posttoday

‘นครแม่สอด’ ขุมทรัพย์การลงทุน ชุมทางอันดามัน-อินโดจีน

22 เมษายน 2560

พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้งหมดกว่า 10 พื้นที่ ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการ อาจกล่าวได้ว่า พื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก นั้นมีความคืบหน้าและได้รับความสนใจมากที่สุด

โดย...อัศวิน พินิจวงษ์

พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้งหมดกว่า 10 พื้นที่ ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการ อาจกล่าวได้ว่า พื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก นั้นมีความคืบหน้าและได้รับความสนใจมากที่สุด

“นครแม่สอด” ถือเป็นชุมทางตามเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East - West Economic Corridor : EWEC)พื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญเชื่อมทะเลจีนใต้-เวียดนาม-ลาว-ไทย-เมียนมา ต่อเนื่องไปถึงบังกลาเทศ-อินเดีย-ยุโรป เป็นการเชื่อมอันดามัน-อินโดจีน ต่อเนื่องไปถึงยุโรป ชายแดนที่ อ.แม่สอด จ.ตาก จึงเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อรองรับการเติบโตของการค้า การลงทุน ที่กำลังมีเพิ่มมากขึ้น

การลงทุนที่หลั่งไหลเข้ามาในแม่สอด เป็นผลมาจากโครงการ EWEC รวมถึงกรอบความร่วมมือในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำอิรวดี เจ้าพระยา และแม่น้ำโขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy : ACMECS) ซึ่งมี ไทย เมียนมา ลาว เวียดนาม และกัมพูชา และความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขา ทางวิชาการและเศรษฐกิจ หรือ BIMSTEC (ไทย เมียนมา อินเดีย เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ และศรีลังกา) นครแม่สอด จึงเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

โครงการการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 เชื่อมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก (แม่สอด) กับจังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมา และเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี Myawadi Trade Zone รวมทั้งโครงการเมกะโปรเจกต์อีกหลายโครงการ ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ นครแม่สอด จึงได้รับความสนใจจากนักธุรกิจ-การลงทุน ทั้งไทยและต่างชาติ

นอกจากนี้ จากพื้นที่บ้านวังตะเคียนใต้ หมู่ 7 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด ก็จะมีโครงการตัดถนน 4 เลน เชื่อมเข้ากับถนนตาก-แม่สอด และทางหลวงพิเศษหมายเลข 12 และโครงการก่อสร้างของกรมทางหลวงชนบทเชื่อมกับเส้นทางกรมทางหลวงอีกหลากหลายเส้นทาง

ขณะที่ฝั่งเมียนมาก็มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเตรียมรองรับการพัฒนาเช่นเดียวกัน อาทิ การก่อสร้างเส้นทางเลี่ยงเมืองเมียวดีตรงเข้าสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี (Myawadi Trade Zone) ที่อยู่ห่างไปประมาณ 11 กม. และถนนตัดใหม่อย่างดีจากเมียวดีไปจนถึงจังหวัดกอกาเรก รัฐกะเหรี่ยง ล้วนเป็นการเชื่อมโยงเส้นทางเพื่อเศรษฐกิจที่เห็นชัดเจนและเป็นรูปธรรม จึงกลายเป็นที่มาของ “นครแม่สอด” ขุมทรัพย์ AEC ชุมทางอันดามัน-อินโดจีน

ในขณะที่ภาครัฐ-ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่ ได้ร่วมกันผลักดันโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคขนาดใหญ่หลายโครงการ ต่อเนื่องกับโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ประกอบด้วยโครงการถนน 4 เลน ตาก-แม่สอด- ถนนวงแหวน ตอนตะวันออกและตะวันตก ในนครแม่สอด โครงการขยายรันเวย์และอาคารต่างๆ ของท่าอากาศยานแม่สอด เพื่อให้เครื่องบินขนาดใหญ่ลงจอดได้ ล้วนเป็นโครงการที่ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจ-การค้า-การลงทุนและการท่องเที่ยวของ “นครแม่สอด”

ที่น่าจับตามองล่าสุด มีนักธุรกิจและนักลงทุนกว่า 50 ราย สนใจและยื่นข้อเสนอที่จะเข้ามาประมูลพื้นที่รองรับการเติบโตทางอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก

ใช่เพียงแต่การค้าการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเท่านั้น ล่าสุด อูหม่องโฉ่ นายกเทศมนตรีนครเนย์ปิดอว์ เมืองหลวงของเมียนมา พร้อมทั้งคณะก็เดินทางเยือนนครแม่สอด เพื่อดูงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก เชื่อมโยงเส้นทางเศรษฐกิจอย่างครบถ้วนทุกด้าน ทั้งการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ นายกเทศมนตรีนครเนย์ปิดอว์ เปิดเผยว่า สนใจในศักยภาพของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตาก โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครแม่สอดเป็นอย่างมาก และอยากให้มีการเปิดเส้นทางเพื่อการค้า-การท่องเที่ยว นครแม่สอด-กรุงเนย์ปิดอว์ ในรูปแบบท้องถิ่นกับท้องถิ่น เพราะใช้เวลาในการเดินทางระหว่างนครแม่สอด-นครเนย์ปิดอว์เพียง 4-5 ชม.เท่านั้น

ทิศทางการพัฒนาของนครแม่สอดนั้น น่าจับตาอย่างยิ่ง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ณ ขณะนี้แม่สอดถือเป็นประตูหลักและประตูใหญ่สุด ในการเชื่อมกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกด้านระหว่างไทย-เมียนมา ขณะที่การพัฒนาจุดผ่านแดนในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะพื้นที่ห้วยต้นนุ่น อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความหวังที่จะเป็นประตูเชื่อมไปยังนครเนย์ปิดอว์นั้นยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก

เวลานี้ นครแม่สอด จึงเป็นขุมทรัพย์ที่ถูกหมายตามากที่สุด