posttoday

ยูทูบ ถล่มท่องเที่ยวไทยสะท้าน ไล่บี้ล้อมคอกผู้ประกอบการ

19 กันยายน 2552

โดย...ทีมข่าวภูมิภาค

โดย...ทีมข่าวภูมิภาค

ไม่ว่าชัวร์หรือมั่วนิ่ม แต่ขณะนี้พิษจากผลสะเทือนของคลิปข่มขู่นักท่องเที่ยวที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ยูทูบ ก็ทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยต้องสะท้านสะเทือนกับผลพวงที่เกิดขึ้นไปตามๆ กัน เพราะจากคลิปวิดีโอกว่า 10 ตอนในซีรีส์ Big Trouble In Tourist Thailand สะท้อนภาพด้านลบแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อหลายแห่งของเมืองไทยทั้งภูเก็ตและเกาะสมุย สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้หลายฝ่ายต้องกลับมาฟื้นฝอยหาข้อเท็จจริง พร้อมไปกับหามาตรการป้องกันล้อมคอกมิให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีก

ในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่เป็นจุดหมายของผู้มาเยือนจากทั่วโลกปีละกว่า 5 ล้านคน เกาะภูเก็ตตั้งมั่นอยู่ในฐานะไข่มุกแห่งอันดามันได้มานานก็ด้วยรายได้จากแหล่งท่องเที่ยว ดังนั้นในฐานะพื้นที่ซึ่งเกิดเรื่องอื้อฉาวไปทั่วโลก จึงต้องคุมเข้มล้อมคอกกันอย่างจริงจังเพื่อมิให้สิ่งที่เกิดขึ้นทำลายรายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งเสมือนหม้อข้าวใบใหญ่

แม้จะห่วงใยกับปัญหาที่ถูกตีแผ่ แต่ วิชัย ไพรสงบ พ่อเมืองภูเก็ต ก็ยอมรับว่าปัญหาการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยวนั้นมีมานานแล้ว

“การเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยวมีหลายกรณี เช่น รถเช่าเรียกราคาสูงเกินจริง นำนักท่องเที่ยวไปทิ้งกลางทาง มอเตอร์ไซค์รับจ้างกระจกเฉี่ยวชนนิดเดียวเรียกกันเป็นหมื่นห้าหรือห้าพัน ขอเตือนทุกฝ่ายว่าอย่าเอาเปรียบเลย เอาเปรียบเขาเท่ากับทำลายตัวเอง ไม่เจริญ ทางจังหวัดจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาร้องเรียนต่างๆ อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ความเป็นธรรมกับนักท่องเที่ยว เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของการท่องเที่ยวภูเก็ต เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อให้ภูเก็ตเป็นเมืองเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง”

ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งการท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้หลักที่หวังจะเป็นส่วนช่วยชดเชยการขาดไปของรายได้จากการส่งออก สมบูรณ์ จิรายุส นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เห็นว่าภาพรวมของการท่องเที่ยวภูเก็ตยังไม่ดีขึ้น แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ แข่งขันกันสูงในการดึงนักท่องเที่ยว ดังนั้นต้องพยายามดูแลนักท่องเที่ยวให้ดีที่สุด ให้การต้อนรับ การบริการที่ประทับใจ การซื้อทัวร์ การช็อปปิ้งต้องไม่เอาเปรียบกัน ถ้ายังมีการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง จะสร้างความเสียหายต่อการท่องเที่ยวในระยะยาวได้
ปัญหาหลักที่ทุกสายตาพุ่งจุดสนใจไปในขณะนี้ก็คือ กลุ่มผู้ให้เช่าเจ็ตสกีชายหาดซึ่งตกเป็นจำเลยผ่านเว็บไซต์ยูทูบไปทั่วโลก

พ.ต.อ.กฤษศักดิ์ สงมูลนาค ผกก.สภ.กะทู้ จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ปัญหาเจ็ตสกีมีมานานแล้ว ที่ผ่านมาคือการสื่อสารไม่เข้าใจกัน เกิดความเข้าใจผิด และการบริการที่ไม่ดี วาจาก้าวร้าว ไปตื๊อนักท่องเที่ยวให้ใช้บริการต่างๆ ที่ชายหาด เมื่อเขาไม่เล่นด้วยก็มีการข่มขู่กันต่างๆ นานา และการกรรโชกทรัพย์ จนกระทั่งเกิดการร้องเรียนกลับเข้ามาให้ทางจังหวัดแก้ปัญหา จึงควรมีมาตรฐานราคาที่ชัดเจนทุกหาด และต้องมีประกันภัย เพื่อลดการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว

“เจ็ตสกีที่หาดป่าตองมีทั้งหมด 12 โซน แต่ละโซนมีหัวหน้าควบคุมกันเอง เมื่อเจ็ตสกีเกิดความเสียหาย มีการเรียกค่าเสียหาย ข้อมูลที่ไปตกลงกันที่สภ.กะทู้ เมื่อปีพ.ศ. 2550 ค่าเสียหายทั้งหมดประมาณ 1 ล้านบาท ในปีพ.ศ. 2551 ค่าเสียหายทั้งหมด 2.5 ล้านบาท ในปีพ.ศ. 2552 ค่าเสียหายจนถึงขณะนี้ประมาณ 1 ล้านบาท”

จากปัญหาที่เกิดขึ้น อนุสรณ์ สาเหร่ รักษาการประธานชมรมเจ็ตสกีจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ที่หาดป่าตองมีการร้องเรียนมากที่สุด เพราะมีเจ็ตสกีมากกว่า 100 ลำ การทำประกันภัยเจ็ตสกีนั้นผู้ประกอบการทุกคนอยากทำประกันภัย แต่ยังหาข้อยุติไม่ได้

นอกจากเจ็ตสกีแล้ว ปัญหาเรื่องแท็กซี่ป้ายดำโก่งราคาก็เป็นอีกหนึ่งปมใหญ่ที่มีเรื่องร้องเรียนกันเข้ามาไม่ขาดสาย

กนก ศิริพานิชกร ผู้อำนวยการสำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ประกาศควบคุมราคากำหนดว่ากิโลเมตรแรกไม่เกิน 25 บาท ส่วนที่เกินกว่านั้นเป็นการตกลงราคาระหว่างผู้โดยสารกับผู้ขับขี่ แต่ในภูเก็ตสภาพบังคับทำได้ยากเพราะเป็นจังหวัดท่องเที่ยว มีการเอารัดเอาเปรียบค่าโดยสารในส่วนนี้เยอะ ได้รับการร้องเรียนมากพอสมควร แท็กซี่มีมิเตอร์กลับไม่ติดมิเตอร์ แท็กซี่ป้ายดำก็ไม่มีกำหนดอัตราค่าโดยสารและการควบคุม ได้เสนอทาง จ.ภูเก็ต ให้แก้ปัญหานี้ เพราะว่าเป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องแก้ไขโดยหลายฝ่ายร่วมกัน

ขณะที่ผู้ประกอบการอย่าง นิพนธ์ ภิรมย์ฤทธิ์ ประธานสหกรณ์บริการรถยนต์บริการธุรกิจภูเก็ต กล่าวว่า ถ้ารวมจำนวนรถแท็กซี่ รถตู้ที่ให้บริการทั้งหมด รวมทั้งรถแท็กซี่ป้ายดำใน จ.ภูเก็ต ประมาณ 2,000 คัน รถตุ๊กตุ๊กอีก 1,000 คัน มีราคาที่กำหนดควบคุมโดยทางราชการ ซึ่งผู้โดยสารสามารถดูอัตราค่าโดยสารได้ทุกจุดที่ให้บริการ ไม่สามารถโก่งราคาค่าโดยสารได้ นอกจากผู้โดยสารจะขึ้นแท็กซี่ป้ายดำที่ไม่มีการกำหนดราคาชัดเจน ขึ้นกับการเลือกใช้บริการของผู้โดยสารและการตกลงราคาก่อนขึ้นรถแท็กซี่หรือรถตู้

“ปัญหาการร้องเรียนเรื่องราคาค่าโดยสารเกิดขึ้นมานานแล้ว แก้ไขยังไม่ได้ ส่วนใหญ่ผู้โดยสารกับคนขับรถแท็กซี่ตกลงกันค่อนข้างยาก เมื่อเก็บเงินค่าบริการที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงแต่แรก เช่น ผู้โดยสารบางรายว่าจ้างไปส่งจากสนามบินจุดหมายปลายทางเป็นโรงแรมที่ป่าตอง แต่ให้รถจอดแวะข้างทางไปเรื่อยเพื่อซื้อของ ถ่ายรูปวิว เมื่อขอขึ้นค่าโดยสารกลับไม่ยอมกัน เป็นต้น” นิพนธ์ กล่าว

อย่างน้อยที่สุดวิกฤตภาพลักษณ์ครั้งนี้ก็ก่อคุณูปการให้ทุกฝ่ายทบทวนมาตรการป้องกันปัญหานักท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ทั้งการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งระดับจังหวัด กระทรวงการต่างประเทศ ททท. และตำรวจ

สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่ว่าเรื่องคลิปเป็นจริงหรือการจัดฉาก แต่เป็นการรักษาความซื่อตรงต่อนักท่องเที่ยว การต้อนรับและบริการที่ประทับใจ ให้เมืองไทยเป็นจุดหมายที่ผู้คนทั่วโลกปรารถนาจะมาเยือน