posttoday

คนงานโรงงานนิคอน 8 พันคนผละงานประท้วงร้องสวัสดิการเพิ่ม

25 มีนาคม 2553

พนักงานโรงงานนิคอนผละงานประท้วง ทำให้ทั้งโรงงานไม่มีพนักงานเข้าทำงานในสายพานการผลิตแล้ว

พนักงานโรงงานนิคอนผละงานประท้วง ทำให้ทั้งโรงงานไม่มีพนักงานเข้าทำงานในสายพานการผลิตแล้ว

คนงานโรงงานนิคอน 8 พันคนผละงานประท้วงร้องสวัสดิการเพิ่ม ม็อบนิคอน

พนักงานทุกสายผลิตกว่า 8 พันคนของโรงงานผลิตของ บริษัท นิคอน (ประเทศไทย) จำกัด ( Nikon ) ตั้งอยู่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นฐานการผลิตกล้อง เลนส์ พร้อมอุปกรณ์กล้อง ของบริษัทนิคอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก   ผละงานประท้วงและไม่เข้าไปทำงานในโรงงานแม้แต่คนเดียว ทำให้บรรยากาศในโรงงานว่างเปล่าเงียบเหงา  คงมีเพียง รปภ.ที่รักษาความปลอดภัยที่ประตูทางเข้าโรงงาน โดยคนงานจำนวนมากรวมตัวหันในเต็นท์หลายหลังที่นำมากางบังร้อนหน้าโรงงาน  เพื่อประท้วงนายจ้างกรณีขอเพิ่มสวัสดิการ 13 ข้อ อย่างไรก็ตามคนงานรวมตัวกันอย่างสันติ ไม่มีการผิดประตูทางเข้าออกแต่อย่างใด

นายธงชัย สิทธิเดช ประธานสภาสหภาพแรงงานนิคอน กล่าวว่า สาเหตุที่คนงานทั้งโรงงานตัดสินใจไม่ทำงานในวันนี้และจะไม่เข้าทำงานตลอดไปจนกว่าข้อเรียกร้องจะเป็นผล นั้นมาจากคำสั่งของนายโนบุยุคิ มุราอิซิ ประธานบริษัท นิคอน (ประเทศไทย) จำกัด  เป็นหนังสือเลขที่ ทบ.116/2553 ลงวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา  เรื่องการปิดงาน อ้างถึงตามที่สหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง และมีการเจาจรไกล่เกลี่ยแล้วไม่สามารถหาข้อยุติได้ 

ทางบริษัทจึงขอใช้สิทธิ์ปิดงานต่อสมาชิกสภาแรงงานที่เป็นผู้แทนเจรจา จำนวน 9 คน คือ นายธงชัย สิทธิเดช , นายสามารถ  สีดอกไม้ , นายธนภัทร พัดเงิน , นายอาจ จ่อนแดง , นายทรรศนัย มาศวรรณา , นายทรงราชย์ ออมสิน , นายภาณุวัฒน์ ทองคุ่ย , นายคมกฤช ปินะอินทร์ และ นางสาวนิรามัย พื้นไธสงค์ โดยให้มีผลแต่วันที่ 24 มีนาคม 53 เป็นต้นไป
 
นายธงชัย กล่าวอีกว่า หนังสือดังกล่าวหมายถึงให้สั่งพักงานแกนนำทั้ง 9 คน ดังนั้นพนักงานทั้ง 8,000 คนเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่เป็นธรรม จึงได้พร้อมใจกันผละงานหรือหยุดงาน โดยอ้างคำสั่งของหนังสือบริษัทสั่งให้แกนนำหยุดทำงาน ซึ่งหมายความว่าเมื่อให้แกนนำหยุดงาน พนักงานทุกคนก็หยุดงานด้วยเช่นกัน  และล่าสุดตนเองยังทราบอีกว่า ทางบริษัทเตรียมที่จะมีการฟ้องร้องทางแพ่ง ต่อแกนนำ 9 คน เป็นเงิน 126 ล้านบาท ฐานยุยงปลุกปั่นให้คนงานลูกขึ้นมาประท้วงจนบริษัทเสียหาย โดยพวกตนเองย้ำว่าจะมีการต้อสู้ต่อไปถึงแม้จะถูกฟ้องร้องหรือมีแกนนำถูกพักงาน

นายธงชัย กล่าวอีกว่า สำหรับการประท้วงผู้บริหารเป็นวันที่ 2 ติดต่อกันมาแล้ว โดยยื่นข้อเรียกร้องด้านสวัสดิการจำนวน 13 ข้อ อาทิเช่น ขอเพิ่มค่าครองชีพจาก 1,000 บาท/คน เป็น 1,300 บาท/คน , ขอเพิ่มค่ากะจาก 50 บาท/คน เป็น 80 บาท/คน หรือในเรื่องความชัดเจนเงินโบนัส เดิมที่ในปีล่าสุดเคยได้ 3.3 เดือน/ราย ทางบริษัทพยายามปรับลดและชัดเจนว่าจะได้น้อยกว่า 3.3 เดือน/ราย   ซึ่งขณะนี้ทางผู้บริหารโรงงานยังไม่แสดงเจตนาที่จะดำเนินการตามข้อเรียกร้องแต่อย่างใด  ทั้งนี้กลุ่มคนงานที่นำโดยสหภาพแรงงานของบริษัท ยืนยันว่าจะประท้วงต่อเนื่องต่อไปจนกว่าจะได้รับสวัสดิการเพิ่มตามข้อเรียกร้อง  

นายธงชัย สิทธิเดช ประธานสภาสหภาพแรงงานนิคอน กล่าวว่า การหยุดงานครั้งนี้ เกิดจากบริษัทนายจ้างเอาเปรียบพนักงาน ใช้สิทธิการเป็นนายจ้าง สั่งให้คณะกรรมการลูกจ้างบริษัทจำนวน 9 คนที่เป็นแกนนำสภาพของบริษัทนิคอน พักหยุดงานโดยไม่มีกำหนดเป็นผลเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา   การสั่งพักงานดังกล่าวเชื่อว่ามาจากที่แกนนำได้เรียกร้องของเพิ่มสวัสดิการมาโดยตลอด ทำให้นายจ้างหาเหตุให้แกนนำหยุดงานชั่วคราว

ทั้งนี้ คนงานทั้งหมดไม่พอใจ เพราะหากใช้อำนาจนายจ้างแบบนี้ ต่อไปแกนนำหรือคนงานอื่น ๆ ที่พยายามเรียกร้องสวัสดิการตามกฎหมาย ก็อาจจะต้องถูกให้หยุดงานเหมือนกับแกนนำสหภาพได้  นอกจากนี้นายจ้างยังใช้สิทธิเอาเปรียบพนักงาน ลดการจ่ายเงินโบนัส  ลดสวัสดิการพนักงาน และเปลี่ยนหลักเกณฑ์การพิจารณาเงินโบนัส มาเป็นการตัดเกรดเพื่อเป็นฐานในการพิจารณา และให้หัวหน้าพนักงานพิจารณาเงินตอบแทนเป็นรายบุคคล ซึ่งไม่ยุติธรรมแก่พนักงาน และการเอาเปรียบอีกหลายข้อตามข้อเรียกร้องทั้ง 13 ข้อทั้งหมดจึงกลายเป็นชนวนการชุมนุมเรียกร้องตามสิทธิ โดยพนักงานทุกคนเกือบ 8,000 คน  เห็นชอบพร้อมใจออกมาชุมนุมประท้วง