posttoday

"สิระ" ลงพื้นที่คอกหอยอ่าวบ้านดอนแก้ปัญหาข้อขัดแย้ง

31 กรกฎาคม 2563

สุราษฎร์ธานี-"สิระ เจนจาคะ" ประธานกมธ.กฎหมายสภาผู้แทนฯลงพื้นที่คอกหอยอ่าวบ้านดอนชาวบ้านแห่ร้องแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง

เมื่อวันที่ 31ก.ค.63 ที่ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายสิระ เจนจาคะ ประธานกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์คอกหอยในอ่าวบ้านดอนหลังมีผู้ร้องเรียนให้เข้ามาแก้ไขปัญหา โดยประชุมร่วมกับนายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นาวาเอกวศากร สุนทรนันท รอง ผอ.ศรชลจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายเกียรติศักดิ์ เกษมพันธ์กุล ประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายวิชัย สมรูป ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 (สุราษฎร์ธานี) และตัวแทนผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงหอยทะเล ชาวประมงพื้นบ้าน และนักอนุรักษ์ เข้าร่วม

ทั้งนี้ ได้มีกลุ่มผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงหอยในอ่าวบ้านดอน ประมาณ 500 คน ต้อนรับโดยมีนายประภาส รักเดช ตัวแทนผู้เพาะเลี้ยงหอยทะเล ต.ลีเล็ด อ.พุนพิน นายสุพจน์ ศรีเจริญสุข ตัวแทนผู้เพาะเลี้ยงหอยทะเล อ.เมืองสุราษฎร์ธานี เป็นตัวแทนยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ขอให้พิจารณาแก้ไขปัญหาการเพาะเลี้ยงหอยทะเลในอ่าวบ้านดอนผ่านทางนายสิระ

ทั้งนี้ ที่ประชุม นายสุทธิพงษ์ รายงานว่า พื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี มีการเพาะเลี้ยงหอยแครงทั้งในพื้นที่อนุญาตและนอกเขตอนุญาตมานานกว่า 30 ปี ในปี 2557 ได้เกิดปัญหาความขัดแย้ง และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)มีคำสั่งให้จังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานี เข้าไปจัดระเบียบและมีข้อตกลงจังหวัดร่วมกันระหว่างกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านที่อ้างไม่มีพื้นที่ทำกินกับกลุ่มผู้ประกอบการเลี้ยงหอยให้กันพื้นที่จากชายฝั่งออกไป 1,000 เมตร ให้เป็นเขตสำหรับการทำประมงพื้นบ้านและเปิดโอกาสให้ชาวบ้าน รวมถึงองค์กรท้องถิ่น สามารถทำการเพาะเลี้ยงรายละ 10 ไร่เลี้ยงหอย และไม่เกิดปัญหาความขัดแย้งอีกเลย

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ความขัดแย้งล่าสุดในปี 2563 มาจากกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านถูกริดรอนทำกิน และถูกข่มขู่จากผู้ประกอบการเลี้ยงหอย ประกอบกับมีลูกหอยแครงเกิดขึ้นมากในพื้นที่ อ.พุนพิน อ.เมือง และเป็นที่ต้องการของตลาดจึงเกิดการแย่งชิงกันเกิดขึ้นทางจังหวัดจึงเร่งดำเนินการแก้ไขและพบว่ามีการทำผิดกฎหมายกรมประมงและกรมเจ้าท่า โดยได้พยายามแก้ไขโดยใช้หลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ กระทั่งมีศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล เข้ามาเป็นหน่วยงานหลักและบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายขั้นเด็ดขาด

“ ซึ่งจังหวัดโดยคณะกรรมการประมงจังหวัด ได้มีคำสั่งประกาศให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างขนำบ้านพักที่ก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งจะครบ 60 วันในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 รวม 597 หลัง ล่าสุดรื้อถอนไปแล้ว 52 หลังและรวบรวมพยาน หลักฐานปิดหมายแจ้งดำเนินคดี 176 คดี ปิดหมายคำสั่งทางปกครองในพื้นที่ อ.เมือง 88 หลัง ” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

ด้านนายสำราญ ธานีวงศ์ ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน ชี้แจงต่อนายสิระและคณะ ว่า ปัญหาการบุกรุกเลี้ยงหอยแครงทำให้ชาวประมงพื้นบ้านไม่มีพื้นที่ทำกิน และร่องน้ำถูกกีดขวางการเดินเรือเข้าออกของชาวประมง และถูกลิดรอนสิทธิ ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายของศรชลถูกต้องแล้ว เพื่อให้ชาวประมงสามารถทำกิน