posttoday

"อัยการธนกฤต"ชี้หมอปลาบุกวัดหลวงปู่แสงส่อผิดหลายข้อหา

15 พฤษภาคม 2565

"อัยการธนกฤต"ระบุกรณี"หมอปลา"บุกวัดหลวงปู่แสงถ้าพิจารณาในข้อกฎหมายอาจมีความผิดฐานใส่ความคณะสงฆ์ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียมีโทษทางอาญา ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์พ.ศ. 2505

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊ก Thanakrit Vorathanatchakul ให้ความเห็นข้อกฎหมายกรณีหมอปลา โดยระบุว่า กรณีหมอปลาและคณะ ที่ประพฤติไม่เหมาะสมต่อหลวงปู่แสง ญาณวโร และคณะสงฆ์วัดป่าดงสว่างธรรม จังหวัดยโสธร

ผมขอให้ข้อสังเกตทางวิชาการในประเด็นข้อกฎหมายเป็นการส่วนตัว ดังนี้

ถ้าพิจารณาในข้อกฎหมาย อาจมีความผิดฐานใส่ความคณะสงฆ์อันอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 44 ตรี ประกอบมาตรา 5 ทวิ ซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ยอมความไม่ได้ และไม่จำเป็นต้องมีผู้เสียหายร้องทุกข์ เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถหยิบยกคดีขึ้นดำเนินการตามกฎหมายด้วยตนเองได้เลย

โดยการใส่ความคณะสงฆ์ตามมาตรา 44 ตรี นี้ เป็นการทำให้ปรากฏข้อเท็จจริงที่อาจจะเป็นความจริงหรือเป็นความเท็จก็ได้ทั้งนั้น ถ้าทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อคณะสงฆ์ก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายได้

นอกจากนี้ ยังอาจมีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา หรือนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จอีกด้วย

ในประเด็นเรื่องการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จนี้ หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า น่าจะทำให้เกิดความเสียหายกระทบต่อความมั่นคงของประเทศทางด้านศาสนา เนื่องจากศาสนาพุทธเป็นศาสนาหลักของประเทศไทยที่ประชาชนไทยส่วนใหญ่นับถือกัน จึงเป็นการสร้างความเสียหายกระทบต่อความเชื่อมั่นศรัทธาในพระพุทธศาสนาแก่ประชาชนในประเทศและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านศาสนาของประเทศด้วยแล้ว ก็อาจจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2) ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ซึ่งเป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ ซึ่งจะแตกต่างจากความผิดตามมาตรา 14 (1) ที่เป็นความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จทั่ว ๆ ไป ซึ่งสามารถยอมความได้ หากเป็นความผิดที่มิได้กระทำต่อประชาชน แต่กระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

ในเรื่องการใส่ความคณะสงฆ์นี้ เคยมีคดีตัวอย่างเกิดขึ้นที่วัดไทยซึ่งเป็นวัดป่าชื่อดังแห่งหนึ่งในต่างแดน โดยมีผู้หญิงรายหนึ่งที่ไปปฏิบัติธรรมที่วัดแห่งนี้ กล่าวหาว่าพระในวัดเข้ามาในห้องนอนของเธอในเวลากลางคืน และเผยแพร่เรื่องราวนี้ไปในโซเชียลมีเดีย ซึ่งเมื่อทางวัดสอบสวนเรื่องราวแล้วไม่เป็นความจริง ทางวัดจึงได้ฟ้องผู้หญิงคนนี้ต่อศาลอาญาของประเทศไทย ในความผิดตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 44 ตรี ดังกล่าว และความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ

โดยท่านที่สนใจสามารถศึกษาคดีนี้ได้จากเฟซบุ๊กของคุณอากาศ วสิกชาติ https://www.facebook.com/arkart.vasikachart  ที่เป็นทนายความฟ้องคดีนี้ให้กับวัดไทย โดยในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ฝ่ายผู้หญิงได้ยอมรับว่า ไม่ได้เกิดเหตุการณ์ตามที่ตนกล่าวอ้างแต่อย่างใด และยอมรับผิดขอขมาในเรื่องที่เกิดขึ้น ทางวัดจึงถอนฟ้องคดีนี้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องก่อนที่ศาลจะประทับรับฟ้อง