posttoday

เปิดแผนรื้อ 'คลองลาดพร้าว' ชาวบ้านวอนจัดที่อยู่อาศัยรองรับ

28 มกราคม 2559

กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังคงเดินหน้าจัดระเบียบพื้นที่ริมคลองสาธารณะ ตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการปรับปรุงสิ่งปลูกสร้างอันก่อให้เกิดอุปสรรคกีดขวางเส้นทางระบายน้ำของเมืองหลวง

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังคงเดินหน้าจัดระเบียบพื้นที่ริมคลองสาธารณะ ตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการปรับปรุงสิ่งปลูกสร้างอันก่อให้เกิดอุปสรรคกีดขวางเส้นทางระบายน้ำของเมืองหลวง

ตามแผน กทม.จะปรับโฉมคูคลอง 9 สาย ได้แก่ 1.คลองลาดพร้าว 2.คลองเปรมประชากร 3.คลองบางเขน 4.คลองสามวา 5.คลองลาดบัวขาว 6.คลองพระยาราชมนตรี 7.คลองบางซื่อ 8.คลองประเวศบุรีรมย์ 9.คลองพระโขนง

ทว่า คลองลาดพร้าวมีความพร้อมมากที่สุด จึงถูกหยิบยกขึ้นมานำร่อง

จุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าฯ กทม. อธิบายว่า กทม.ได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนมารับผิดชอบในการก่อสร้างเขื่อนเสริมโครงเหล็กและประตูระบายน้ำ เริ่มตั้งแต่คลองลาดพร้าว คลองบางบัว คลองถนน คลองสอง และคลองบางซื่อ ความยาว 22.65 กิโลเมตร โดย จะขยายความกว้างคลอง 25-38 เมตร รวมก่อสร้างเขื่อนสองฝั่งคลองเป็นระยะทาง 45.30 กิโลเมตร ใช้เงินงบประมาณจำนวน 1,645 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จในปี 2561

โครงการนี้มีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) มาเป็นพี่เลี้ยงชาวบ้าน โดยตั้งงบประมาณจำนวน 4,000 ล้านบาท ตั้งเป้าช่วยเหลือ 66 ชุมชน 1.1 หมื่นครัวเรือน หรือคิดเป็นประชากรกว่า 5.8 หมื่นคน

พลากร วงค์กองแก้ว ผู้อำนวยการ พอช. ชี้แจงว่า แผนดำเนินการเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองให้ออกจากการกีดขวางทางน้ำ ระหว่างปี 2559-2561 จะเป็นการสนับสนุนพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ให้ความช่วยเหลือจัดหาที่ดินของรัฐใกล้เคียงชุมชนเดิมรัศมี 5-10 กิโลเมตร และหาจากเอกชนเพิ่มเติม เช่น ที่ดินจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ของกระทรวงการคลัง หรือจัดหาที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติเพื่อรองรับชาวบ้าน

“พอช.ทำหน้าที่สนับสนุนชาวบ้านด้านการขอสินเชื่อเพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีชาวบ้านหลายชุมชนได้จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เป็นทุนในการสร้างบ้านและเป็นหลักทรัพย์ในการยื่นขอสินเชื่อจาก พอช. รวมทั้งได้มีการออกแบบบ้าน ออกแบบผังชุมชน เพื่อเตรียมการก่อสร้างบ้านแล้ว” พลากร ระบุ

จำรัส กลิ่นอุบล ประธานชุมชนริมคลองลาดพร้าว 45 เขตห้วยขวาง กล่าวว่า แม้ชุมชนที่อาศัยอยู่จะไม่ได้ย้ายออกจากพื้นที่ แต่ต้องเข้าสู่กระบวนการบ้านมั่นคง โดยให้มีการปรับปรุงใหม่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างอัตลักษณ์วิถีชุมชนริมน้ำ พร้อมสร้างเศรษฐกิจชุมชนไปในตัว เช่น จัดสร้างตลาดน้ำชุมชน เชื่อมต่อระบบขนส่งทางเรือต่อกับรถไฟฟ้าที่สอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าฯ กทม.

อย่างไรก็ตาม คงเป็นไปไม่ได้ที่ชุมชนริมคลองจะได้รับโอกาสปรับโฉมเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ทั้งหมด ในขณะที่ชุมชนอีกหลายแห่งต้องย้ายออกไปหาที่อยู่อาศัยใหม่ เกิดปัญหาสู้ราคาที่ดินไม่ไหว

ปิยมาศ เรืองกิจ กรรมการชุมชนเลียบคลองสองโซน 3 (ริมคลองพัฒนา) กล่าวว่า ชุมชนนี้มีประมาณ 213 หลังคาเรือน ที่ต้องย้ายออกจากพื้นที่เดิมไปหาที่อยู่อาศัยใหม่ โดยชุมชนออกหาแล้วคาดว่าจะเป็นที่ดินย่านสายไหม 46 เพราะไม่ไกลจากชุมชนเดิม สามารถรองรับได้ 90-110 หลังคาเรือน แต่ติดปัญหาที่ดินปรับราคาสูงตามเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้า

ในขณะที่ชาวบ้านได้กู้เงินจำนวนไม่เกิน 3 แสนบาท/คน หากใครผ่อนชำระไม่ไหวก็ต้องปรับลดขนาดของบ้านให้เล็กลด เช่น เริ่มต้นประเมินขนาดที่ดินไว้ 11 ตารางวา/ครัวเรือน หรือกว้าง 4 เมตร ยาว 11 เมตร ลดเป็นหน้าบ้านกว้าง 3 เมตร และยาว 8 เมตร ก็พออยู่ได้ตามกำลังผ่อนชำระเงินกู้

“ทางชุมชนขอร้องให้รัฐบาลสร้างบ้านใหม่ให้เสร็จก่อนถึงจะย้ายออก เพราะถ้าต้องเสียค่าผ่อนบ้านใหม่ ในขณะที่ต้องจ่ายค่าเช่าบ้านระหว่างกำลังก่อสร้างจะเป็นการเพิ่มภาระให้คนในชุมชน ซึ่งได้ข่าวมาว่ารัฐจะบังคับย้ายในเดือน มี.ค.นี้แล้ว แต่เวลานี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องที่ดินว่าจะได้ซื้อหรือไม่ ทำให้คนเป็นกังวลอย่างมาก เพราะอาจต้องถูกไล่ให้เคว้งคว้าง เรากำลังถูกบีบทุกทาง” ปิยมาศ ระบุ

เช่นเดียวกับ เสาวลักษณ์ หนึ่งในตัวแทนชุมชนเลียบคลองสองสามัคคี หลังซอยแอนเน็กซ์ กล่าวว่า แม้ทางชุมชนยังไม่มีความชัดเจนว่าต้องย้ายออกจากพื้นที่หรือไม่ แต่ทางชุมชนได้ออกสำรวจพื้นที่อยู่ใหม่แถวสายไหม และเพื่อทำให้ถูกต้องตามระเบียบจึงต้องให้ชุมชนเริ่มเก็บออมเงินครอบครัวละ 500 บาทต่อเดือน เพื่อเก็บให้ได้มาพอจะกู้เงินสร้างบ้านจำนวน 3 แสนบาท

“เวลานี้คนในชุมชนเดือดร้อนเรื่องราคาที่ดิน เพราะไม่อยากย้ายไปจากเขตสายไหม แต่ราคาที่ดินที่สำรวจ พบว่าราคาประมาณ 10 ล้านบาท ทำให้คนในชุมชนอาจจะผ่อนชำระไม่ไหว” เสาวลักษณ์ กล่าว

สวัลลักษณ์ กปิตถา ณ อยุธยาประธานชุมชนคลองบางเขน กล่าวว่า เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าชุมชนที่มีอยู่ 203 หลังคาเรือน ต้องย้ายออกจากริมคลอง แต่จะเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงของ พอช. ซึ่งมีการสำรวจหาที่ดินเพื่อใช้จัดสรรเป็นที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ คือ มีนบุรี และหนองจอก ทำให้ชาวบ้านต้องเร่งออมเงินร่วมกันไปซื้อที่ดิน