posttoday

บีอาร์เอ็นส่ง"อานัส อับดุลเราะมาน"คุยกับไทยอย่างเป็นทางการ

21 มกราคม 2563

มาเลเซียแพร่ข่าวตัวแทนบีอาร์เอ็นหารือร่วมกัน พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ตัวแทนรัฐบาลไทย ยืนยันจะสานต่อจินตนาการของชาวปาตานี และกระบวนการเปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม

มาเลเซียแพร่ข่าวตัวแทนบีอาร์เอ็นหารือร่วมกัน พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ตัวแทนรัฐบาลไทย ยืนยันจะสานต่อจินตนาการของชาวปาตานี และกระบวนการเปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม

เมื่อวันที่ 21 ม.ค.เพจ PatanI Note ของมาเลเซียเผยว่า ไทยกับบีอาร์เอ็นพบกันที่กรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อวันจันทร์ที่ 20 ม.ค.ที่ผ่าเนมา หลังจากที่พูดคุยสร้างความมั่นใจสองฝ่ายมาระยะหนึ่ง ข้อมูลดังกล่าวซึ่งมาจากแถลงการณ์ของสำนักงานเลขานุการเพื่อการพูดคุยสันติภาพของมาเลเซีย The Secretariat for Dialogue (SPD) ระบุว่า มาเลเซียได้เป็นเจ้าภาพจัดให้มีการพบปะกันระหว่างรัฐบาลไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็น

แถลงการณ์ที่มีทั้งภาษาอังกฤษ ไทยและมลายู ระบุว่า ตัวแทนไทยที่ไปร่วมพบปะหนนี้ คือ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขของรัฐบาลไทย และมีตัวแทนของหน่วยราชการอีกหลายหน่วยเข้าร่วมรวมทั้งหน่วยงานด้านความมั่นคงและกระทรวงต่างประเทศ ทีมไทยได้พบกับตัวแทนของกลุ่มบีอาร์เอ็นที่นำโดย อานัส อับดุลเราะมาน มีอับดุลราฮิม นอร์ ตัวแทนของรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก แถลงการณ์บอกว่า การพบปะหนนี้เป็นผลของความพยายามของทั้งสองฝ่ายที่ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมาระยะหนึ่งแล้วเพื่อจะออกแบบกระบวนการพูดคุยที่ทั้งคู่จะรับได้

นอกจากแถลงการณ์แล้ว หัวหน้าคณะของบีอาร์เอ็นคือ อานัส อับดุลเราะมานยังแถลงกับผู้สื่อข่าวยืนยันว่า ก่อนที่จะพบกัน ทั้งสองฝ่ายได้ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความไว้วางใจกันมาร่วม 3 ปี และการพูดคุยหนนี้ถือเป็นการคุยกันโดยตรงระหว่างไทยและบีอาร์เอ็น เขาย้ำว่า กระบวนการพูดคุยนี้จะต้องเปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและจะต้องรองรับ “ความปรารถนาทางการเมือง” หรือ political inspiration ของทุกกลุ่มประชาชนปาตานี

"บีอาร์เอ็นจะไม่นำประเด็นของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาพูดคุยเท่านั้น แต่เราจะนำปัญหาและความปรารถนาทั้งหมดของผู้คนในปาตานีมาเป็นหลักพื้นฐานสำหรับเราที่จะดำเนินการบนโต๊ะพูดคุยกับรัฐบาลไทย"

ด้านแถลงการณ์ระบุว่า การพบปะกันหนนี้เป็นโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้ทำความรู้จักกัน พร้อมทั้งยอมรับว่ามีกรอบในการทำงานร่วมกันในอันที่จะพูดคุยสันติภาพ การพบปะกันหนนี้ถือว่า ได้ผลเพราะสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในสภาพบรรยากาศที่สร้างสรรค์เพื่อการร่วมมือในอนาคต

แถลงการณ์ของมาเลเซีย ระบุว่า ที่ประชุมให้ความสำคัญอย่างมากกับการพูดคุยสันติภาพเพื่อจะให้เกิดความสงบที่ยั่งยืน “ดังนั้นเรายินดีที่จะได้รับฟังความคิดเห็นจากทุกด้าน พร้อมจะทำงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย เพราะเราเชื่อว่ากระบวนการพูดคุยที่จะได้ผลยั่งยืนต้องมีการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน”