posttoday

ลุ้นระทึก "วิกฤตภัยแล้ง" ขย่มกรุง

28 กุมภาพันธ์ 2559

ภัยแล้งปีนี้ อาจส่งผลกระทบต่อน้ำอุปโภคบริโภคของคนกรุง

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

ข่าววิกฤตการณ์ภัยแล้งรายวันกำลังสร้างความหวาดหวั่นให้คนไทยทั้งประเทศ

โดยเฉพาะคนกรุงเทพมหานครที่แต่ไหนแต่ไรมาดูจะไม่ค่อยสะดุ้งสะเทือนกับการมาถึงของฤดูแล้งสักเท่าไหร่ ไม่เคยสนใจปริมาณน้ำในเขื่อน เนื่องจากมีน้ำกินน้ำใช้อย่างไม่เดือดร้อนขาดแคลน ที่สำคัญกรุงเทพมหานครไม่เคยถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง

ใครจะไปรู้ ปี 2559 อาจเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่คนกรุงอาจได้รับผลกระทบอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

ลุ้นระทึก \"วิกฤตภัยแล้ง\" ขย่มกรุง

แล้งสุดในรอบ 20 ปี

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต เผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้รุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี

"จากการประเมินปริมาณน้ำที่เข้ามาใน 4 เขื่อนหลักอย่างเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ พบว่า ปี 2558 มีน้ำเข้าเขื่อนน้อยที่สุดในรอบ 20 ปี น้อยกว่าปี 2557 ถึง 40 % โดยน้ำในเขื่อนปี 2558 มีอยู่ประมาณ 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มาปีนี้เหลือเพียง 4,000 ล้านลบ.ม. ขณะเดียวกันปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่เดิมก็ไม่ค่อยดีนัก เพราะมีการใช้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 กล่าวโดยสรุปคือ น้่ำต้นทุนเดิมเหลืออยู่น้อย พอปริมาณน้ำเข้าเขื่อนน้อยลง สถานการณ์จึงยิ่งแย่หนัก"

เมื่อน้ำน้อย กลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักสุดหนีไม่พ้นเกษตรกร เนื่องจากปัจจุบันภาคเกษตรใช้น้ำมากถึง 75 % ของปริมาณน้ำทั้งหมด รองลงมาคือ รักษาระบบนิเวศน์ 18 % อุปโภคบริโภค 4 % อุตสาหกรรม 3 % ที่ผ่านมารัฐบาลจึงประกาศขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดปลูกข้าวนาปรัง ให้หันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน เนื่องจากน้ำมีปริมาณไม่เพียงพอ ต้องจัดสรรไปให้ภาคส่วนอื่นด้วย โดยเฉพาะน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคซึ่งสำคัญมากที่สุดเป็นอันดับแรก

ลุ้นระทึก \"วิกฤตภัยแล้ง\" ขย่มกรุง

"เมื่อดูจากโควต้าการจัดสรรน้ำทั้งหมด 3,200 ลบ.ม. ซึ่งตอนนี้ปล่อยไปแล้ว 60 % หรือ 1,904 ลบ.ม. เหลือ 40 % หรือ 1,000 ลบ.ม. โดยจะให้ภาคครัวเรือนสำหรับอุปโภคบริโภคอยู่ที่ 440 ล้านลบ.ม. รักษาระบบนิเวศน์ 544 ล้านลบ.ม. ช่วยพืชไร่พืชสวน 280 ล้านลบ.ม. ภาคอุตสาหกรรม 6 ล้านลบ.ม. นั่นหมายความว่า หากไม่ปล่อยน้ำไปให้เกษตรกรทำนาปรังซึ่งต้องใช้น้ำประมาณ 1,000 ล้านลบ.ม. คนกรุงเทพจะมีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภคแน่นอน

มีข้อแม้คือภาคเกษตรต้องไม่แย่งดึงน้ำไปใช้ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องหามาตรการเยียวยาเกษตรกรเหล่านี้ เช่น จัดจ้างงาน แจกจ่ายแท็งก์น้ำและเสบียงอาหารสัตว์ ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ลดหย่อนค่าใช้จ่ายค่าไฟค่าน้ำ ให้ทางเลือกกับเขาว่าหากไม่ปลูกข้าวแล้วในช่วงแล้งจะทำอะไรแทน เพราะถือว่าพวกเขาเป็นผู้เสียสละ เกษตรกรพวกนี้โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง น้ำท่วมก็ใช้พื้นที่นาเป็นแก้มลิง น้ำแล้งก็ห้ามปลูกนาปรัง เพราะการปลูกข้าวใช้น้ำมาก ขณะที่พวกเราเองก็ต้องกินข้าว

คนเมืองเองก็ต้องช่วยเกษตรกร รัฐต้องรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดน้ำ ไม่ว่าจะในครัวเรือน หรือธุรกิจที่ใช้น้ำเยอะอย่างสนามกอล์ฟ ศูนย์การค้า คาร์แคร์ อาบอบนวด อาจมีการออกมาตรการควบคุมดูแล เช่น จำกัดการใช้น้ำให้น้อยลง เปิดปิดน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคเป็นเวลา"

ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ทิ้งท้ายว่า การบ้านหลักของรัฐบาลที่ต้องทำคือ ให้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่เข้าใจง่ายแก่ประชาชน เพื่อสร้างความตระหนักต่อสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น

"ตัวเลขปริมาณน้ำในเขื่อนเปิดเผยต่อสาธารณชนผ่านทางเว็บไซต์อยู่แล้ว แต่จะแปลงข้อมูลให้เป็นองค์ความรู้ได้อย่างไร ตรงนี้รัฐต้องทำงานเชิงรุก เช่น รัฐบอกว่าน้ำในเขื่อนปีนี้เหลือ 4,000 ล้านลบ.ม. แค่นี้ไม่พอ คนไม่รู้เรื่อง ต้องอธิบายว่าน้ำที่เหลือ 4,000 ล้านลบ.ม. สามารถใช้ได้ถึงเมื่อไหร่ แบ่งปันส่วนให้ใครใช้บ้าง ประชาชนจะได้เข้าใจสถานการณ์ได้อย่างชัดเจน"

ลุ้นระทึก \"วิกฤตภัยแล้ง\" ขย่มกรุง รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต

 คนไทยใช้น้ำเปลืองติดอันดับโลก

ปัจจัยหนึ่งที่ถือเป็นตัวกระตุ้นให้ปัญหาภัยแล้งเข้าขั้นวิกฤตเร็วยิ่งขึ้นคือ พฤติกรรมการใช้น้ำของประชาชน รวมถึงภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ

ข้อมูลจากการประปานครหลวง (กปน.) ระบุว่า คนไทยมีพฤติกรรมใช้น้ำสิ้นเปลืองเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน คิดเป็น 119 ลิตรต่อคนต่อวัน รองจากสิงคโปร์ 165 ลิตรต่อวันต่อคน และฟิลิปปินส์ 164 ลิตรต่อวันต่อคน ขณะเดียวกันจากการสำรวจขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) พบว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ของประเทศที่ใช้น้ำมากที่สุดในโลก รองจากประเทศอินเดีย จีน สหรัฐอเมริกา ปากีสถาน และญี่ปุ่น โดยน้ำส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร เพื่อการส่งออกเฉลี่ย 2,131 ลบ.ม.ต่อคนต่อปี

ธุรกิจใช้น้ำเปลืองมากที่สุุดอย่างสนามกอล์ฟ มีการเปิดเผยว่า ปัจจุบันสนามกอล์ฟทั่วประเทศจำนวน 241 แห่ง ใช้น้ำสูงถึง 360 ลบ.ม.ต่อปี ขณะที่ธุรกิจอาบอบนวดกว่า 200 แห่ง ต้องเตรียมน้ำเพื่อรอบริการแขกไม่ต่ำกว่า 1,000 ลิตรต่อคนต่อชั่วโมง ยังไม่รวมธุรกิจโรงแรมที่มีมากกว่า 5 หมื่นห้อง ธุรกิจสถานบริการล้างรถที่ถูกจับตามองว่าใช้น้ำมากเป็นพิเศษ

พฤติกรรมการใช้น้ำในชีวิตประจำวันของภาคครัวเรือนก็ถือว่าน่าเป็นห่วง ตั้งแต่การแปรงฟันที่ปล่อยให้มีการไหลของน้ำตลอดเวลา เสียน้ำไป 27 ลิตร ล้างหน้า เสียน้ำ 18 ลิตร โกนหนวด 18 ลิตร ล้างจาน 90 ลิตร ซักผ้า 180 ลิตร อาบน้ำ 90 ลิตร ล้างรถ 135 ลิตร รดน้ำสนามหญ้า 5 ลิตร เป็นต้น

ลุ้นระทึก \"วิกฤตภัยแล้ง\" ขย่มกรุง

วิวัฒน์ชัย รัตนะรัต รองผู้ว่าการประปานครหลวง (กปน.) มองว่า  ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ขาดจิตสำนึก และขาดความรับผิดชอบในการใช้น้ำ

"สาเหตุที่คนไทยใช้น้ำเปลือง เพราะมีทัศนคติว่าค่าน้ำประปาราคาถูก และบ้านเรามีน้ำมากมายให้ใช้อย่างไม่จำกัด จึงพากันใช้อย่างไม่ระมัดระวัง อีกอย่างคือ กิจกรรมที่ใช้น้ำล้วนเป็นกิจกรรมที่สร้างความสุข เช่น ล้างรถ รดน้ำต้นไม้ อาบน้ำสุนัข แถมบางคนใช้เทคโนโลยีเกี่ยวกับใช้น้ำที่เพิ่มความสิ้นเปลือง เช่น ติดตั้งสปริงเกอร์ ซื้อเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงมาใช้ ทั้งหมดนี้เลยทำให้น้ำถูกใช้ไปเยอะมากในทุกกิจกรรม

สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้เราจึงมีนโยบายรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด ผ่านกิจกรรมชื่อ 'ช่วยราษฎร์ ช่วยรัฐ ช่วยประหยัดน้ำประปา' ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปีที่แล้ว สามารถทำให้คนกรุงลดการใช้น้ำได้ถึง 9,000 ล้านลิตร โดยมีรางวัลมอบส่วนลดค่าน้ำประปาให้ประชาชนกว่า 4 แสนรายที่ลดการใช้น้ำได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด"

อย่างไรก็ตาม รองผู้ว่ากปน. ยืนยันว่า  การประปานครหลวงยังสามารถผลิตน้ำประปาสำหรับอุปโภคบริโภคทุกพื้นที่ ทุกเวลา ประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอาจไม่ถึงขั้นขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ดังที่หลายฝ่ายกังวล

รับมือวิกฤตขาดแคลนน้ำ

ความคืบหน้าล่าสุด ฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประกาศให้พื้นที่ประสบภัยแล้ง จำนวน 12 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 46 อำเภอ 216 ตำบล 1,893 หมู่บ้าน คิดเป็น 2.53% ของหมู่บ้านทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ พะเยา สุโขทัย นครสวรรค์ นครราชสีมา นครพนม มหาสารคาม บุรีรัมย์ กาญจนบุรี เพชรบุรี และสระแก้ว

ญาณี ไชยภวางค์ ข้าราชการบำนาญวัย 64 อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย บอกว่า ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด และเตรียมกักตุนน้ำสำหรับยามฉุกเฉินแล้ว

"ติดตามข่าวน้ำในเขื่อนมันน้อยมา 2-3 ปีแล้ว ฝนก็ตกล่าช้า คิดว่ามันต้องแย่ขึ้นเรื่อยๆแน่ เพิ่งบอกคนที่บ้านเติมน้ำลงโอ่งใหญ่ขนาด 1,500 ลิตรไว้ 4 ใบ เพราะไม่รู้ว่าวันดีคืนดีเขาจะออกมาตรการปล่อยน้ำเป็นเวลาหรือเปล่า บ้านนี้อยู่กัน 7 คน เกิดอะไรขึ้นมาเดือดร้อนแน่

ลุ้นระทึก \"วิกฤตภัยแล้ง\" ขย่มกรุง

โอภาส แสวงสุข ชาวอ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี บอกว่า สถานการณ์ภัยแล้งน่าเป็นห่วงขึ้นทุกปี ขณะเดียวก็รู้สึกว่าวิกฤตคืบคลานใกล้เข้ามาทุกที

"ภัยแล้ง น้ำในเขื่อนน้อย ฝนตกล่าช้า งดทำนา ประชาชนเตรียมรับมือ ฯลฯ เป็นคำที่เราได้ยินกันบ่อยมากในช่วง 3-4 ปีมานี้ ดูข่าวหลายคนคงเห็นแต่ภาพเกษตรกรในต่างจังหวัดเดือดร้อนแสนสาหัส แต่ผมหวั่นๆว่าอนาคตอันใกล้ คนกรุงเทพและปริมณฑลที่อาศัยอยู่ในเมืองคงต้องเจอผลกระทบเข้าสักวัน ถามว่าเตรียมพร้อมรับมืออย่างไรบ้าง ที่บ้านมีการกักตุนน้ำไว้ในแท็งก์ไว้ตามปกติอยู่แล้ว ถ้าวิกฤตจริงๆคงแค่จำกัดการปล่อยน้ำ เช่น งดปล่อยน้ำช่วงเวลากลางคืนที่คนใช้น้อย และกินเวลาไม่มาก แต่พอคิดถึงช่วงหลังน้ำท่วมปี 54 ที่คนแย่งกันซื้อน้ำดื่มในซูเปอร์มาร์เก็ต ถ้าถึงขั้นนั้นก็น่ากลัวนะ"

สนั่น พึ่งโพธิ์แก้ว ชาวมีนบุรี บอกว่า สิ่งที่ประชาชนคนกรุงเทพควรเริ่มต้นปรับตัวคือ ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด ตื่นตัวแต่ไม่ตื่นตูม ทั้งยังช่วยให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการใช้น้ำอย่างประหยัดด้วย

สถานการณ์ภัยแล้งปี 2559 คนกรุงต้องตื่นตัวให้มากขึ้น หันมาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใช้น้ำเสียใหม่ เลิกฟุ่มเฟือยราวกับว่าเรามีน้ำให้ใช้ไม่มีวันหมด ขณะเดียวกันเตรียมรับมือกับเหตุไม่คาดฝันด้วย เพราะวิกฤตคราวนี้อาจหนักหนาสาหัสกว่าที่คิด