posttoday

ลาวสะเทือนดินไหว ชาวบ้านผวาเขื่อนแตก จี้รัฐทำแผนเผชิญเหตุ

22 พฤศจิกายน 2562

ชาวบ้าน 7 จังหวัดติดริมแม่น้ำโขงร่วมจัดบายศรีสู่ขวัญ-บวงสรวงพญานาค หลังแผ่นดินไหวในลาว จี้รัฐทำแผนเผชิญเหตุ เผยนอนหวาดผวาหวั่นเขื่อนแตก

ชาวบ้าน 7 จังหวัดติดริมแม่น้ำโขงร่วมจัดบายศรีสู่ขวัญ-บวงสรวงพญานาค หลังแผ่นดินไหวในลาว จี้รัฐทำแผนเผชิญเหตุ เผยนอนหวาดผวาหวั่นเขื่อนแตก

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 นางสาวอ้อมบุญ ทิพย์สุนา ผู้ประสานงานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสานเปิดเผยว่า ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ชาวบ้านริมแม่น้ำโขง 7 จังหวัดจะร่วมกันจัดกิจกรรมบายศรีสู่ขวัญให้แม่น้ำโขงและบวงสรวงพญานาคขึ้นที่วัดสมประศักดิ์ริมโขง ปากห้วยคุก ต.เวียงคุก อ.เมือง จ.หนองคาย ซึ่งเป็นพิธีกรรมโบราณโดยจะมีการอ่านโองการ “เอิ้นปลาคืนวัง เติมน้ำคืนโขง”โดยญาพ่อญาแม่ เทพลุ่มน้ำโขง และทำบุญถวายภัตราหารเพล

นางสาวอ้อมบุญกล่าวว่า บุคคลที่ทำให้แม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงถือว่าทำลายสรรพชีวิตซึ่งในสายตาคนอีสานการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้เป็นบาปหนักมาก ดังนั้นต้องทำพิธีเอิ้นขวัญให้แม่น้ำโขงกลับมารวมถึงการสู่ขวัญให้สิ่งมีชีวิตคืนมา ทั้งนี้เราเห็นว่าเขื่อนเปรียบเสมือนไฟบรรลัยกัลป์ที่ทำลายแม่น้ำโขง ดังนั้นจึงต้องทำบุญกรวดน้ำ รวมทั้งการบวงสรวงพญานาค โดยนำข้าวของเครื่องใช้และผลไม้ 9 ชนิด รวมทั้งหัวปลีใส่ลงบนแพและลอยเพื่อส่งให้พญานาคใต้บาดาล นอกจากนี้ยังมีบายศรีรูปพญานาค

ผู้ประสานงานสภาองค์กรชุมชน 8 จังหวัดกล่าวว่า ตอนนี้ชาวบ้านริมแม่น้ำโขงต้องอยู่กันอย่างหวาดผวาภายหลังจากเกิดแผ่นดินไหวติดต่อกันมาตั้งแต่เมื่อวาน เพราะทางการไม่เคยมีแผนเผชิญเหตุหรือให้ข้อมูลกับชาวบ้านว่า หากเขื่อนแตกหรือเกิดอุบัติภัยจะทำอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ชาวบ้านแสดงความเป็นห่วงมาตั้งแต่ต้นก่อนที่เขื่อนไซยะบุรีจะก่อสร้าง เพราะเขื่อนแห่งนี้ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนซึ่งอาจทำให้มีปัญหาได้ แต่สิ่งที่พวกตนพูดในเวทีรับฟังความคิดเห็นในหลายๆครั้งกลับไมได้รับความสนใจจากภาคราชการและบริษัทที่รับผิดชอบ

“ทุกวันนี้ไม่มีใครบอกเราได้ หากเขื่อนแตกเหมือนเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยในลาว ชาวบ้านจะต้องทำอย่างไร เพราะเราไม่มีแผนเผชิญเหตุ ไม่มีข้อมูลว่าน้ำจะท่วมมาถึงไหนและใช้เวลาเท่าไร เราเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงเรื่องนี้ แต่ไม่มีใครตอบ เราอยากให้ทุกอย่างหยุดอยู่ที่เขื่อนไซยะบุรี แต่ตอนนี้คุณกลับไปเปิดเวทีรับฟังล่วงหน้าของโครงการเขื่อนหลวงพระบางอีก เรารับไม่ได้ เราอยากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจัดเวทีระดมเพื่อให้ทางออกให้ชาวบ้าน ไม่ใช่ปล่อยให้นอนหวาดผวากันทุกคืน เราคุยกันหนักว่าเราจะอยู่อย่างไร”นางสาวอ้อมบุญ กล่าว

วันเดียวกัน เวปไซต์ idsala.com ของลาวรายงานว่า จนถึงเมื่อเช้าวันที่ 22 พฤศจิกายน ได้เกิดแผ่นดินไหวในแขวงไซยะบุลีแล้ว 79 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อเวลา 07.56 น. ซึ่งแผ่นดินไหวได้สร้างความเสียหายมากมายโดยเฉพาะสิ่งปลูกสร้าง ส่วนประชาชนยังคงแตกตื่นซึ่งเมื่อคืนที่ผ่านมาชาวบ้านจำนวนมากไม่กล้านอนในบ้านและพากันมานอนในที่โล่งแจ้ง ขณะที่หลายฝ่ายยังให้ความสนใจกับความปลอดภัยของเขื่อนไซยะบุลีและโรงไฟฟ้าหงสา

ขณะที่สำนักข่าวเวียงจันทน์ไทม์ได้รายงานข่าวว่า เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.4 และ5.9 ริกเตอร์ เมื่อเช้าวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ได้ทำให้ชาวบ้าน 2 รายได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย โดยนายแหล่ อุ่นสมบูน ผู้อำนวยการเมืองหงสา กล่าวว่า การประเมินเบื้องต้นพบว่า มีบ้านจำนวน 13 หลัง วัด 4 แห่ง ในบ้านสีเมืองคูน สีบูนเฮือง แท่นคำ นาแก่นขามและบ้านเมืองกาน ได้รับความเสียหาย

ขณะที่แผนกอุตุนิยมวิทยา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของทางการลาว รายงานว่า มีแผ่นดินไหวรวม 18 ครั้ง โดย 2 ครั้งมีระดับที่รุนแรง ครั้งแรกเมื่อเวลา 04.03 น. และครั้งที่สอง 05.9 น. ในเขตกลางของเมืองหงสา ประมาณ 38 กิโลเมตรจากตัวเมืองติดกับชายแดนไทย ต่อมีมีแผ่นดินไหวอีกครั้งช่วงเวลา 06.50 น.ขนาด 6.4 ริกเตอร์ การสั่นสะเทือนรับรู้ได้ทั่วเมืองหงสา และเกิดอาพเตอร์ช็อกที่ชาวบ้านรู้สึกได้และกระทรวงได้เตือนประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ใกล้พื้นที่ได้รับผลกระทบให้เฝ้าติดตามการแจ้งเตือน

ทั้งนี้เมื่อเดือนมกราคม 2562 ที่ผ่านมาเกิดแผ่นดินไหวที่แขวงพงสาลีขนาด 4.7 ลึกประมาณ 5 กิโลเมตร ที่บ้านงายเหนือ เมืองบูนใต้ และอีกครั้งที่บ้านตีนนก เมืองน้ำทา แต่ไม่มีการรับรู้แรงสั่นสะเดือน ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวครั้งที่สองในแขวงหลวงน้ำทา โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว