posttoday

การลุกขึ้นสู้ของ "ชาวบุญเรือง"

11 กันยายน 2558

คนเล็ก-คนน้อย ต่างมีแสงสว่างในตัวเอง

เรื่อง...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน / ภาพ... ชัยวัฒน์ จันธิมา

อนาคตของผืนป่าชุมชนริมแม่น้ำอิง ต.บุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ขนาด 3,021 ไร่ กำลังอยู่บนทางแพร่ง

มีความเป็นไปได้ ที่ผืนป่าซึ่งกระทรวงมหาดไทย (มท.) ประกาศให้เป็นที่ดินเลี้ยงสัตว์สาธารณประโยชน์ตั้งแต่ปี 2515 จะถูกเพิกถอนสถานะ ก่อนจะเปิดช่องให้เอกชนเข้ามาพัฒนาที่ดิน จัดสร้างเป็น “นิคมอุตสาหกรรม” ตามนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ

นี่คือจุดเริ่มต้น คือปฐมบทแห่งการต่อสู้ของชาวบ้านบุญเรือง

ภายหลังทราบว่า บริษัทเมืองเงิน ดีเวลลอปเม้นท์ ในฐานะผู้ร่วมทุนกับการนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) จะเข้ามาเปิดเวทีในพื้นที่ เพื่อชี้แจงแนวทางการพัฒนาที่ดินกว่า 1,700 ไร่ ในวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้นชาวบุญเรืองซึ่งเป็นคนเล็กคนน้อย ต่างประจักษ์แก่หัวใจของตัวเองถึงความผูกพันกับผืนป่าอายุกว่า 200 ปี แห่งนี้

พวกเขาจึงมิอาจเพิกเฉยต่อการปกปักษ์รักษาผืนป่าชุ่มน้ำ สมบัติล้ำค่าของชุมชนบุญเรืองไปได้

ปากต่อปาก ข่าวการจัดเวทีกระจายไปทั่วทั้งชุมชนอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านเริ่มจับกลุ่มกันย่อยๆ อภิปรายและปรับทุกข์ แม้จะเป็นคนเล็กคนน้อยแต่ใช่ว่าต้องยอมจำนนเสมอไป และในเมื่อชาวบุญเรืองมี “ธาตุทรหด” และเคยมีประวัติการต่อสู้ จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่ร่วมกันพิทักษ์สิทธิชุมชนที่พึงมี

เป็นการต่อสู้ ที่เดิมพันด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ! 

เสื้อยืดสีเขียวสกรีนคำว่า “คนรักป่า หมู่ 2 ไม่เอานิคมอุตสาหกรรม” ถูกจัดทำขึ้นโดยลูกหลานชาวบุญเรืองที่เรียนอยู่ในตัวเมืองเชียงราย แม้จะเดินทางมาร่วมเวทีไม่ได้ แต่ก็ขอเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้ร่วมกับพ่อแม่-ผู้เฒ่าผู้แก่ ในชุมชน นั่นทำให้เวทีวันที่ 15 ก.ค.เต็มไปด้วยชาวบ้านในเสื้อยืดสีเขียว ร่วมๆ 400 ชีวิต

ความพยายามโน้มน้าวให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษจากปลัดอาวุโส อ.เชียงของ รวมถึงการหว่านล้อมจากผู้บริหารบริษัทเมืองเงินฯ ซึ่งเป็นอดีต สส.และอดีต สว. ไม่อาจสั่นสะเทือนจุดยืนของชาวบุญเรืองได้

ชาวบ้านหลายรายลุกขึ้นพูด แม้จะมีอาการประหม่าบ้าง แต่คับข้องในหัวใจผลักดันให้ต้องลุกขึ้นพูด

ชาวบุญเรืองต่างแสดงออกถึงการคัดค้านนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สร้างผลกระทบในหลายมิติ ทั้งจากการสร้างนิคมอุตสาหกรรม ปัญหาน้ำไม่พอใช้ ซึ่งอาจกระทบต่อแม่น้ำอิงและแม่น้ำโขง การสร้างนิคมฯ กั้นขวางทางน้ำในพื้นที่รับน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในอนาคต

เหนืออื่นใด คือผืนป่าชุ่มน้ำแห่งนี้ผูกติดเข้ากับวิถีชีวิตและจิตวิญญาณของชาวบุญเรืองมาหลายชั่วอายุคน ชาวบ้านใช้ประโยชน์ พึ่งพิง-พึ่งพา หากิน เก็บหน่อ เก็บเห็ด หาปลา เสมือนหนึ่งอู่ข้าวอู่น้ำ-หม้อข้าวหม้อแกง อันอุดมด้วยความมั่นคง

ที่สุดแล้วถึงเวทีจะไม่มีบทสรุป หากแต่ชาวบุญเรืองชัดแจ้งและได้แสดงเจตนารมณ์โดยพร้อมเพรียงกันว่า “เราไม่เอาโรงงานอุตสาหกรรม”

เวทีสิ้นสุดไปแล้วแต่การต่อสู้พึ่งจะเริ่มต้นขึ้น คล้อยหลังเพียง 1 วัน ชาวบุญเรืองเริ่มหารือกันจริงจังเป็นครั้งแรก

การต่อสู้ของชาวบ้าน-คนเล็กคนน้อย จากนี้ต่อไปจะตั้งต้นที่ “องค์ความรู้” ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า ชาวบุญเรืองตัดสินใจเลือกอนาคตของตัวเอง บนหลักฐาน-รูปธรรมที่จับต้องได้ การรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบจึงเกิดขึ้น

วันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ชาวบ้านจึงรวมตัวกันสำรวจป่าสาธารณะ 3,021 ไร่ 1 งาน 37 ตารางวา ผืนป่าชุ่มน้ำที่ใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำอิง ส่วนใหญ่อยู่ในเขตหมู่ 2 ต.บุญเรือง พบระบบนิเวศสมบูรณ์และหลากหลายด้วยพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และยังมีระบบนิเวศย่อยที่สำคัญคือ หนอง และวัง

ผืนป่าชุมชนแห่งนี้ มีหนองน้ำสำคัญจำนวน 12 หนอง พรรณไม้ที่พบเบื้องต้นมี 72 ชนิด พืชสมุนไพรอีกไม่ต่ำกว่า 27 ชนิด เห็ด 13 ชนิด และสัตว์ป่าอีกไม่ต่ำกว่า 33 ชนิด สำหรับต้นไม้ฉำฉาที่ปลูกเมื่อ 10 ปีก่อน ขณะนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง140.5 เซนติเมตร

สิ้นสุดการสำรวจ เป็นจังหวะเดียวกับที่ บริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาที่ จ.เชียงราย ว่าจ้างให้จัดทำแผนแม่บทเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงราย เตรียมเข้ามาเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น โดยบริษัทปัญญาฯ จะจัดเวทีใน 3 อำเภอ 21 ตำบล ประกอบด้วย อ.เชียงแสน อ.เชียงของ อ.แม่สาย

ในส่วนของ ต.บุญเรือง อ.เชียงของ ถูกกำหนดให้จัดขึ้นในวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา ณ เทศบาลตำบลบุญเรือง ซึ่งเวทีครั้งนี้ชาวบุญเรือง เตรียมความพร้อมมาอย่างดีเยี่ยม

จุดแข็งประการแรกของชาวบุญเรือง คือมีคน “ทุกวัย-ทุกเจนเนอเรชั่น” เข้าร่วมการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ อายุ 60-80 ปี คนวัยกลางคน 40-50 ปี หนุ่มสาวนักศึกษา-วัยทำงาน 20-30 ปี และเด็กๆ เล็กไปจนถึงชั้นระดับประถมศึกษา ก็มีส่วนร่วมกับขบวนในครั้งนี้

ชาวบ้านประเมินว่า เวทีรับฟังความคิดเห็นของบริษัทที่ปรึกษาฯ จะเต็มไปด้วยข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพื่อสนับสนุนนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ จึงตั้งรับด้วยการจัด “นิทรรศการ” ชาวบ้าน ควบคู่กันหน้าห้องรับฟังความคิดเห็น

การเตรียมการแบ่งออกไปตามความถนัดของชาวบ้าน “คนหนุ่มสาว” ทำหน้าที่จัดกระบวนการสื่อสารผ่านทางสังคมออนไลน์ มีการตั้งห้องแชตในไลน์กลุ่ม และกลุ่มในเฟซบุ๊ก ห้องแรกเป็นทีมยุทธศาสตร์และข้อมูล จากนั้นก็จะย่อยให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และนำสารที่ย่อยแล้วมาสื่อสารกับทีมปฏิบัติการ ซึ่งอยู่อีกห้องหนึ่ง

ชาวบ้าน “กลุ่มผู้นำ” มีหน้าที่สังเคราะห์ข้อมูลทางวิชาการ วิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่ รวมถึงผลกระทบที่จะได้รับหากนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้น ก่อนจะจัดแสดงเป็นบอร์ดความรู้ พร้อมทั้งจัดคนยืนคอยให้ข้อมูลประจำทุกบอร์ด ขณะที่ชาวบ้านที่เป็นข้าราชการซึ่งทำงานเกี่ยวข้องกับป่า ได้จัดเตรียมแผนที่ขนาดใหญ่มาฉายภาพผลกระทบ

ชาวบ้านส่วนหนึ่ง เดินเท้าเข้าป่าลึกเพื่อเก็บตัวอย่างพืชผักออกมาจัดแสดงในวันงาน จัดทำป้ายชื่อพรรณไม้ และเตรียมชาวบ้านผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำอธิบาย ทั้งความสำคัญ แหล่งที่ปลูก การใช้ประโยชน์ ชาวบ้านอีกส่วนรับหน้าที่รวบรวมรูปภาพชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งมีวิถีชีวิตเกี่ยวโยงกับป่าออกมาจัดแสดง
 
ขณะที่ชาวบ้านซึ่งเป็นครู มอบหมายให้เด็กนักเรียนวาดภาพสะท้อนความคิดต่อป่าและนิคมอุตสาหกรรม และที่ดูจะสร้างสรรค์มากๆ ก็คือ “ถุงความคิด” ซึ่งเป็นการรวบรวมความคิด-ความรู้สึก ของชาวบ้านที่ไม่สามารถเดินทางมาร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นได้ เนื่องจากมีปล่อยข่าวว่าใครมาร่วมมีโอกาสถูกจับกุม

สำหรับ “ถุงความคิด” เต็มความจุทั้ง 2 ถุง ชาวบ้านเตรียมมอบให้นายอำเภอเชียงของ ในวันงานเวทีรับฟังความคิดเห็นวันที่ 9 ก.ย.กำหนดเวลา 13.30 น. ขณะที่ชาวบ้านเดินทางมาจัดนิทรรศการป่าชุ่มน้ำบุญเรือง ตั้งแต่ 12.30 น. ระหว่างนั้นเริ่มมีชาวบุญเรืองทยอยเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่สวม “เสื้อยืดสีเขียว” แต่ที่ดูแปลกตากว่าครั้งก่อนคือ เสื้อยืดถูกออกแบบละเอียดขึ้นกว่าเดิม มีไม่ต่ำกว่า 3 แบบ

บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก ไม่ต่ำกว่า 500 ชีวิต เดินทางมาร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น ผู้เฒ่าบางคนเขียนความในใจใส่กระดาษถือไว้รอพูด บางคนนั่งกำมือแน่นสีหน้าแดงก่ำในขณะที่รับฟังตัวแทนบริษัทที่ปรึกษาฯ ชี้แจง

ท้ายที่สุด ความคิดเห็นเป็นเอกฉันท์ ชาวบ้านไม่ยินยอมให้ใช้พื้นที่ป่าชุมชน จำนวน 3,021 ไร่ ริมแม่น้ำอิง เป็นพื้นที่สร้างนิคมอุตสาหกรรม ส่วนความคิดเห็นต่อนโยบายดังกล่าว ชาวบ้านจะกลับไปร่วมกันหารือแล้วจะเสนอกลับไป

จักรกริช ธรรมศิริ กรรมการบริหารบริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ บอกว่า นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากชุมชนไม่ให้ความร่วมมือ ดังนั้นเมื่อชาวบ้านบอกว่าไม่ให้ใช้พื้นที่ก็จะไม่ใช้ ก็คงต้องไปหาพื้นที่ใหม่ ส่วนข้อเสนอในเวทีจะถูกนำไปประกอบการจัดทำแผนแม่บทเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงราย ก่อนจะส่งกลับมาให้จังหวัด และชุมชนพิจารณาอีกครั้ง

ขณะที่ ศักดิ์ชาย วงศ์กนิษฐ์ นายอำเภอเชียงของ กล่าวภายหลังรับ “ถุงความคิด” ว่า ชาวบ้าน ต.บุญเรือง ได้แสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่ต้องการให้นิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคนอำเภอเชียงของไม่ต้องการโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยขณะนี้ได้รับหนังสือแสดงข้อกังวลจากชาวบ้านแล้ว ซึ่งจะนำไปประกอบการพิจารณาและทำรายงานเสนอให้ ผวจ.เชียงราย

ก่อนปิดเวที ชาวบ้านในนาม กลุ่มอนุรักษ์ป่าบุญเรือง ได้อ่านแถลงการณ์เรื่องขอเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้พื้นที่ป่าบุญเรืองทำนิคมอุตสาหกรรม โดยสาระสำคัญระบุว่า ชุมชนบุญเรืองมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาไม่ต่ำกว่า 200 ปี บรรพบุรุษได้ตกลงกันว่าจะใช้พื้นที่ป่านร่วมกันเป็นสาธารณสมบัติของชุมชน

ทว่า เมื่อรัฐบาลได้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ อ.เชียงของ และได้เลือกพื้นที่บุญเรืองเป็นพื้นที่พัฒนาในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยจะยกเลิกสภาพพื้นที่สาธารณะประโยชน์แล้วโอนให้เอกชนรายหนึ่งเช่าทำนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งชาวบุญเรืองเห็นว่านิคมฯ จะส่งผลต่อป่าชุมชน วิถีชีวิต วัฒนธรรม และระบบนิเวศลุ่มน้ำอิง

กลุ่มอนุรักษ์ป่าบุญเรือง จึงเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้พื้นที่ป่าบุญเรืองทำนิคมอุตสาหกรรม ขอให้เคารพในสิทธิของประชาชน และขอโอกาสให้ชุมชนบุญเรืองตัดสินอนาคตและกำหนดทิศทางการพัฒนาด้วยตนเอง

กลุ่มอนุรักษ์ป่าบุญเรือง จะต่อสู้ทุกวิถีทางภายใต้สิทธิตามกฎหมาย เพื่อรักษาป่าให้ลูกหลานต่อไปในอนาคต

การลุกขึ้นสู้ของ "ชาวบุญเรือง"

การลุกขึ้นสู้ของ "ชาวบุญเรือง"

การลุกขึ้นสู้ของ "ชาวบุญเรือง"

การลุกขึ้นสู้ของ "ชาวบุญเรือง"

การลุกขึ้นสู้ของ "ชาวบุญเรือง"

การลุกขึ้นสู้ของ "ชาวบุญเรือง"

การลุกขึ้นสู้ของ "ชาวบุญเรือง"

การลุกขึ้นสู้ของ "ชาวบุญเรือง"