posttoday

เขื่อนอุบลรัตน์ลดการระบายน้ำลงเหลือวันละ 30 ล้าน ลบ.ม.

01 พฤศจิกายน 2560

เขื่อนอุบลรัตน์ลดการระบายน้ำลงเหลือวันละ 30 ล้าน ลบ.ม. ตามคำสั่ง นายกฯ วันแรก ขณะที่เขตชุมชนเมืองชั้นในของ จ.ขอนแก่น เร่งระบายน้ำออกเพื่อให้ระดับน้ำลดลงภายใน 14 วัน

เขื่อนอุบลรัตน์ลดการระบายน้ำลงเหลือวันละ 30 ล้าน ลบ.ม. ตามคำสั่ง นายกฯ วันแรก ขณะที่เขตชุมชนเมืองชั้นในของ จ.ขอนแก่น เร่งระบายน้ำออกเพื่อให้ระดับน้ำลดลงภายใน 14 วัน

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 1 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ได้มีการปรับลดการระบายน้ำออก จากเดิมวันละ 38 ล้าน ลบ.ม. คงเหลือการระบายน้ำออกอยู่ที่ วันละ 30 ล้าน ลบ.ม.วันแรกวันนี้ หลังมีคำสั่งจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้มีการสั่งการด่วนไปยังคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดขอนแก่นในการปรับลดการระบายน้ำออกจากเขื่อนอุบลรัตน์ทันทีหลังเสร็จสิ้นการลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนกลางและสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.ขอนแก่น เมื่อวานที่ผ่านา (31 ต.ค.) โดยการปรับลดการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ดังกล่าวนี้นั้นเนื่องจากขณะนี้แม่น้ำพองมีระดับน้ำที่เกินกว่าที่จะรองรับได้ ( แม่น้ำพองรับน้ำได้ที่ 38 ล้าน ลบ.ม.) และมวลน้ำได้ไหลท่วมพื้นที่ท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ โดยเฉพาะที่ อ.น้ำพองและ อ.เมืองขอนแก่น ครอบคลุมหลายตำบล ขณะที่มวลน้ำที่มีจำนวนมาก และมีกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากได้กัดเซาะคันดินพนังกั้นน้ำที่คลองส่งน้ำ 3L-RMC ที่ บ.คุยโพธิ์ ต.บึงเนียม อ.เมืองขอนแก่น พังทลายลงมาความยาวกว่า 30 เมตร ซึ่งแม้ว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่จากกรมชลประทานจะสามารถปิดกั้นแนวคันดินดังกล่าวได้แล้วแต่ยังคงมีมวลน้ำจำนวนมากไหลเข้าท่วมพื้นที่หลังแนวคันดินดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งการปรับลดการระบายน้ำดังกล่าวนอกจากเป็นการลดปริมาณน้ำที่ไหลมาตามแม่น้ำพองแล้ว ยังคงเป็นการแก้ไขสถานการณ์น้ำในภาพรวม โดยเฉพาะพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนกลาง ให้มีการเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำพอง และแม่น้ำชี ให้ไหลผ่าน จ.ขอนแก่น,กาฬสินธุ์,มหาสารคาม,ร้อยเอ็ด,ยโสธร และลงแม่น้ำโขง ที่ จ.อุบลราชธานี ให้ได้โดยเร็ว

ด้านประตูระบายน้ำD8 ห้วยพระคือ ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น เจ้าหน้าที่ยังคงเร่งสูบน้ำออกจากเขตพื้นที่ชุมชนเมืองชั้นใน เพื่อลงสู่แม่น้ำชีอย่างต่อเนื่องตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง โดยทำการสูบน้ำจากมวลน้ำที่ไหลทะลักเข้ามาจากการพังทลายของแนวคันดินกับมวลน้ำในเขตชุมชนเมือง ที่จะต้องสูบน้ำออกให้ได้อย่างน้อยที่สุดวันละ 7 ล้าน ลบ.ม. ทำให้เครื่องสูบน้ำที่ทำการติดตั้งอยู่รวมกว่า 30 เครื่องทำการสูบน้ำลงสู่แม่น้ำชีตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง เพื่อให้มวลน้ำที่ไหลเข้ามาในพื้นที่เขตเมืองนั้นกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งจากแผนการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการน้ำดังกล่าว นายทองเปลว กองจันทร์  รองอธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันว่าสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ชุมชนเมืองชั้นในหลังพนังกั้นน้ำของคลองส่งน้ำ 3L จะลดระดับลงและกลับเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 14 วัน

ขณะที่ ห้องประชุมสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายคณุสสัน  ศุภวัตรวรคุณ เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ประชุมร่วมระหว่างนักวิชาการและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและประสบปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบนและตอนกลาง เพื่อประเมินสภาพการณ์ภัยพิบัติภูมินิเวศน์ลุ่มหนองหาร,น้ำอูน,น้ำพานและลุ่มแม่น้ำชี เพื่อรับฟังความคิดเห็นและการเสนอแนวทางการแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมและภัยพิบัติต่างๆที่เกิดขึ้นในลุ่มแม่น้ำหลักที่สำคัญของภาคอีสานในมุมของชาวบ้าน โดยมีนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาในภาคอีสาน รวมทั้งผู้แทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบขากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.เลย,กาฬสินธุ์,มหาสารคาม,ขอนแก่น,ร้อยเอ็ด,ยโสธร,อุบลราชธานีและสกลนคร เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นรวมกว่า 50 คน

นายคณุสสัน  กล่าวว่า ภาคอีสานเป็นภูมิภาคที่ประสบปัญหาภัยแล้งและสถานการณ์น้ำท่วมทุกปี ที่ผ่านมารัฐบาลได้กำหนดแผนงานในการแก้ไขปัญหาแต่ยังคงไม่เกิดความยั่งยืน แต่จะเน้นหนักไปในมุมของงานวิชาการ ดังนั้นการประเมินสถานการณ์ล่าสุดวันนี้เป็นการนำนักวิชาการและชาวบ้านที่ได้รับผลผกระทบมาพูดคุยกันมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแผนการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นครอบคลุมทุกจังกวัดของภาคอีสาน โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำท่วมที่กำลังจะเกิดขึ้นผู้แทนชาวบ้านจากหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบได้มาเสนอแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม การป้องกันและเฝ้าระวังในมุมของชาวบ้าน โดยมีนักวิชาการมาวิเคราะห์ภาพรวมของเหตุการณ์ โดยแผนแม่บทที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้จากมุมมองของชาวบ้านที่ถือเป็นแผนงานที่ทุกคนล้วนหวังว่ารัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรับฟังและนำข้อจากแผนดังกล่าวในวิถีของชาวบ้านนำไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานในการแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ จนนำไปสู่ความยั่งยืนของการแก้ไขปัญหาได้ในที่สุด

เขื่อนอุบลรัตน์ลดการระบายน้ำลงเหลือวันละ 30 ล้าน ลบ.ม.