posttoday

เปิดใจตำรวจ...ติดหนี้บานศาลสั่งล้มละลาย

07 สิงหาคม 2558

ตำรวจเมืองอุดรธานีต้องถูกผู้บังคับบัญชาสั่งปลดออกจากราชการตามระเบียบ 5 นาย เพราะคดีล้มละลายถึงที่สุด

โดย...ยุทธพงษ์ กำหนดแน่

ตำรวจเมืองอุดรธานีต้องถูกผู้บังคับบัญชาสั่งปลดออกจากราชการตามระเบียบ 5 นาย เพราะคดีล้มละลายถึงที่สุด นี่แค่หนังตัวอย่างเพราะยังมีตำรวจภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกกว่า 600 นายและอีกนับพันนายทั่วประเทศกำลังตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกันเพราะปัญหาติดหนี้สินล้นพ้นตัวจ่อถูกเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย

ด.ต.ธนกฤต  ภักดีผล ผบ.หมู่ ผช.พงส.สภ.เมืองอุดรธานี ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ตำรวจที่มีคำสั่งให้ออกจากราชการ เพื่อรับเบี้ยบำเหน็จบำนาญ หลังจากศาลมีคำสั่งเป็นบุคคลล้มละลาย จากการกู้เงินของธนาคารออมสิน บอกว่า หลังมีคำสั่งให้ออกราชการเมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมาได้เดินทางไปที่บังคับคดีที่ กทม.กับเพื่อนตำรวจอีกคนที่ถูกศาลฟ้องล้มละลาย เพื่อยื่นเรื่องของประนอมหนี้หลังล้มละลาย โดยแสดงเจตนาจะชำระหนี้เต็มคือคนละ 1,200,000 บาท แต่จะเป็นการชำระก่อน 50 เปอร์เซ็นต์ และที่เหลือหักจากเงินบำนาญ 30 เปอร์เซ็นต์ ก็จะเหลือเงินเพื่อใช้จ่าย 70 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 23,000 บาทต่อเดือน หวังว่าจะได้รับกรุณาจากศาล เพิกถอนคำสั่งล้มละลาย คาดกว่าอีกประมาณเดือนเศษน่าจะรู้เรื่อง

“ผมยังต้องต่อสู้เรื่องหน้าที่การงาน วันนี้มาเซ็นต์รับทราบคำสั่งออกราชการ วันจันทร์ที่ 10 ส.ค.นี้ก็จะไปยื่นเรื่องอุทธรณ์คำสั่ง ผู้บังคับบัญชาให้ออกจากราชการ เพราะเราไม่ได้รับความเป็นธรรม รวมไปถึงการเตรียมฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้กลับเข้ามารับราชการอีกครั้ง ระหว่างนี้จะใช้เวลาเรียนกฎหมายต่อ หากไม่ได้กลับมารับราชการ ก็จะไปเป็นทนายความ หรือที่ปรึกษากฎหมาย ” ด.ต.ธนกฤต ระบายความน้อยเนื้อต่ำใจให้ฟัง

ด.ต.ธนกฤต  บอกอีกว่า ก่อนหน้านี้ ผู้บังคับบัญชารับปากว่าจะช่วยเอาเงินจาก สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจภูธร จ.อุดรธานี ไปโป๊ะหนี้ของธนาคารออมสินให้ แล้วจะมาผ่อนชำระสหกรณ์อีกที ก็มีความหวังและมั่นใจว่าผู้บังคับบัญชาจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ได้ จึงไม่ได้ไปหาช่องทางอื่น แต่ถึงที่สุดไม่ได้เป็นอย่างที่รับปาก เหมือนกับถูกโกหก และยังมามีคำสั่งให้ออกจากราชการอีก โดยไม่มีการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ทำให้ต้องเตรียมร้องขอความเป็นธรรม 

 เช่นเดียวกับ ด.ต.วศิน หอมแพน  สังกัด สภ.เมืองอุดรธานี ที่อยู่ในกลุ่มตำรวจล้มละลาย และต้องถูกออกจากราชการ แต่ศาลยังไม่มีคำสั่งให้ล้มละลาย บอกว่า เมื่อ 4-5 ปีก่อนกู้เงินจากธนาคารออมสิน มาใช้หนี้สิน และปรับปรุงบ้านจำนวน 1 ล้านบาท มีเพื่อนตำรวจค้ำประกันกลุ่ม 3 คน โดยกู้รายละ 1 ล้านเช่นกัน ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ผ่อนชำระเดือนละ 9,200 บาท แต่มีเพียงคนเดียวมีปัญหาไม่ผ่อนทำให้ต้องติดร่างแหไปด้วย

“ผมกับเพื่อนตำรวจที่ผ่อนชำระ พยายามติดตามเพื่อนที่มีปัญหา ไปพบเจรจากับธนาคาร แต่ไม่เป็นผลจนธนาคารฟ้องแพ่ง รวมทั้งการฟ้องล้มละลาย เอาหมายศาลไปติดที่บ้าน ลูกเรียนอยู่ ป.5 มาถามเรื่องเขาจะมายึดบ้าน จึงไปปรึกษากับธนาคาร และเดินทางไปบังคับคดีที่ กทม.ได้รับแนะนำให้ไปหาหยิบยืมเงินมาได้ 350,000 บาท เอาไปวางไว้กับธนาคาร เพื่อขอเลิกค้ำเพื่อนตำรวจคนนั้น ขณะนี้รอส่วนกลางตัดสินใจ ขณะที่เพื่อนตำรวจอีกคนที่ผ่อนชำระอยู่ ไม่ได้ไปเดินเรื่องต่อ ทำให้ศาลมีคำสั่งล้มละลาย ”ต.ต.วิศิน กล่าว

พล.ต.ต.ชัยญัติ สายถิ่น ผบก.ภ.จว.อุดรธานี บอกว่า ตำรวจอุดรธานีติดหนี้สินมากที่สุดใน 12 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะนี้ได้มอบหมายให้ พ.ต.อ.สมเกียรติ เกิดจงรักษ์ รอง ผบก.ภ.จว.อุดรธานี เป็นประธานแก้ไขปัญหา ทำให้ปัญหาลดลงไปมาก ทั้งกลุ่มที่เริ่มขาดผ่อนกลุ่มขาดผ่อนมานาน และกลุ่มถูกฟ้อง ซึ่งก็ต้องแก้ไขกันต่อไป เมื่อศาลมีคำสั่งให้ตำรวจเป็นหนี้ล้มละลาย ทำให้ตำรวจนายนั้นขาดคุณสมบัติ จึงต้องมีคำสั่งให้ออกจากราชการ แต่หากตำรวจนายใดไปแก้ไขหนี้สิน จนศาลถอนคำสั่งล้มละลาย หากจะกลับเข้ารับราชการ เป็นอำนาจของสำนักงาน( สนง.)ตำรวจแห่งชาติ

สำหรับเมื่อปี 2550 ธนาคารออมสินให้สินเชื่อ กับข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ ในลักษณะการค้ำประกันกันเอง วงเงิน 1 ล้านบาท โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เบื้องต้นมีข้อตกลงกับ สนง.ตำรวจแห่งชาติ จะให้หักเงินเดือนผ่อนชำระธนาคาร แต่ต่อมากรมบัญชีกลางมีคำสั่งห้าม เงินเดือนตำรวจจึงเข้าบัญชีทั้งหมด เพื่อให้ตำรวจไปชำระเงินกู้เอง แต่บางคนไม่รู้ บางคนขาดวินัยการเงิน ผิดนัดการผ่อนชำระ ดอกเบี้ยเงินกู้จึงเพิ่มจาก 7.9 เปอร์เซ็นต์เป็น 14 เปอร์เซ็นต์ รวมไปถึงไม่ยอมผ่อนชำระจึงถูกเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลายในที่สุด

ภาพ/พล.ต.ต.ชัยญัติ สายถิ่น ผบก.ภ.จว.อุดรธานี