posttoday

เอกชนตากฝากนายกฯเร่งตั้งเขตศก.แม่สอด-เมียวดี

16 กันยายน 2557

ตาก-ภาคเอกชนตากฝากนายกฯเยือนพม่าเร่งจัดตั้งเขตเศรษฐกิจร่วมแม่สอด-เมียวดี ขยายเวลาเข้า-ออกให้แรงงานทำงานเช้ามาเย็นกลับ

ตาก-ภาคเอกชนตากฝากนายกฯเยือนพม่าเร่งจัดตั้งเขตเศรษฐกิจร่วมแม่สอด-เมียวดี ขยายเวลาเข้า-ออกให้แรงงานทำงานเช้ามาเย็นกลับ

เมื่อวันที่16ก.ย.57 นายชัยวัฒน์ วิทิตธรรมวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เปิดเผยว่า ในการเยือนประเทศพม่าของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีช่วงเดือนตุลาคมนี้ อยากขอให้นายกรัฐมนตรีไทยได้เจรจากับประธานาธิบดีพม่า เร่งจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด-เมียวดี เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เนื่องจากแม่สอด-เมียวดี ถือว่าเป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจบนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจสายตะวันออก-ตะวันตก East-West Economic Corridor: EWEC  ประตูการค้าชายแดนที่สำคัญ ในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC ซึ่ง รัฐบาลไทยควรเร่งจัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจแม่สอด ให้เป็นเมืองเศรษฐกิจคู่แฝดกับเมียวดี ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าการค้าชายแดนด่านแห่งนี้ กว่า 50,000 ล้านบาทแล้ว

“สิ่งที่ภาคเอกชนไทยในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า อ.แม่สอด จ.ตาก ทั้งในส่วนของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก จะฝากให้เจรจากับผู้นำพม่า คือ การขยายเวลาการข้ามแดนทางด่านแม่อด-เมียวดี ให้มากขึ้น จากเดิมไม่เกิน 18.00 น.  เป็นถึงเวลากลางคืนตามความเหมาะสม และยังอยากให้เปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวที่ผู้ประกอบการไทยใช้ในพื้นที่ ให้สามารถเดินทางเข้า-ออก ทำงาน ระหว่างแม่สอด-เมียวดี เป็นแบบเช้ามาเย็นกลับ รองรับการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและ AEC นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีและ รัฐบาลไทยควรคุยกับผู้นำรัฐบาลพม่า ให้ชัดเจนเกียวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งภาคการค้า-พาณิชย์-การลงทุนภาคอุตสาหกรรมภาคเกษตร-ภาคเกษตรอุตสาหกรรม-การท่องเที่ยว และความความร่วมระหว่างประเทศ”ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก กล่าว

นายสมศักดิ์ คะวีรัตน์ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า การเดินทางไปเยือนพม่าของนายกรัฐมนตรีควรเร่งรัดในการเจรจากับพม่า ในด้านนโยบายของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะให้พื้นที่ 3 อำเภอชายแดนของจังหวัดตาก เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีชายแดนติดต่อกับ จ.เมียวดี ของพม่า โดยขณะนี้ สิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการคือ การเจรจากับพม่าให้ชัดเจน เรื่องโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - พม่า แห่งที่ 2 , การจัดพื้นที่รองรับ 5,608 ไร่ และโครงสร้างด้านอื่นๆเชื่อว่าด้วยการคมนาคมที่ดีขึ้น จะเอื้อให้สินค้าไทยมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น และเชื่อว่าหลังประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 100,000 บาท ต่อปี จากเดิม 40,000 - 50,000 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ รัฐบาล ได้มอบหมายให้  นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้เดินทางมาประชุมร่วมกับข้าราชการ ภาคเอกชน จากพื้นที่อ.แม่สอด อ.พบพระ และอ.แม่ระมาด ตามนโยบายรัฐบาลและ คสช. โดยมีนายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ภาครัฐและเอกชน ตาก  เข้าร่วม โดยในที่ประชุมมีการหารือ ถึงการสำรวจพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ขอบเขตพื้นที่และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน ซึ่งในที่ประชุมได้หารือถึงเรื่องการพัฒนาพื้นที่รองรับ เช่น สิทธิประโยชน์ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นที่ฐานในการรองรับ และระเบียบกฎหมายต่างๆ

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะพิจาณาด้านสิทธิประโยชน์ ให้กับภาคอุตสาหกรรมที่ไปลงทุนในพื้นที่ มากกว่าพื้นที่อื่น เพื่อชักจูงให้คนไปลงทุนด้านอุตสาหกรรม ขณะที่ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลุงทุน ( BOI ) ก็จะสนับสนุนการลงทุนด้วย ส่วนการออกเป็นกฎหมายบางอย่างจะช้ามาก เพราะต้องผ่านสภาหลายขั้นตอน ซึ่งในเร็วๆนี้หลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนประเทศพม่า และประเทศในกลุ่มอาเซียนอื่นๆ แล้ว จะเรียกประชุมเรื่องนี้ เพื่อหารือถึงเขตพัฒนาเศรษฐกิจ 5 พื้นที่ ที่อยู่ในโครงการนำร่อง