posttoday

กทม.แจงยังไม่มีแผนใช้วัคซีนสลับชนิด ยืนยันใช้แอสตร้าฯเช่นเดิม

21 กรกฎาคม 2564

กทม.เร่งฉีดวัคซีนผู้สูงอายุและเริ่มขยายไปสู่ประชาชนบางส่วนในพื้นที่เสี่ยง เผยยังไม่มีแผนการใช้วัคซีนสลับชนิด

ร.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม. รับนโยบายจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ในการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ผู้สูงอายุ โดยจะเร่งดำเนินการให้ได้อีก 50% ภายในสิ้นเดือนนี้

อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุที่มารับวัคซีนเริ่มมีจำนวนน้อยลง จึงมีการออกนโยบายให้ประชาชนทั่วไปบางส่วนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง และยังไม่ได้รับวัคซีน เริ่มฉีดวัคซีนคู่ขนานไปพร้อมกับกลุ่มผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนสามารถลงทะเบียนผ่าน "ไทยร่วมใจ" ได้ หรือหากไม่สะดวก ทาง กทม. มีกลุ่ม CCR ในการลงพื้นที่เพื่อฉีดวัคซีนเชิงรุกแก่ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางได้สะดวก

โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ไทยร่วมใจ ได้รับการจัดสรรวัคซีนทั้งหมดจำนวน 5 แสนโดส และใน กทม.ยังไม่มีแผนการฉีดวัคซีนแบบสลับชนิด โดยยังใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเช่นเดิม ขณะเดียวกัน กทม.ได้รับจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์ม ซึ่งได้นำมาใช้ในกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงบ้างแล้ว

ส่วนวัคซีนโมเดอร์นา ทางกทม.จะยังไม่ได้รับจัดสรร เนื่องจากต้องจัดสรรให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดอื่นๆ ก่อน

อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์แนวโน้มได้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในกทม.จะลดลง เพิ่มขึ้น หรือจะถึงจุดพีคเมื่อไร เพราะต้องขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก คือการกระจายวัคซีน และความเข้มข้นของมาตรการล็อกดาวน์

สำหรับมาตรการดูแลคนไร้บ้านนั้น กทม. ได้ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และอยู่ระหว่างการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กลุ่มคนไร้บ้านกว่า 1,000-2,000 รายในกทม.

ด้านพ.ญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลจำนวนของผู้ป่วยที่ทำ Home Isolation (HI) ส่วนปัญหาขยะติดเชื้อนั้น กทม.ได้ร่วมมือกับสำนักสิ่งแวดล้อม ในการแจกถุงขยะติดเชื้อ โดยหากพบว่าผู้ป่วยมีผลตรวจเป็นบวก จะมีการแจกถุงสีแดงแก่ผู้ป่วยที่ต้องทำ HI เพื่อให้พนักงานเก็บขยะสามารถคัดแยกขยะได้ง่าย และลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ สำหรับการฉีดวัคซีนของกรมอนามัยได้มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 17,000 ราย ให้กับชุมชนต่างๆ

นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การบริหารเตียงในพื้นที่กทม.ว่า อยู่ระหว่างการปรับเตียงผู้ป่วยสีเขียวให้เป็นเตียงสีเหลือง เช่น ในโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ได้มีการปรับเตียงสีเขียวเป็นสีเหลืองเพิ่มขึ้น 140 เตียง

นอกจากนี้ สำนักการแพทย์ยังได้เพิ่มเตียงสีเหลืองอีก 150 เตียง และเตียงสีแดงอีก 40 เตียงในพื้นที่กทม. พร้อมกันนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาศูนย์พักคอยให้เป็นโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดที่มีจำนวนมากขึ้น