ตาม

แต่การบริโภคของประชาชนคนไทยเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อรายได้ของกิจการ โดยเฉพาะกิจการที่เกี่ยวข้องกับการบริการและการท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่ยังต้องพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ในขณะที่ประชาชนคนไทยส่วนหนึ่งยังมีความกังวลในความไม่แน่นอนของโควิด-19 ระลอก 2 จึงไม่เดินทางไปไหนหากไม่จำเป็น รวมถึงการไม่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะกับคนจำนวนมาก ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการติดโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มที่มีโรคประจำตัว และกลุ่มครอบครัวที่มีเด็กเล็ก อีกทั้งประชาชนส่วนหนึ่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจภาคใต้ และเศรษฐกิจของประเทศยังจะอยู่ในภาวะที่ถดถอยอีกระยะเวลาหนึ่ง จึงระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย และเก็บเงินไว้ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น

นอกจากนี้ประชาชนภาคใต้จำนวนมากมีภาวะหนี้สินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการกิจการขนาดกลาง และขนาดเล็ก รวมถึงประชาชนในหลากหลายอาชีพ ทำให้สินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อรายย่อยเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการกู้เงินนอกระบบ ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไข และความคิดเห็นต่อมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ มีดังนี้

1. ภาครัฐควรสนับสนุนการคิดค้นผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างเร่งเด่น เพราะวัคซีนจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น และทำให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศดำเนินไปได้อย่างปกติ

2. ชุมชนท้องถิ่นในแต่ละแห่งมีปัญหา อุปสรรค และความต้องการที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งนโยบายของภาครัฐในการช่วยเหลือ ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลายอย่างไม่ตรงกับปัญหาและความต้องการของชุมชนท้องถิ่น เนื่องจากการออกข้อกำหนดเหมือนกันทั่วประเทศ

ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสอบถามปัญหา และความต้องการในแต่ละพื้นที่ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา และให้ความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องมีประสิทธิภาพ

3. ภาครัฐควรพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มากขึ้น โดยจัดโครงการในชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ และให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาชุมชนต่าง ๆ ให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และเพื่อให้เกิดการสร้างงานและรายได้แก่คนในพื้นที่

4. ประชาชนกังวลถึงคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลประยุทธ์ 2/2 โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ ซึ่งขาดความต่อเนื่อง อาจจะส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในยุคโควิด-19 และเสนอให้ภาครัฐนำปัญหาความยากจนของคนในชาติเป็นวาระแห่งชาติ และดำเนินงานแบบเชิงรุก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน

5. จากราคาหมูเนื้อแดงเพิ่มสูงขึ้น ประชาชนภาคใต้ส่วนหนึ่งมองว่า เป็นเพราะการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรจากประเทศจีน และประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ความต้องการเนื้อหมูในประเทศดังกล่าวเพิ่มขึ้น จึงทำให้การส่งออกเนื้อหมูไปขายยังประเทศเหล่านี้ได้ราคาสูงกว่าขายในประเทศ แม้ว่ากฎหมายของไทยได้กำหนดราคาหมูหน้าฟาร์มไม่เกินกิโลกรัมละ 80 บาท แต่กลับขายจริงในประเทศสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด ส่งผลให้ราคาหมูในตลาดโดยเฉพาะหมูเนื้อแดงสูงถึงกิโลกรัมละ 170-180 บาท จึงทำให้ร้านอาหารที่ใช้วัตถุดิบจากเนื้อหมูต้องขึ้นราคาอาหาร หรือลดปริมาณเนื้อหมูลง ส่งผลให้ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้นตามไปด้วย จึงเสนอให้กรมการค้าภายในออกกฎหมายควบคุมการส่งออกหมูไปขายยังต่างประเทศ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคในสุกร เพื่อให้ราคาหมูกลับสู่สภาพเดิม

6. ประชาชนภาคใต้เสนอ สภาพัฒน์ ไม่ให้ตัดค่าตอบแทนเสี่ยงภัยของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จากระยะเวลา 19 เดือน เหลือ 7 เดือน เนื่องจากกลุ่มบุคคลภายในชุมชนที่เป็นอาสาสมัครเหล่านี้ เป็นผู้มีจิตอาสา เสียสละต่อประชาชน ในการดูแล ให้คำแนะนำ และช่วยเหลือทางด้านสาธารณสุขในหมู่บ้าน ถึงแม้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยสามารถควบคุมได้แล้วก็ตาม แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น อสม. จึงมีความจำเป็นในการเฝ้าระวัง และการช่วยควบคุม ดูแลให้คนในหมู่บ้านปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ

7. ผู้ประกอบการขนาดเล็กที่อยู่นอกระบบจำนวนมาก ซึ่งประสบปัญหาจากการที่ภาครัฐสั่งให้ปิดกิจการในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ขาดเงินสดหมุนเวียน มีภาระหนี้สินจากการกู้เงินนอกระบบ จึงมีความต้องการได้รับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ไปใช้หนี้นอกระบบ และเป็นทุนในการค้าขาย ซึ่งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ภาครัฐได้กำหนดวงเงิน 500,0000 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลือเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งใช้ไปเพียงแสนกว่าบ้านบาททั้งนี้ ผู้ประกอบการขนาดเล็กเหล่านี้ไม่สามารถกู้ได้

เนื่องจากคุณสมบัติไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่ธนาคารต่าง ๆ กำหนด ดังนั้น ผู้ประกอบการเหล่านี้จึงวอนให้ธนาคารของรัฐบาลปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็กที่อยู่นอกระบบด้วย

8. กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP นวัตวิถี และวิสาหกิจชุมชนในภาคใต้จำนวนมากหยุดดำเนินงาน ไม่มีการผลิตสินค้าตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในชุมชน และไม่มีสถานที่วางจำหน่ายสินค้าให้กับชุมชน จึงเสนอให้ภาครัฐจัดตั้งศูนย์ขายผลิตภัณฑ์ชุมชนในแต่ละจังหวัด เพื่อรับสินค้าจากชุมชนมาจำหน่าย เป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน

9. จากการที่ภาครัฐกำหนดนโยบายกว้าง ๆ และกระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัดออกมาตรการต่าง ๆ ได้เองในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะในแต่ละจังหวัดมีบริบทที่แตกต่างกัน ทำให้จังหวัดต่าง ๆ สามารถบริหารจัดการและควบคุมโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี

“ประชาชนภาคใต้ส่วนหนึ่งจึงมีความคิดเห็นว่า ภาครัฐควรกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมแบบกว้าง ๆ และกระจายอำนาจให้จังหวัดในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และอื่น ๆ ในจังหวัดของตนเอง เพื่อให้การบริหารจัดการสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของประชาชนในจังหวัดนั้น ๆ”

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 30.20 และ 37.10 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 34.50 และ 33.50 ตามลำดับ

ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 34.20 , 37.10 และ 29.70 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 29.10 รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง และราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ คิดเป็นร้อยละ 27.20 และ 18.30 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง ตามลำดับ