posttoday

หวั่นน้ำทะเลถึงพระราม2

03 พฤศจิกายน 2559

กทม.เดินหน้าปลูกป่าโกงกางจับมือภาครัฐ เอกชน แก้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะบางขุนเทียน ชี้ถ้าไม่เร่งจัดการอาจลามถึงถนนพระราม 2

กทม.เดินหน้าปลูกป่าโกงกางจับมือภาครัฐ เอกชน แก้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะบางขุนเทียน ชี้ถ้าไม่เร่งจัดการอาจลามถึงถนนพระราม 2

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณทะเล บางขุนเทียนได้กินพื้นที่เข้ามาแล้วประมาณ 900 เมตร หากไม่เร่งแก้ในส่วนนี้อาจเกิดการกัดเซาะไปถึงพื้นที่รอบๆ ถนนพระราม 2 กทม.จึงต้องหาวิธีการปลูกต้นไม้ให้มากที่สุด เพื่อให้ได้พื้นที่ที่ถูกกัดเซาะไปกลับคืนมา ส่วนการสร้างแนวเขื่อนเพื่อป้องกันการกัดเซาะในระยะยาวก็ต้องดำเนินการต่อไป

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า กทม.จะขอความร่วมมือกับเอกชน โดยจะพิจารณาว่าจุดใดต้องปลูกต้นไม้ประเภทใด รวมถึงการดูระบบนิเวศในพื้นที่เพื่อให้สัตว์เข้ามาอาศัยได้
  
ทั้งนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน โดยมีตัวแทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงมหาดไทย มาร่วมประชุม โดยระบุว่า เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาพื้นที่บางขุนเทียนชายทะเล ถูกน้ำทะเลกัดเซาะไปแล้ว กว่า 3,000 ไร่ เฉลี่ยปีละ 4-5 เมตร คิดเป็น 2 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด กทม.จะขอความร่วมมือจากหน่วยงานราชการ และภาคเอกชน ร่วมกันปลูกป่าโกงกางในพื้นที่ทั้งหมด เพื่อคืนพื้นที่ ที่สูญเสียไป

นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบหลัก สำนักการระบายน้ำ รายงานในที่ประชุมว่า การปลูกป่า ดังกล่าว เป็นไปได้ยาก หากไม่มีการสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กทีกรอยน์ ตามแนวชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน ระยะทางรวม 4.7 กิโลเมตร ขณะนี้ได้นำเสนอผลรายงานการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นครั้งที่ 4 แล้ว และจะเสนอผลรายงานดังกล่าวอีกครั้ง ในเดือน ก.พ. 2560 หากผลการพิจารณาผ่านก็จะคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาโครงการ ก่อนจะเริ่มก่อสร้างทีกรอยน์ ใช้เวลา 30 เดือน งบประมาณ 1,500 ล้านบาท