posttoday

ไฟเขียวลดค่าเทอม50%ม.เอกชนลดหัวละ5พันมีผลทันทีปีการศึกษา2564

21 กรกฎาคม 2564

รมว.การอุดมศึกษาฯสั่งลดค่าเทอมมหาวิทยาลัยรัฐ 50% ส่วนเอกชนลดหัวละ 5,000 บาทพร้อมขยายเวลาผ่อนชำระหรือผ่อนจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษา ให้เริ่มทันทีปี2564

เมื่อวันที่ 21 ก.ค.2564 นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยหลังประชุมร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการออกมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา บรรเทาผลกระทบด้านค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของผู้ปกครอง นักเรียน และนักศึกษา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ก.ค.2564 นายกรัฐมนตรีได้รับหลักการมาตรการตามที่อว.ได้เสนอ คือ

1. สถาบันอุดมศึกษาภาครัฐ จะลดค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา โดยกำหนดเป็น 3 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 ส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ลดค่าเล่าเรียน/ ค่าธรรมเนียมการศึกษา ร้อยละ 50 ขั้นที่ 2 ส่วนตั้งแต่ 50,001-100,000 บาท ลดร้อยละ 30 ขั้นที่ 3 ส่วนตั้งแต่ 100,001 บาทขึ้นไป ลดร้อยละ 10 โดยรัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณสำหรับส่วนลดนี้ร้อยละ 60 และสถาบันอุดมศึกษาสมทบร้อยละ 40

2.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน รัฐบาลจะสนับสนุนลดค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมการศึกษาคนละ 5,000 บาท และให้ทางสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแต่ละแห่งพิจารณาลดค่าเล่าเรียนเพิ่มเติมและสนับสนุนมาตรการอื่นๆ เช่น ขยายเวลาผ่อนชำระหรือผ่อนจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษา ตั้งกองทุนสนับสนุนการศึกษา จัดหาอุปกรณ์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับนักศึกษายืมเพื่อใช้ในศึกษาออนไลน์ ส่วนลดค่าหอพักนักศึกษา จัดสวัสดิการพิเศษกรณีนักศึกษาป่วยด้วยโรคโควิด-19 เป็นต้น

นายเอนก กล่าวอีกว่า มาตรการนี้จะเริ่มใช้ทันทีในภาคศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2564 โดยจะมีนิสิต นักศึกษาที่ได้รับประโยชน์เป็นจำนวนถึง 1,750,109 คน

ด้าน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงการเรียนของนักเรียน การจัดการเรียนการสอนของครู และค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองท่ามกลางวิกฤติโควิด จึงมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดทำโครงการมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ของนักเรียน ครู และผู้ปกครองในสถานการณ์โควิด ซึ่งมาตรการช่วยเหลือนี้จะครอบคลุมทั้งโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โรงเรียนสังกัด กทม.และโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยจะนำมาตรการการช่วยเหลือเหล่านี้เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบหลักการในวันที่ 27 ก.ค.

ทั้งนี้ มาตการการช่วยเหลือนักเรียน ครู และผู้ปกครองนั้น ซึ่งมีหลักการเบื้องต้น คือ ศธ.จะไม่ทิ้งเด็กคนใดคนหนึ่งไว้ข้างหลังและไปให้ถึงผู้ปกครอง และมาตรการช่วยเหลือสถานศึกษาให้ได้พัฒนาเรื่องสื่อเรียนการสอน โดยมาตรการทั้งหมดจะใช้งบประมาณกลางในการดำเนินการ นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังมีความเป็นห่วงเรื่องการเรียนการสอนออนไลน์ของนักเรียนมัยมศึกษาตอนปลายมากขึ้น โดยอยากให้เปิดช่องทางการเรียนการสอนผ่าน Onair ในรูปแบบการเรียนการสอนของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมให้มากขึ้น เพื่อให้เด็กมีช่องทางการเรียนรู้อย่างหลากหลาย