posttoday

ผู้เชี่ยวชาญจีโนมคาดโอมิครอนระบาดจบมี.ค.นี้ แต่โควิดยังกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ

24 กุมภาพันธ์ 2565

หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี คาดโอมิครอนระบาดในไทยสิ้นสุดในเดือนมี.ค.นี้ แต่เชื้อโควิดยังกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ แนวโน้มกลายเป็นโรคที่ควบคุมได้ภายในปีนี้

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 65 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิพย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี กล่าวในรายการโหนกระแส ถึงสถานการณ์โควิด โดยระบุว่า มีคำถามว่า ประเทศไทยจะอยู่กับโอมิครอนไปอีกนานเท่าไหร่ ก็ต้องบอกว่าประมาณ 2 เดือน เพราะจากการเข้าไปดูทุกประเทศ สายพันธุ์โควิดจะอยู่ได้ไม่นาน และเปลี่ยนเป็นสายพันธุ์ใหม่ อย่างโอมิครอน ที่แอฟริกาใต้ หรืออังกฤษ หรือสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้น คงอยู่และดับสูญไปประมาณ 2 เดือน

แต่จะอยู่กับไวรัสโคโรน่า 2019 ไปอีกเท่าไหร่ ก็ต้องบอกว่าอีกนาน เพราะจะกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) บอกว่าโอมิครอนไม่ใช่สายพันธุ์สุดท้ายอย่างแน่นอน

"WHO บอกชัดเจนว่า การระบาดใหญ่ ที่สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลกจะยุติลง ประมาณกลางปีนี้ เปลี่ยนจากโรคอุบัติใหม่ที่รุนแรง เป็นโรคที่ควบคุมได้ แต่ยังไม่ใช่โรคประจำถิ่น ปีนี้จะลดระดับลงจนควบคุมได้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะประจำถิ่นเมื่อไหร่ เพราะไวรัสประจำถิ่นมีอีกปัจจัยคือ ต้องสามารถคาดคะเนได้ว่า จะมาเมื่อไหร่ ไปเมื่อไหร่"หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี กล่าว

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวด้วยว่า ประเมินว่าโควิดจะไม่สูญพันธุ์ เพราะไวรัสเกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ จากประวัติศาสตร์ในอดีตถึงปัจจุบัน เช่นไวรัสไข้หวัดใหญ่ หรือไข้หวัดธรรมดา ไม่เคยมีสายพันธุ์ไหนหายไปเลย มีไวรัสบางประเภทที่หาย เช่นไข้ทรพิษ หรือโปลิโอ แต่ไวรัสที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ ยังไม่มีตัวไหนหายไปจากระบบ เพียงแต่ว่าเมื่อระบาดแล้ว อาการทีแรกรุนแรง มีคนเสียชีวิต และจะค่อยๆ บรรเทาเบาบางลง จนอยู่ร่วมกับไวรัสได้

ขณะนี้โอกาสที่จะเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากการติดเชื้อลดลงโดยอัตราจากต่างประเทศ 0.9 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับเดลต้า เมื่อก่อนมีอัตราถึง 5.4 เปอร์เซ็นต์ โอมิครอน ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยคล้ายไข้หวัด แต่มี 0.9 เปอร์เซ็นต์ที่เสียชีวิต ฉะนั้นจะมีอาการรุนแรงน้อย แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีเลย

หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี กล่าวด้วยว่า ที่ลือกันว่าทุกคนจะติดโอมิครอน ในประเทศไทย ไม่น่าจะใช่ เพราะโอมิครอนจะมาแล้วก็ไปภายใน 2 เดือน ไม่ทันติดคนไทยทั้งประเทศ แต่ถ้าเปลี่ยนคำพูดใหม่ว่าพวกเรา คนทั้งโลก ท้ายที่สุดในช่วงชีวิตของเราจะมีโอกาสติดไวรัสโคโรน่า 2019 ไม่ว่าสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งในปัจจุบันหรืออนาคต ก็จะใกล้เคียงกว่า

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วสันต์ ยังให้ข้อมูลอีกว่า เชื้อโอมิครอนจะทนทานมากเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อม ถ้าติดอยู่ตรงมือ อยู่ได้ 1 วัน ถ้าติดบนพื้นผิวอยู่ได้ 8 วัน แต่ต้องเป็นสถานที่ไม่มีแสงแดด อุณหภมิไม่สูง เช่น ห้องที่มีอากาศเย็น หรือ ห้องน้ำ แต่ถ้าเจอแสงแดดเชื้อตายหมด